xs
xsm
sm
md
lg

"เทือก"เบรกม็อบบิ๊กตู่สั่งอคส.ซื้อยางครม.เคาะราคาวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ประยุทธ์" สั่ง อคส.รับซื้อยางพาราทั้งหมดจนกว่าจะดีขึ้น ให้ที่ประชุม ครม.เคาะราคาซื้อวันนี้ พร้อมตั้ง "พล.อ.ฉัตรเฉลิม" เพื่อนร่วมรุ่น"พล.อ.ฉัตรชัย" นั่งประธานบอร์ด กยท. "เทือก" โผล่เบรกชาวสวนยางไม่ต้องออกมาเคลื่อนไหว อ้างยกหูคุย "สมคิด" แนะแนวทางแก้ปัญหาให้แล้ว ด้าน"ถาวร" ซัดรัฐบาลเดินผิดทาง จี้ปลดรมว.เกษตรฯ

เมื่อเวลา 09.00 น.วานนี้ (11 ม.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคสช. กล่าวถึงการแก้ปัญหายางพาราว่า เป็นปัญหาสำคัญ จะต้องช่วยกันนำผลิตผลจากยางพารามาใช้ ต้องบูรณาการให้ได้ทั้งระบบ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ต้นทางคือ การรับซื้อยาง เข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงาน แล้วโรงงาน จะนำผลผลิตเหล่านั้นมาให้ทุกกระทรวงใช้งบประมาณในการจัดซื้อ ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา หรือยางปูพื้นต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งได้สั่งการไปหมดแล้ว และจะนำเข้า ครม. วันนี้ (12 ม.ค.) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งระบบอย่างแท้จริง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้อย่ามาพูดโดยรวมว่า รัฐบาลนี้ทำเศรษฐกิจได้ไม่ดี เศรษฐกิจตก ต้องดูว่าเศรษฐกิจตกจากปัจจัยอะไร เศรษฐกิจมีกี่ภาคส่วน และที่ผ่านมา ความเข้มแข็งแต่ละภาคส่วน กิจกรรมต่างๆ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเตรียมการหรือเปล่า ต้องไปดูตรงนั้น

" ผมกำลังแก้ไข และเพิ่มมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต กำลังทำอยู่ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยาง หรือผลผลิตอื่นๆ แต่ปรากฏว่า โดนโจมตีตลอดเวลา ว่าทำไมแก้ไม่ได้สักที ผมอยากถามว่า ใครที่เข้ามาเป็นรัฐบาล ถ้ายังปล่อยโครงสร้างให้เป็นแบบเดิม มันก็จะเจอแบบนี้ไปอีกเรื่อยๆ เรากำลังแก้อยู่ ทุกอย่างกำลังเกิด วันนี้เรื่องยางขอให้สบายใจ ผมกำลังเริ่มทั้งหมด เพื่อจะจัดกระบวนการขึ้นมา กระบวนการหนึ่งเพื่อรับซื้อยางในราคาที่สูงขึ้นมาหน่อย อาจจะพอใจหรือไม่พอใจ ผมยังไม่ทราบ แต่รัฐบาล และ คสช.จะรับซื้อเอง เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิต ไม่ออกไปขายที่อื่น จะเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งมีโรงงานที่เราได้ส่งเสริมเอสเอ็มอีไว้ โดยให้ผลิตสินค้าจากวัตถุดิบยาง เป็นรายได้เริ่มต้น ฉะนั้นตรงกลางจะประกอบไปด้วยโรงงานผู้ประกอบการ การทำถนนลาดยางที่มีส่วนผสมของยาง ผมไม่อยากใช้คำว่าทำแล้วไม่คุ้ม แต่จะคุ้มหรือไม่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ " นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ แถลงว่า ไม่ยอมรับมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล พร้อมกดดันให้มีการพยุงราคาอยู่ที่ 60 บาท ต่อกิโลกรัม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า " ก็ช่างเขาสิ แล้วจะเอาอะไรมาอุ้ม เอาเงินที่ไหน ถามมาสิ เงินที่ไหน ตอบมา เรากำลังจะสร้างระบบ ไม่เอาระบบใช่หรือไม่ จะให้อุ้มแบบนี้ทุกอันเลยใช่ไหม ไปหาเงินมาให้ผม ผมไม่ได้ใจร้าย ที่เข้ามาเพราะสงสารคนเหล่านี้ ไม่ได้เข้ามาเพื่อจะเอาเป็นเอาตายกับเขา เขาก็อย่ามาเอาเป็นเอาตายกับผม"

