เรื่องและภาพ : พรรณิดา แก้วปทุมทิพย์ โครงการผักปักษ์ใต้ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร
------------------------------------------------------------------------------------------
19 เมษายน 2559 ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาว กทม.ในเขตจตุจักร และเขตบางซื่อที่ “รักต้นไม้”
นับจากที่ได้เขียนเรื่องการตัดต้นไม้แบบ “สังหารโหด” ของ กทม.ในละแวกบ้าน คือ ที่ถนนเทศบาลสงเคราะห์ลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 ก็ทำให้ได้ทราบว่า มีชาว กทม.ในเขตต่างๆ รู้สึกเหมือนเรา จากการแชร์ต่อๆ กันไปถึงวันนี้ 2,000++ แชร์และคอมเมนต์ที่แสดงความอึดอัดคับข้องใจเรื่องการตัดต้นไม้ของ กทม.กันมามากมายล้นหลาม
เมื่อเรื่องทราบถึงเขตจตุจักร “ส.ส.อรรถวิชช์” และ “ส.ก.กานต์” ก็ได้ติดต่อเข้ามาที่เราว่า จะมาช่วยพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันให้ โดยนัดกันในเวลา 11 นาฬิกา ริมถนนเทศบาลสงเคราะห์ ในวันที่ 19 เมษายน 2559
ทางเราก็ได้ติดต่อกับกลุ่ม “Big Tree” และ “รุกขกร” เพื่อเชิญให้มาร่วมพุดคุยด้วย ซึ่ง ณ ขณะนี้ต้องถือว่ากลุ่มนี้มีข้อมูลเรื่อง “การตัดต้นไม้ให้ถูกต้อง” ค่อนข้างมาก เพราะลำพังตัวเราคงมีความรู้ไม่พอ
นัดกับกลุ่ม Big Tree ตอน 10 โมงเช้า เพื่อพบปะกันก่อน ร่วมกับประชาชนที่รักต้นไม้จำนวนหนึ่ง
พอถึงเวลานัดหมาย การประชุมก็เริ่มขึ้น โดยมีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ ดังนี้
1.ฝ่ายประชาชน : ผู้เข้าร่วมประชุมฝั่งประชาชนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ก.ประชาชนที่รักต้นไม้ และต้องการให้มีการตัดแต่งต้นไม้ให้ถูกต้องตามหลักการ ข.ประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากต้นไม้ เช่น กิ่งหัก งูเลื้อยเข้าบ้าน ฯลฯ (กลุ่มนี้คือ กลุ่มที่ไปร้องเรียนให้เขตมาตัดต้นไม้ นอกเหนือจากการตัดตามปรกติของเขตเอง)
2.กลุ่ม Big Tree จะเป็นฝ่ายให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดต้นไม้
3.ฝ่ายที่รับผิดชอบการตัดต้นไม้ของเขตจตุจักร
4.ส.ส.อรรถวิชช์ ในฐานะผู้ที่จะสามารถช่วยนำเรื่องนี้ไปเสนอในระดับบริหารของ กทม.
หลังจากมีการผลัดกันให้ความเห็นจากทุกฝ่าย สรุปผลการหารือได้ดังนี้ :
- เขตจตุจักรอธิบายว่า การตัดต้นไม้เป็นความรับผิดชอบร่วมระหว่างเขต และการไฟฟ้าฯ ในส่วนของเขต เบื้องต้น ยอมรับว่าปีนี้ตัดเกินกว่าเหตุ แต่เขตก็มีความหนักใจภายในว่า พนักงานที่ตัดเองก็มีความรู้ความชำนาญในการตัดไม่เพียงพอ เมื่อมีผู้มาร้องเรียนให้ตัดก็ตัด (อันนี้น่าคิด...คือมีแต่ประชาชนกลุ่มที่ร้องเรียนให้ตัด แต่พวกเราคงเป็นกลุ่มแรกที่ร้องเรียนให้หยุดตัด!!)
