xs
xsm
sm
md
lg

สยองหนัก! "ปลาดำราหู" น่ากลัวกว่าที่คิด หยุดปล่อยสะเดาะเคราะห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เป็นปลาที่มีกระแสแรงมากๆ ในตอนนี้ สำหรับ "ปลาดำราหู" ที่ดูก็รู้ว่าปลาซัคเกอร์ชัดๆ แต่ถูกเอามาตั้งชื่อให้ดูขลัง ชวนเชื่อว่าช่วยสะเดาะห์เคราะห์ ใครหลงบุญระวังได้บาปกลับมา เพราะปลาชนิดนี้มันคือ "เอเลี่ยนสปีชีส์" ตัวแสบที่ไม่ใช่แค่ดูดตะไคร่ในตู้ปลา แต่มันคือวายร้ายสุดสยอง ทำลายระบบนิเวศ และปลาพื้นเมืองของไทยจนอาจสูญพันธุ์หากถูกเอามาปล่อยมากขึ้น

"ปลาดำราหู" วายร้ายซัคเกอร์

ถูกเอามาตั้งชื่อให้ดูขลัง หากินกับคนทำบุญที่ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย สำหรับ "ปลาดำราหู" ที่ดูก็รู้ว่ามันคือ "ชัคเกอร์" ปลาที่ใครหลายคนนิยมซื้อเพื่อให้มันดูดตะไคร่ในตู้ปลา ด้วยความเป็นปลาเกล็ดแข็ง ครีบข้างตัวและครีบหลังเป็นเงี่ยงแข็งหนาชวนสยอง หลายคนอาจไม่รู้ถึงความน่ากลัวที่มากไปกว่านั้นหากเอามันไปปล่อยลงแหล่งน้ำ ซึ่งนอกจากขยายพันธุ์ไว แย่งอาหารปลาชนิดอื่นแล้ว ยังดูดไข่ปลาท้องถิ่นไทยจนอาจสูญพันธุ์ได้


ล่าสุดทางเพจ Big Trees ในนามกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ ได้ออกมาจุดประเด็นนอกเรื่อง แต่น่าเป็นห่วงในตอนนี้ นั่นก็คือกระแสการปล่อย "ปลาซัคเกอร์" ที่จู่ๆ ก็มีภาพการโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็น "ปลาดำราหู" โดยอ้างว่าเป็นปลาช่วยแก้กรรม และสะเดาะเคราะห์ได้





ทันทีที่ภาพ และข้อความดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ได้สร้างกระแสการตื่นตัวในเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างมาก โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับความน่ากลัวของปลาชนิดนี้ หากซื้อไปปล่อยในแหล่งน้ำ หรือแม่น้ำเพราะหวังสร้างบุญ สะเดาะเคราะห์ อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาให้แก่ระบบนิเวศได้


"ซัคเกอร์" เอเลี่ยนสปีชีส์ตัวแสบ


ขึ้นชื่อว่า "ปลาซัคเกอร์" แน่นอนว่ามันคือหนึ่งใน "เอเลี่ยนสปีชีส์" ตัวแสบ ถ้าถูกปล่อยลงแหล่งน้ำที่ไหนย่อมทำลายปลาท้องถิ่นไทยให้ค่อยๆ ลดลง


หากใครยังจำได้กับข่าวดังบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อหลายปีก่อน เมื่อชาวบ้านหนองใหญ่ใน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พบฝูงปลาซัคเกอร์ (ปลาเทศบาล หรือปลากดเกราะ) ในลำคลองนับหมื่นตัว ขณะที่พันธุ์ปลาอื่นๆ ที่เคยมีอยู่กลับลดจำนวนลงและสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ


เมื่อย้อนกลับไปดูถิ่นกำเนิดของมัน ดร.รัฐชา ชัยชนะ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เคยให้ความรู้ว่า เป็นปลาที่มีการนำเข้ามาจากทวีปอเมริกาใต้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2500 เพื่อใช้กำจัดสาหร่ายและของเสียที่ตกค้างในตู้ปลา แต่เมื่อมันเติบโตจนมีขนาดใหญ่เกินไป ผู้เลี้ยงก็นำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ


ด้วยความเป็นปลาที่เจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์ได้ดี มันจึงกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่น่ากลัวอย่างมาก เพราะมันรุกราน และค่อยๆ คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ศรีลังกา และไต้หวัน รวมทั้งในแม่น้ำโขงด้วย




ทั้งนี้ ยังเคยมีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของปลาชนิดนี้ต่อความหลากหลายของปลาพื้นเมืองในคลองหนองใหญ่ พบว่ามีปลาชนิดนี้เพียงสปีชีส์เดียวที่สามารถอยู่อาศัยได้ในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพเสื่อมโทรมและมีออกซิเจนละลายน้ำต่ำ เพราะสามารถขึ้นมารับออกซิเจนจากอากาศได้โดยตรง

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ มันมีความสามารถในการแก่งแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะกับปลาที่มีขนาดเล็กกว่า จนมีผลทำให้ประชากรปลาชนิดอื่นลดจำนวนลงและสูญหายไปในที่สุด อีกทั้งพฤติกรรมการกินของมันที่ดูดกินอาหารจากพื้นใต้น้ำ รวมทั้งไข่ปลาและลูกปลาชนิดอื่น ขณะที่ตัวมันเองมีเกล็ดแข็ง ครีบด้านข้างตัวและครีบหลังเป็นเงี่ยงแข็งหนา จึงทำให้มีศัตรูธรรมชาติค่อนข้างน้อย ซึ่งหากปล่อยมันเพิ่มจำนวนต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อปลาพื้นเมืองในบริเวณนั้น โดยเฉพาะปลาดุกอุย และปลาดุกด้านที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์


หยุดปล่อย หยุดสร้างกรรม!