เมื่อถามว่า นายสุเทพ ต้องการคุยเรื่องดังกล่าวกับนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “คุยทำไม เขามีหน่วยงานอยู่แล้ว ก็ไปคุยสิ คุยกับผมเดี๋ยวก็มีปัญหาอีก จะหาว่าผมไม่คุยกับคนนี้ แต่ไปคุยกับนั้น อยากให้เข้าใจ และสื่ออย่าไปเขียนให้เกิดความวุ่นวาย เมื่อซักต่อว่า จะหารือกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ เนื่องจากเคยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ นายกฯ กล่าวว่า " ไม่หารือกับใครทั้งนั้น เขาทำอะไรได้สำเร็จ ตอบมา ทำได้อย่างไรถามสิ เอาเงินที่ไหนไปทำให้ราคายางสูงขึ้น ผมไม่แลกเปลี่ยน เพราะเป็นคนละวิธีการกับผม ใช้เงินเท่าไหร่เล่า แล้วทำให้วิธีการปลูกพืชมันผิดหรือไม่ ปลูกยางเยอะขึ้นหรือไม่ วันนี้ผลิตยางได้ปีละ 4.1ล้านตัน ใช้จริงได้ 1.4 ล้านตัน ที่เหลือ 3 ล้านตันขายหมด แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาชดเชย 3 ล้านตันที่ว่า ต้องคิดแบบนี้ ถ้าคิดแต่ว่าจะชดเชย เดี๋ยวผมให้ก็ได้ ซื้อไปสักกิโลกรัมละ 120-200 บาท แต่จะเอาไปให้ใคร สุดท้ายก็เน่าอยู่ในคลัง ให้เข้าใจบ้าง”

เมื่อถามต่อว่า ที่ระบุว่ารัฐบาลจะรับซื้อเองนั้น ได้กำหนดราคาแล้วหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า " ยัง แต่กำลังคุยกันอยู่ กำลังทำกันอยู่ เร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้" ถามต่อว่าจะคุยกับผู้ประกอบการยางพารารายใหญ่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า " มาทำไม เขาจะซื้อไหมเล่า เห็นใจเขา ซื้อไปแล้วเขาจะไปทำอะไร จะขายต่อหรือ แล้วจะขายให้ใคร สมมุติว่าซื้อของราคา 20 บาท แต่ต้องซื้อในราคา 40 บาท คุณจะซื้อหรือไม่ เขาต้องแบกรับภาระหรือไม่ ทั้งนี้ให้เกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยให้ผู้ประกอบการเข้ามาช่วยส่งเสริม"

เมื่อถามว่า ต้องการให้ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวรอก่อน ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ก็ช่างเขาสิ อยากเคลื่อนไหวก็เคลื่อนไป ผมก็จะทำของผมไป อย่าสร้างความเดือดร้อนก็แล้วกัน ผมไม่อยากใช้อำนาจบาตรใหญ่กับใคร ให้รู้บ้างว่าอะไร คือกฎหมาย วันนี้ผมไม่ทำอะไรอยู่แล้ว แต่กฎหมายคือกฎหมาย วันหน้าเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้รู้สึกกดดัน เพราะกดดันตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา ไม่ต้องมาถามผม เรื่องกดดันไม่กดดัน" เมื่อถามต่อว่า ชาวสวนยางบางส่วนเริ่มโค่นต้นยางขายแล้ว นายกฯกล่าวว่า “เมื่อจำเป็นต้องโค่นก็โค่นไป ผมไม่ได้ให้รอ ก็แล้วแต่ แต่อย่าไปพูดอะไรให้มันวุ่นวาย”นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว และระหว่างเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า หลังการให้สัมภาษณ์ยังได้กระทืบเท้า อย่างไม่สบอารมณ์ด้วย