ในส่วนของการตัดต้นไม้ของการไฟฟ้าฯ เขตไม่สามารถจะควบคุมได้ แม้จะมีข้อตกลงร่วมกันอยู่ (เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นข้อตกลงเรื่องรูปแบบการตัด-แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลในรายละเอียด)
- Big Tree ให้ข้อมูลว่า ที่จริงได้มีการจัดอบรมให้พนักงานของ กทม.ไปแล้ว ถึง 4,700 คน (อ้างอิงจากข้อมูลของ อ.ธราดล ทันด่วน) แต่หลังจากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันพักหนึ่ง ก็สรุปได้ว่าเป็นการอบรมให้พนักงานระดับปฏิบัติการเท่านั้น และอาจจะมีภาคปฏิบัติน้อยไปสักนิด พนักงานจึงอาจจะยังมีความรู้ ความเข้าใจไม่เพียงพอ
และอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ฝ่ายบริหารของเขต ซึ่งคือ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องมากที่สุด ยังมิเคยได้รับการอบรมในเรื่องนี้ ซึ่งหากท่านเหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจคงจะควบคุมดูแลการตัดต้นไม้ของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ดีกว่านี้
(แต่ความเห็นส่วนตัวคือ ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องของจิตสำนึก และความใส่ใจล้วนๆ หากมีสิ่งเหล่านี้ การอบรมทางวิชาการก็ไม่จำเป็นนัก)
- ส.ส.อรรถวิชช์ ได้ให้ความเห็น และสรุปเรื่องว่า นับแต่นี้เป็นต้นไปการตัดต้นไม้ขอให้เป็นการรับรู้ และเห็นชอบ ตลอดจนร่วมมือกันจากทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายประชาชน และฝ่ายตัดต้นไม้ของเขต โดยมีกลุ่ม Big Tree และรุกขกร เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ ส่วน ส.ส.อรรถวิชช์ จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมฝ่ายบริหารของ กทม.ในวาระถัดไป
- ส.ส.อรรถวิชช์ สรุปปิดประเด็นว่า สิ่งที่ต้องทำในขั้นต่อไปจากนี้คือ :
1.ทางเขตจตุจักร มีผังการแบ่งเขตหมู่บ้านต่างๆ แบ่งเป็นโซนอยู่แล้ว ขอให้มีตัวแทนประชาชนจากโซนต่างๆ มาช่วยดูเวลาจะมีการตัดต้นไม้ครั้งต่อไป
โดยจะเริ่มปฏิบัติการครั้งแรกบนถนนเทศบาลรังสรรค์ โดยจะนัดกันทุกฝ่ายมาในเช้าวันที่ 26 เมษายน 2559 เวลา 09.00 น. เพื่อทำเครื่องหมายให้ต้นไม้ (ที่ยังเหลืออยู่) ในการตัดแต่งให้ถูกต้องต่อไป เรียนเชิญทุกท่านที่สนใจตามมาสังเกตการณ์ได้ค่ะ
2.ขอให้ Big Tree ช่วยส่งรุกขกร มาด้วยทุกครั้ง เพื่อแนะนำการตัดต้นไม้ที่ถูกต้องในขณะตัดจริง
3.ขอให้ทางประชาชนช่วยร่างหนังสือร้องเรียน เพื่อ ส.ส.อรรถวิชช์ จะนำไปประกอบการเข้าที่ประชุมผู้บริหาร กทม. และทำเป็นหนังสือเวียนแจ้ง ผอ.เขตทุกเขตให้เป็นนโยบายเพื่อทราบ และปฏิบัติต่อไป
ที่ชอบใจกันมากคือ ส.ส.อรรถวิชช์ ได้กล่าวว่า หากการดำเนินการครั้งนี้สำเร็จ เหตุการณ์ครั้งนี้จะถือได้ว่าเป็น “จตุจักรโมเดล” คือจะเป็นครั้งแรกที่ประชาชน เขต และองค์กรกลางเรื่องต้นไม้จะมาร่วมมือกันแก้ปัญหา และหาทางออกร่วมกัน
กล่าวโดยสรุปคือ การหันหน้าเข้าพุดคุยกันในวันนี้ ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ ถือว่าเป็นจุดเริ่มของสังคมสร้างสรรค์ และเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องจับตามองกันต่อไป กทม.เป็นบ้านของพวกเราทุกคนค่ะ
--------------------------------------------------------------------------------
อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
- ท้าพิสูจน์ “วิธีการตัดแต่งต้นไม้” ริมทางที่ถูกต้องแบบไม่ใช่ “ตัดโขลน”?!/ พรรณิดา แก้วปทุมทิพย์