xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! 8 กระทรวงของบทำถนนผสมยาง 6 หมื่น ล.-กษ.ชง ครม.หลังกฤษฎีกา ไฟเขียวงบ 4.5 พันล้านซื้อยาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตะลึง! 8 กระทรวงของบกลาง สร้างถนนผสมยางอย่างเดียว 6 หมื่นล้านบาท “บิ๊กนมชง” ตีกลับโวยมากไป เผย 19 ม.ค. ชง ครม. ใช้เงิน 4.5 พันล้าน ซื้อยางพาราแผ่นดิบชั้นสาม 45 บาท/กิโลกรัม 1 แสนตัน ในช่วงเดือน ม.ค.- มี.ค. 59 หลัง “กฤษฎีกา” แจ้งทำได้ ด้าน “ชายหมู” เตรียม 20 ล้านสร้างทางจักรยาน 3.6 กิโลเมตร ใน กทม. ส่วน “เพื่อไทย” ขย่ม รัฐบาล หวั่นพ่อค้าคนกลางกดราคา เหตุยังไม่มีกลไกจ่ายเงินตรงถึงมือชาวสวนยาง

วันนี้ (17 ม.ค.) มีรายงานว่า ในวันที่ 19 ม.ค. นี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เตรียม เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรายละเอียดการใช้งบประมาณของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จำนวน 4,500 ล้านบาท ภายหลังที่ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือของกระทรวงเกษตรฯ ว่า สามารถที่จะใช้เงินกองทุน กยท. สำหรับเข้าซื้อยางพาราตามโครงการของรัฐบาลได้ตามนโยบายที่จะเข้าซื้อยาง 1 แสนตัน ในช่วงเดือน ม.ค.- มี.ค. 2559 โดยกำหนดราคารับซื้อยางแผ่นดิบชั้นสามไว้ที่ 45 บาท/กิโลกรัม

ทั้งนี้ งบประมาณที่จะเอามารับซื้อยางพาราในครั้งนี้ จะใช้ดึงงบประมาณจากการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา (เซส) ของ กยท. ที่สะสมอยู่ทั้งหมด 31,000 ล้านบาท มาใช้การรับซื้อยางจำนวน 4,500 ล้านบาทก่อน ซึ่งตามข้อกฎหมายรัฐบาลสามารถนำเงินเซสมาใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากตาม พ.ร.บ. การยางกำหนด ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลสามารถดึงเงินส่วนนี้มาใช้ในกิจกรรมช่วยเหลือด้านยางพาราได้ แต่รัฐบาลจะจำเป็นจะต้องตั้งงบประมาณมาจ่ายคืนให้ภายหลัง

มีรายงานว่า ตาม พ.ร.บ. การยาง ได้กำหนดให้เงินเซสของ กยท. เพื่อจัดสรรในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. งบประมาณจำนวน 10% ใช้ในการบริหารจัดการ 2. งบประมาณ 40% ใช้ในการส่งเสริมสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกทดแทน 3. งบประมาณ 35% เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และรักษาเสถียรภาพราคายาง 4. งบประมาณ 5% ใช้ในการส่งเสริมสนับสนุน การเงิน วิชาการ วิจัย ทดลอง 5. งบประมาณ 7% ใช้จ่ายในสวัสดิการเกษตรกรและชาวสวน 6. งบประมาณ 3% เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสถานบันเกษตรกร

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวยอมรับว่า ก่อนหน้ามี ความกังวลว่าจะใช้เงินก้อนนี้ได้หรือไม่เพราะกองทุนให้นำเงินไปใช้ได้ใน 6 กิจกรรมเท่านั้น ซึ่งผลที่ตีความคือสามารถใช้ได้ตามมาตรา 49 (1) ที่กำหนดให้นำเงินไม่เกิน 10% มาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกิจการของ กยท.