"สุเทพ"โผล่เบรกม็อบยาง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวถึง ปัญหาราคายางตกต่ำว่า เป็นปัญหาที่กระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ปลูกยางพารา ซึ่งตนยืนยันจะอยู่เคียงข้างเกษตรกรชาวสวนยาง

ทั้งนี้ ตนได้โทรศัพท์พูดคุยกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายาง โดยนายสมคิด มีท่าทีที่ดี พร้อมมีการเตรียมแผนในการแก้ไขปัญหาแล้ว และส่วนตัวเชื่อว่า นายกรัฐมนตรี มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แต่ตนไม่ค่อยเชื่อในทีมงานที่แก้ปัญหา เพราะเป็นทีมงานที่ไม่มีอำนาจจริง ที่สามารถสั่งการแทนนายกฯได้

ส่วนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางนัดชุมนุมนั้น การชุมนุมสามารถทำได้ แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ปัญหา จึงไม่จำเป็นต้องออกมาเดินขบวน เพราะได้ยื่นข้อเรียกร้องไปแล้ว และรัฐบาลได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว

" ขอเสนอให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ทั้งรัฐบาล เกษตรกร ข้าราชการ ต้องนั่งทำงานเป็นทีมเดียวกัน กำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาแล้วหารือกันให้ชัดเจน และต้องใช้สติให้มาก ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งจะชุมนุมเดินขบวน อีกฝ่ายก็ประกาศจะใช้กฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดี วันนี้ต้องกำหนดราคาเลยว่า ราคาเท่าไหร่ชาวสวนยางถึงจะอยู่ได้ แต่ราคา 33 บาท ที่กระทรวงเกษตรฯ ตรึงราคาไว้นั้น ผมคิดว่าไม่พอ และใจผมโน้มเอียงไปที่ราคา 60 บาท ตามที่ชาวสวนยางเสนอ หากเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี สั่งให้หน่วยงานต่างๆ รายงานความต้องการใช้ยางพาราให้รัฐบาลทราบ แสดงว่า รัฐบาลตั้งใจว่าจะซื้อยาง หากมีข้อสรุปว่า รัฐบาลจะซื้อยางที่ราคาเท่าไหร่แล้ว ก็สามารถลงไปซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรงตามราคาที่กำหนดได้เลย"

นายสุเทพ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลรับซื้อยางจากเกษตรกรแล้ว อาจจะตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมา เพื่อขายยางพาราทั้งในและนอกประเทศ อาจจะขายในตลาดเดิม หรือมีการขายในตลาดใหม่ ก็จะเป็นหน้าที่ของคณะทำงานดังกล่าว หรืออาจจะมีการแลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างอื่น อาทิ การที่ประเทศไทย ซื้อหัวรถจักร หรือโบกี้รถไฟที่มีการลงนามไปแล้ว ซึ่งไทยอาจขอเปลี่ยนเป็นการจ่ายด้วยยางพาราแทนจ่ายเป็นเงิน อย่างนี้ก็ต้องทำ เป็นต้น

นายกฯสั่งอคส.รับซื้อยางทั้งหมด

ในวันเดียวกันนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับแกนนำกลุ่มเกษตรกรสวนยาง ว่า ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ได้สั่งการให้องค์การคลังสินค้า(อคส.) เข้าไปรับซื้อยางจากเกษตรกรทั้งหมด ทั้งยางดิบ และยางแผ่นเป็นการเร่งด่วน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ยืนยันราคาที่มีการรับซื้อสูงกว่าราคาตลาดแน่นอน ส่วนจะเป็นเท่าไรนั้น จะมีการหารือในที่ประชุมครม. วันนี้ (12ม.ค.) รวมทั้ง อคส.จะหารือร่วมกันวางกรอบในการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าทำให้ราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยยางที่มีการซื้อนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะเข้ารับช่วง เพื่อมาแปรรูปต่อไป