ดังนั้น การปล่อยปลาซัคเกอร์ลงแหล่งน้ำธรรมชาติเหมือนเป็นการปล่อยเคราะห์ร้ายให้ลอยกับน้ำ อย่างที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องทะเลไทย และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ด้วยความเป็นห่วงถึงเรื่องนี้

โดยระบุไว้ตอนหนึ่งว่า 
ปลาซัคเกอร์เพาะง่าย เลี้ยงง่าย แถมทน จึงมีการนำมาขายเป็น "ปลาราหู" เพื่อให้คนที่ไม่รู้ปล่อยลงแหล่งน้ำ สร้างบุญ สร้างกุศล แต่แทนที่จะได้บุญ กลับยิ่งไปสร้างเคราะห์กรรมต่อสัตว์ และชาวบ้าน เห็นได้จากบ่อปลาที่ชาวบ้านทำไว้เพื่อจับปลาตามธรรมชาติ กลับมีแต่ปลาซัคเกอร์มากมายที่นำไปใช้ประโยชน์แทบไม่ได้ รวมไปถึงการลดลงของปลาเศรษฐกิจน้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติด้วย



"น่าเสียดายที่เราปล่อยลงไป ทำให้เกิดเคราะห์มากกว่า เคราะห์กรรมต่อปลาไทยที่ต้องตายอีกมหาศาล เคราะห์กรรมต่อชาวบ้านที่หวังขุดบ่อหรืออ่างเก็บน้ำจับปลาที่กินได้ขายได้ ถึงตอนนี้ เราไม่มีทางแก้ปัญหาได้เด็ดขาด แม้กรมประมงเคยมีมาตรการมาหลายปี แต่ยังไม่สามารถออกกฎหมายห้ามเลี้ยงห้ามจำหน่ายได้ ทำได้เพียงห้ามนำเข้าปลาซัคเกอร์ ซึ่งก็ไม่เป็นผลเนื่องจากมีการเพาะเลี้ยงในเมืองไทยได้แล้ว

การแก้ไขจริงจังจึง อาจต้องเริ่มต้นที่กฎหมาย แม้อาจไม่สัมฤทธิผล แต่อย่างน้อยก็เป็นการก้าวไปข้างหน้าบ้าง หลังจากเราวนเวียนกับมาตรการที่ไม่ค่อยได้ผลมานาน ปัญหาคือปลาซัคเกอร์เป็นสัตว์คุ้มครองไม่ได้ จะห้ามเลี้ยงห้ามขายก็ลำบาก ต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายประมง หรือหาทางอื่นๆ ที่ควรทำ เพราะติดค้างมานานมาก

ในปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้ ยังมีเอเลี่ยนสปีชีส์ที่อาจส่งผลกระทบอีกมากมาย การเดินหน้าอย่างจริงจังในเรื่องนี้ แม้อาจจัดการปัญหาปลาซัคเกอร์ไม่ได้เบ็ดเสร็จ แต่ก็เป็นแนวทางจัดการกับเอเลี่ยนอื่นได้" เป็นข้อเสนอแนะของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องทะเลไทยที่น่าลองเอาไปพิจารณากันดู

สำหรับคำว่า "เอเลี่ยนสปีชีส์" ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยอธิบายผ่านทีมข่าววิทยาศาสตร์ผู้จัดการออนไลน์ว่า เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่สามารถตั้งถิ่นฐานและยึดครองจนเป็นชนิดพันธุ์เด่นในพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเดิมจนอาจทำให้สูญพันธุ์ไป ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัยของประชาชนด้วยหากไม่มีการควบคุมและจัดการที่เหมาะสม




"ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นสามารถเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ได้ 3 ทางหลัก ได้แก่ การแพร่กระจายเข้าไปโดยความสามารถของชนิดพันธุ์เองเมื่อมีโอกาส, การชักนำเข้าไปโดยบังเอิญจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และการนำพาโดยผู้คน ทั้งที่จงใจและมิได้จงใจ เช่น เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ศึกษาวิจัย นำมาเป็นสัตว์เลี้ยงหรือเพื่อความสวยงาม หรือติดมากับยานพาหนะ การขนขนส่งสินค้า และน้ำอับเฉาของเรือ" ศ.ดร.สมศักดิ์ ให้ข้อมูล

ปัจจุบัน เอเลี่ยนสปีชีส์ มีทั้งก่อปัญหา และไม่ก่อปัญหา บางชนิดบุกยึดพื้นที่ คุกคามระบบนิเวศในท้องถิ่นไปแล้วหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เช่น ผักตบชวา เอเลี่ยนสปีชีส์ระดับตำนานของประเทศไทย, เฟิร์นลอยน้ำอย่าง "จอกหูหนูยักษ์" ที่ส่งผลกระทบทั้งพันธุ์พืชน้ำท้องถิ่น (ผักตับเต่า ต้อยติ่งสาย) รวมไปถึงการท่องเที่ยว และที่กำลังน่าเป็นห่วงอยู่ตอนนี้ก็คือ "ปลาซัคเกอร์" เอเลี่ยนสปีชีส์ตัวแสบ

ขอบคุณภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก Big Trees, ภาพอินโฟกราฟิกจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณลาดกระบัง และปลากดเกราะหรือปลาซัคเกอร์จำนวนมากที่ถูกจับได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยจาก ดร.รัฐชา ชัยชนะ




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น