มีรายงานว่า สำหรับการประชุมเรื่องแผนการใช้ยางพาราในประเทศของ 8 กระทรวง ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ม.ค. ตามที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายก่อนหน้านั้น ที่ประชุม ได้รับทราบข้อมูลแสดงความต้องการใช้เบื้องต้นจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) แล้วแต่ยังไม่สรุปทั้งหมด อย่างไรก็ตาม พล.อ.ฉัตรชัย ประธานในที่ประชุม ได้แสดงความกังวลว่า โครงการทั้งหมดใช้งบกลางมากเกินไป เช่น การก่อสร้างถนนผสมยางพาราของหลายกระทรวง มีการใช้งบกลาง รวมมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท จึงขอให้ทุกหน่วยงานกลับไปทบทวนและพยายามใช้งบประมาณปี 2559 แทน เพราะหากปล่อยไปเกรงว่า จะทำให้เกิดความไม่โปร่งใสแน่นอน คาดว่า หลังวันที่ 19 ม.ค. จะได้รายละเอียดเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าซื้อยางตามกำหนดวันที่ 25 ม.ค. นี้

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (17 ม.ค.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ ลงพื้นที่สำรวจการใช้ยางพาราเพื่อปรับผิวถนนภายในสวนวชิรเบญจทัศ หรือ สวนรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสถานที่ส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติ

เบื้องต้น กทม. มีแผนจะก่อสร้างทางจักรยานใหม่ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร ใช้ยางพารา จำนวน 37 ตัน งบประมาณกว่า 20,880,000 บาท ระยะเวลา 180 วัน โดยแบ่งออกเป็นงานเคลือบผิวถนน ซึ่งจะใช้ยางพาราผสม 5 เปอร์เซ็นต์ ระยะทาง 2.056 กิโลเมตร และการปรับปรุงสะพาน การสร้างสะพานริมเขื่อน รวมถึงการปรับปรุงสนามฟุตซอล สนามเด็กเล่นภายในที่จะใช้ยาง 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเส้นทางเดิมจะปรับปรุงพื้นผิวถนน เพื่อใช้เป็นเส้นทางวิ่ง

“เมื่อซื้อยางพารา 2,000 ตัน กทม. จะนำไปปรับปรุงพื้นที่ลานกีฬา สนามบาสเกตบอล สนามเด็กเล่น ลู่วิ่ง ประมาณ 200 ลาน และในโรงเรียนสังกัด กทม. กว่า 438 ลาน เรามีแผนที่จะทำเส้นทางจักรยานในพื้นที่ชั้นใน เพิ่มอีก 2 เส้นทาง ยางพารายังจะสามารถนำไปปรับปรุงถนนผิวถนน ซอยต่าง ๆ รวมถึงผลิตอุปกรณ์ด้วย” ผู้ว่าฯ กทม. ระบุ

วันเดียวกัน นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความลงสังคมออนไลน์ ว่า ตนทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหายางพารา เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ว่า ดูเหมือนจะช่วยชาวสวนยางทั้งประเทศ แต่ความเป็นจริงคือ การช่วยชาวสวนยางภาคใต้ เพราะยางในภาคอื่นอยู่ในช่วงการปิดกรีด และชาวสวนยางภาคใต้รายย่อย ก็ยังไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพารา มีมติให้รับซื้อยางแผ่นไม่รมควันชั้น 3 หรือยางแผ่นดิบ ในราคากิโลกรัมละ 45 บาท เบื้องต้น จำนวน 100,000 ตัน ชาวสวนยางที่แท้จริงผลิต และขายน้ำยางกับขี้ยาง หรือยางก้อน เป็นรายวัน ผู้ผลิตยางแผ่นจึงมีเฉพาะนายทุน หรือผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ที่สำคัญ ขณะนี้ยางอยู่ในมือพ่อค้าหมดแล้ว

ถึงแม้รัฐบาลอาจจะมีข้ออ้างว่าการรับซื้อยางแผ่นดิบ เพื่อต้องการให้น้ำยางราคาขึ้นก็ตาม แต่เป็นมาตรการที่เลื่อนลอย เพราะมิได้กำหนดราคานำตลาดสำหรับน้ำยางที่ชาวสวนยางควรขายได้ รวมทั้งมิได้มีมาตรการใดมาบังคับให้พ่อค้าต้องรับซื้อน้ำยางจากชาวสวนยางในราคานำตลาดที่รัฐบาลกำหนด รัฐบาลยังไม่มีกลไกไปรับซื้อถึงมือชาวสวนยางที่กรีดยางรายวัน และไม่มีที่เก็บสต๊อก รวมถึงไม่มีกลไกที่จะจ่ายเงินตรงถึงมือชาวสวนยาง ท้ายสุดชาวสวนยางก็ต้องยอมขายน้ำยางให้กับพ่อค้าและถูกกดราคาเหมือนเดิม เพราะน้ำยางไม่สามารถเก็บไว้นานได้ เปิดโอกาสให้พ่อค้า หรือนายทุนเป็นผู้เก็บสต๊อกยางราคาถูกไว้เรียกร้องเอาจากรัฐบาลในรอบต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น