นอกจากนั้น อุปสรรคปัญหาในการบริหารภายใน กยท. ตนจะเสนอรายชื่อบอร์ดกยท. ต่อครม. มาขับเคลื่อนและแก้ปัญหาดังกล่าว

ด้านนายเชาว์ ทรงอาวุธ รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ในส่วนของยาง 2 แสนตัน ที่มีการทำสัญญาซื้อขายกับบริษัท ชิโนเคม ที่มีการกำหนดสัดส่วน 90% มีการแปรรรูปโดยบริษัทเอกชนไทย หรือ บริษัทในกลุ่ม 5 เสือ ตามที่ระบุในสัญญา และมีการซื้อจากเกษตรกร 10% ซี่งในส่วน 90% ทางกยท.มีการซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรในขั้นตอนสุดท้าย โดยมีข้อตกลงว่า ทางสถาบันเกษตรกร จะต้องจ้างบริษัทที่ระบุในสัญญาเป็นผู้แปรรูป ซึ่งกยท.จะไปซื้อจากสถาบันเกษตรกร ที่มีการแปรรูปแล้วเป็นยางอัดแท่ง ส่วนอีก 10% ทางกยท.จะไปซื้อจากเกษตรกรที่สามารถแปรรูปได้ ผ่าน จีเอ็มพี เป็นตามมาตรฐาน สาเหตุที่มีการระบุให้มีการแปรรรูปจากบริษัทเอกชนไทย ก็เป็นไปตามความต้องการของ บริษัท ชิโนเคม ที่ส่งความต้องการมา ไม่เอื้อเอกชนแต่อย่างใด

นายสุนทร รักษ์รงค์ แนวร่วมกู้ชีพสวนยางและนายกสมาคมสวนยาง 16 จ.ภาคใต้ กล่าวว่า ตนสงสาร นายกฯ กับรมว.เกษตรฯ มากที่ตั้งใจแก้ปัญหา แต่ทีมงานมีฝีมือหรือไม่ และผู้ว่าการยางคนใหม่ กำลังจะถูกล็อกสเปกจาก 5 สั้น ที่ครองกระทรวงเกษตรฯ มาอย่างยาวนาน อีกหรือไม่ และกลุ่มเกษตรกร จะเรียกร้องที่จะทำให้ราคายางขยับขึ้น 60 บาท พอพวกเราออกมาตอนนี้ ราคาก็ขยับขึ้นแล้ว จนข้าราชการลุกขึ้นมาทำงานแบบไฟล้นก้น โดยวันที่ 12 ม.ค. แกนนำเกษตรกรสวนยางภาคใต้ จะหารือที่ จ.ตรัง จ.กระบี่ ด้วย

ตั้งนายพลคุมบอร์ด กยท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อบอร์ด กยท. เสนอเข้า ครม.วันนี้ ประกอบด้วย พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงวุฒิ ประกอบด้วย นายประสิทธิ หมีดเส็น ผู้แทนเกษตรกรสวนยาง นายสังเวิน ทวดห้อย ผู้แทนเกษตรกรสวนยาง นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้แทน เกษตรกรสวนยาง นายธีรพงค์ ตันติเพชราภรณ์ ผู้แทนสถาบันเกษตรชาวสวนยาง นายสาย อินทร์คำ ผู้แทนสถานบันเกษตรกรชาวสวนยาง นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้า นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ผู้แทนผู้ประกอบการกิจการยาง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอุตสาหกรรมยาง

"ถาวร"ซัดรัฐบาลเดินผิดทาง

นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยอดีต ส.ส.ภาคใต้ แถลงก่อนเดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

นายถาวร กล่าวว่า แม้ดูเหมือนว่ารัฐบาลเอาใจใส่แก้ปัญหาราคายาง แต่ความเป็นรัฐบาลจากรัฐประหาร ก็เลยใช้ความแข็งกร้าวไปสยบประชาชน ซึ่งตนไม่ได้เป็นศัตรูต่อรัฐบาล แค่ต้องการให้รับรู้ความเดือดร้อนของประชาชน แต่เมื่อเสนอความเห็นกลับถูกเรียกไปปรับทัศนคติ และถูกนายกฯหรือคนในรัฐบาล ออกมาถากถางมองว่าเป็นศัตรู

"รัฐบาลมาผิดทาง จึงจำเป็นต้องเสนอแนวทางแก้ปัญหา เพราะขณะนี้บางรายทนเดือดร้อนไม่ไหวจนฆ่าตัวตาย แต่รัฐบาลมองเรื่องนี้เป็นปัญหาด้านความมั่นคง ซึ่งถือว่าผิดมาก เพราะไม่ใช่ท่าทีผู้ปกครองที่มองผู้ใต้ปกครองอย่างมีเมตตา" นายถาวร กล่าว

จี้ปลด"ฉัตรชัย"พ้นรมว.เกษตรฯ

นายถาวร กล่าวว่า ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาราคายางของรัฐบาลนี้ คนได้ประโยชน์คือพ่อค้า ไม่ใช่เกษตรกร อีกทั้งยังมีการทุจริต คอร์รัปชันเกิดขึ้นด้วย อีกทั้งกลไกการทำงาน ก็ไม่มีประสิทธิภาพ ทุจริตทุกขั้นตอน ตั้งแต่จัดซื้อ จัดเก็บยาง และจำหน่ายยาง ซึ่งมีการตั้งกรรมการสอบ แต่ยังไม่มีผลสอบออกมา นอกจากนี้ รัฐบาลขายยางล็อตใหญ่ ให้ไชน่าไห่หนาน รับยางไปเพียง 1.2 หมื่นตัน จากทั้งหมดสี่แสนตัน กระทั่งในที่สุดมีการยกเลิกสัญญา เป็นคดีความฟ้องร้องกันอยู่ จึงอยากให้มีการตรวจสอบสาเหตุด้วย

อีกทั้ง ที่ผ่านมารัฐบาลพูดกลับไปกลับมา ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ มาตรการต่างๆ มีความล่าช้า เช่น การจ่ายเงิน 1,500 บาทต่อไร่ และไม่เข้าใจกลไกธุรกิจยางพารา จึงขอให้ตั้งบอร์ด และสรรหาผู้ว่าการยาง โดยเร็วที่สุด เพราะขณะนี้ทำงานแบบเช้าชาม เย็นชาม ตัวอย่างเช่น กรณีนางจินตนา ชัยยวรรณการ ผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ ไปรับฟังปัญหาในพื้นที่ แต่ทนฟังไม่ได้ เดินออกจากห้องประชุมกลางคัน ตนเห็นว่าต้องปลดออกจากตำแหน่ง

" รัฐบาลต้องยอมรับความล้มเหลวในการแก้ปัญหาราคายางธรรมชาติตกต่ำ เพราะไม่สามารถให้หน่วยราชการนำยางไปใช้เพื่อลดปริมาณยางออกนอกระบบได้ตามนโยบายที่ออกมา อีกทั้งมติครม. ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ที่เป็นเช่นนี้เพราะตั้งคนที่ไม่มีความรู้มารับผิดชอบ จึงเสนอให้ปลด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ออกจากตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ และสรรหาผู้มีความรู้ความสามารถมาบริหารในสภาวะที่ไม่ปกติขณะนี้" นายถาวร กล่าว

เบรกตั้ง"นายพล"เป็นผู้ว่าการยางฯ

นายถาวร ยังเรียกร้องให้นายกฯ เร่งรัดจัดตั้งเมืองยาง และระยะยาวให้กำหนดโซนนิ่ง เพื่อไม่ให้ล้นตลาด รวมทั้งขอให้ใช้บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือในการพยุงราคายาง เพราะในขณะนี้ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้

" อย่าเอาแต่โทษรัฐบาลที่แล้ว ว่าปล่อยให้มีการปลูกยางพารามาก เพราะรัฐบาลมีหน้าที่แก้ไข และให้เข้าใจด้วยว่าที่จะให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปลูกพืชอื่นทดแทนนั้น ความจริงแล้วคนจนเขาดิ้นรนทุกทาง เพื่อเอาตัวรอด ไม่เหมือนนายพล กับพ่อค้า จึงขอให้พูดด้วยความเอาใจใส่และเอื้ออาทร ผมเชื่อว่าเขาก็จะไม่ออกมาเดินขบวนเพื่อตายประชดป่าช้า และผมไม่สนับสนุนให้มีการจัดม็อบ เพราะมีวุฒิภาวะมากพอที่จะไม่เพิ่มปัญหาอีก" นายถาวร กล่าว และว่า ตนได้ข่าวว่าจะมีการตั้ง พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.ฉัตรชัย มาเป็นผู้ว่าการยางฯ ทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้าระหว่างประเทศ ทำให้ต้องมาศึกษางานใหม่ เวทีนี้ไม่เปิดโอกาสให้ใครทดลองงานเป็นเรื่องจริง เพราะประชาชนเดือดร้อนกว่า 30 ล้านคน" นายถาวร กล่าว

คมนาคมชงแผนใช้ยางปี 59

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.วันนี้ จะรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการนำยางพารามาใช้ในการก่อสร้าง และซ่อมบำรุงถนน ที่ชำรุดเสียหาย โดยเบื้องต้นในปี 2559 จะใช้ยางพาราจำนวน 20,000 ตัน แน่นอน และจะพิจารณาเพิ่มปริมาณยางพาราอีก ซึ่งการใช้ ยางพาราธรรมชาติมาใช้เป็นส่วนผสมในขั้นตอนของการฉาบผิวถนนหรือพาราสเลอรีซิลนั้น จะมีการกำหนดเงื่อนไขในการประกวดราคา แตกต่างกับการใช้แอสฟัลต์คอนกรีต ซึ่งไม่มีปัญหาในการประกวดราคา แต่ยอมรับว่าในภาพรวม จะทำให้งบประมาณในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่อายุการใช้งานของถนนที่ใช้พาราแอสฟัลติก จะยาวนานกว่า

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สรุปข้อมูลการใช้ยางพาราสำหรับทำถนนบริเวณที่เป็นจุดตัดกับทางรถไฟ จากเดิมที่ใช้บล็อกคอนกรีต ให้ปรับมาเป็นพาราแอสฟัลติกทั้งหมด ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานกว่า ทั้งนี้ การใช้ยางพารามาทำผิวถนนนั้น จะใช้ส่วนที่เป็นน้ำยางข้น ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% อีก 70% จะเป็นยางแผ่นโดยภาพรวมของกระทรวงคมนาคม คาดว่าในปี 2559 จะใช้ยางพาราประมาณ 60,000 ตัน

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างและซ่อมบำรุงในปีงบประมาณ59 ของ ทช. ในส่วนของค่างานพื้นผิวถนนนั้น มีมูลค่าประมาณ 4,900 ล้านบาท ซึ่งมติ ครม.เมื่อเดือนพ.ย.58 ให้ทุกหน่วยงานราชการดำเนินงานปรับปรุงแบบโดยใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบนั้น จากออกแบบถนนของทช. โดยใช้ยางพาราธรรมชาติประมาณ 5% เป็นส่วนผสมในขั้นตอนของการฉาบผิวถนนหรือพาราสเลอรีซิล คาดว่าจะใช้ปริมาณยางพาราประมาณ 9,500 ตัน ทั้งนี้ การใช้ยางพาราแทนยางมะตอยนั้น ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างในส่วนของชั้นผิวทางเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ซึ่งในส่วนของโครงการก่อสร้าง ไม่กระทบกับงบประมาณที่ได้รับส่วนการซ่อมบำรุงอาจจะมีการปรับลดระยะทางลงบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณ

ปธ.เครือข่ายยางใต้จี้เร่งแก้ปัญหา

นายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ (12 ม.ค.) ทางเกษตรกรชาวสวนยางพารา จะเดินทางมาหารือกันที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง (กยท.ตรัง) โดยมีมาตรการเร่งด่วนที่ต้องการมากที่สุดขณะนี้ คือ การอยากให้รัฐบาลแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิของการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดบริหาร กยท.) ให้ครบ เพื่อให้การดำเนินงานของ กยท. สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าในวันที่ 12 ม.ค.นี้จะไม่มีการออกมาเดินประท้วงกดดันรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อประชุมหารือข้อสรุปที่ต้องการจะยื่นไปยังภาครัฐเท่านั้น

"ผมอยากให้มีเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารลงมาพูดคุยรับข้อเรียกร้องของเกษตรกรโดยตรง เช่น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัวจริงรับรู้ และสามารถตัดสินใจได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน"

อีสานเตรียมหารือเคลื่อนไหว

นายสวาท จำปาสา แกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่กำลังตกต่ำอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.โนนสุวรรณ ปัจจุบันราคายางก้อนถ้วยเหลือเพียงกิโลกรัมละ 11-13 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุด สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะในพื้นที่กว่าร้อยละ 70 มีอาชีพปลูกยางพาราและเป็นรายได้หลักในการเลี้ยงชีพ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลได้เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาพยุงราคายางที่กำลังตกต่ำให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะด้วยแนวทางใดก็ตาม โดยยางก้อนถ้วยไม่ควรจะต่ำกว่ากิโลกรัมละ 25-30 บาท เกษตรกรจึงจะอยู่ได้และยางแผ่นไม่ควรต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50-60 บาท

ส่วนกรณีที่รัฐบาลใช้นโยบายจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางไร่ละ 1,500 บาทไม่เกิน 15 ไร่นั้น มองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด ทั้งไม่ยั่งยืน และไม่ครอบคลุม ดังนั้นรัฐบาลควรจะเข้ามาพยุงราคาให้อยู่ที่จุดคุ้มทุน ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือชาวสวนยางได้ยั่งยืนมากกว่า ทั้งนี้ ตั้งแต่ราคายางตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรตัดสินใจตัดโค่นต้นยางทิ้ง หันไปปลูกพืชชนิดอื่นแล้วกว่า 1,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกยางใน อ.โนนสุวรรณ กว่า 3,000 ไร่

"ขณะนี้ชาวสวนยางในพื้นที่ยังไม่มีการออกมาเคลื่อนไหวใดๆ เพราะยังรอดูท่าทีและแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลก่อน แต่หากการแก้ไขปัญหาไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็จะมีการประสานกับแกนนำหลายจังหวัดภาคอีสาน เพื่อหารือถึงแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปอีกครั้ง" นายสวาท กล่าว

ชาวสวนยางอุบลฯ ยังให้โอกาส "บิ๊กตู่"

นายประสิทธิ์ กาญจนา ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราอุบลราชธานี จำกัด กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของชาวสวนยางพาราของ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีอยู่ 8 สหกรณ์ว่า ขณะนี้ชาวสวนยางทุกคนเดือดร้อนจากราคายางพาราที่ตกลงอย่างมาก แต่เบื้องต้นแกนนำยังไม่มีการพูดคุยการออกมาชุมนุม เพราะเห็นว่ารัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณที่ดีออกมาเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ 8 กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำเงินมาซื้อยางพาราไปแปรรูปทำเป็นถนน หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ หากรัฐบาลทำเช่นนี้ก็จะทำให้ปริมาณยางพาราถูกซื้อแล้วดึงออกไปจากตลาดจำนวนมากจะส่งผลต่อราคายางพาราให้ปรับตัวสูงขึ้นไปตามกลไกของตลาดเอง จึงยังจะให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานตรงนี้ให้เห็นผลก่อน

"แต่หากกระทรวงต่างๆ ไม่ปฏิบัติตามที่ พล.อ.ประยุทธ์สั่งการจะมีการหารือแนวทางกับแกนนำชาวสวนยางพาราในจังหวัดอีกครั้ง และสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลมีความชัดเจนยิ่งขึ้นคือ การที่ประกาศมีการนำยางพารา มันสำปะหลัง หรือข้าว ไปแลกเครื่องบินกับประเทศรัสเซีย หรือแลกรถไฟกับจีน ต้องการให้รัฐบาลให้ความชัดเจนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะชาวสวนยางจะได้มีการวางแผนบริหารจัดการอนาคตของตนเองได้ด้วย"

ชาวสวนยางภาคเหนือรอดูท่าทีรัฐบาล

นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และมีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางทางภาคใต้ กำลังเจรจาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ ขณะนี้ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีเกษตรกรที่ปลูกยางพาราอยู่จำนวนหนึ่ง บางส่วนเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตและกรีดยาง แต่มีปริมาณยังไม่มาก ซึ่งจากการประสานกับกลุ่มเกษตรกร พบว่าจะขอดูท่าทีและมาตรการในการช่วยเหลือจากทางรัฐบาลที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ก่อนว่าจะมีแนวทางบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร

ทั้งนี้ เกษตรกร ระบุว่าจะสนับสนุนกลุ่มผู้ปลูกยางที่กำลังเจราจากับภาครัฐขณะนี้ แม้ราคายางพาราจะเป็นไปตามกลไกของตลาด ที่ลดต่ำลง แต่ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีความชัดเจนและมาตรการรองรับ เมื่อมีปัญหาหรือยามฉุกเฉิน เพราะถือว่าประเทศไทยมีการผลิตยางพาราเป็นจำนวนมาก

ด้านนายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 เชียงใหม่ (สศข.1) เปิดเผยว่า เนื้อที่ปลูกยางพาราในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ที่ยางพาราอายุ 5 ปีขึ้นไป มีเนื้อที่ยืนต้นจำนวน 81,757 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าหมื่นไร่ ปัญหาราคาตกต่ำขณะนี้ต่างก็รอดูท่าทีจากมาตรการของรัฐในสัปดาห์นี้เช่นกัน
เทหมื่นล.ซื้อยาง ครม.อั้น2แสนตัน-ชาวสวนพ้อรัฐซื้อเวลา
เทหมื่นล.ซื้อยาง ครม.อั้น2แสนตัน-ชาวสวนพ้อรัฐซื้อเวลา
ผู้จัดการรายวัน360 – ครม.อนุมัติ 4 แนวทาง ช่วยเหลือชาวสวนยาง เป้าหมาย ซื้อ 200,000 ตัน วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ยันต้องไม่เกินกิโลกรัมละ 60 บาท นายกฯแจง ตั้งบอร์ดยางช้า อ้างเกษตรกรแย่งกันเป็น จตุพรปัดซูเอี๋ย สุเทพ ปูดเทือกชวนแก้ปัญหาราคายางตก ด้านแกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางหลายองค์กรในภาคใต้ รวมตัวสำนักงาน สกย.ตรัง มีมติยื่น 3 ข้อเสนอรัฐบาล ขีดเส้นตายรัฐบาล 1 เดือนต้องกิโลกรัมละ 60 บาท เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราบุรีรัมย์ ไม่พอใจมติ ครม.แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ด้านอคส.นัดหน่วยงานหารือแก้ปัญหายางวันนี้(13ม.ค.) ด้านพณ.จ่อขายกัมพูชา-รัสเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น