ผู้จัดการรายวัน360 - ครม.อนุมัติ 4 แนวทาง ช่วยเหลือชาวสวนยาง เป้าหมาย ซื้อ 200,000 ตัน วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ยันต้องไม่เกินกิโลกรัมละ 60 บาท "นายกฯ"แจง ตั้งบอร์ดยางช้า อ้างเกษตรกรแย่งกันเป็น "จตุพร"ปัดซูเอี๋ย "สุเทพ" ปูด"เทือก"ชวนแก้ปัญหาราคายางตก ด้านแกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางหลายองค์กรในภาคใต้ รวมตัวสำนักงาน สกย.ตรัง มีมติยื่น 3 ข้อเสนอรัฐบาล ขีดเส้นตายรัฐบาล 1 เดือนต้องกิโลกรัมละ 60 บาท เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราบุรีรัมย์ ไม่พอใจมติ ครม.แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ด้านอคส.นัดหน่วยงานหารือแก้ปัญหายางวันนี้(13ม.ค.) ด้านพณ.จ่อขายกัมพูชา-รัสเซีย
วานนี้(12ม.ค.)คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติในหลักการกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยางพาราเป็นกรณีเร่งด่วน ตามที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รองประธานกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนฯ เสนอ
สาระสำคัญคือ 1. ผู้ได้รับประโยชน์จะต้องเป็นเกษตรกรยางพาราที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพร่วมกับส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ตรวจสอบคัดกรองเกษตรกรยางพาราที่จะให้ความช่วยเหลือให้ชัดเจน
2. กำหนดกรอบวงเงินในการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับยางแต่ละประเภท เช่น ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ยางแผ่นดิบ น้ำยางสด ยางก้อนถ้วย ยางแท่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดต้นทุนราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 64.21 บาท
3. คณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาราคายางพาราเพื่อกำหนดมาตรการเชิงรุกช่วยเหลือเกษตรกรยางพารา เป็นกรณีเร่งด่วน จะดำเนินการในลักษณะเป็นหน่วยบริหารจัดการกลางในการประสานไปยังส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐ ที่มีงาน/โครงการต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งจะต้องนำยางไปเป็นส่วนประกอบหลักหรือส่วนผสม เช่น การสร้างถนน สนามกีฬา ถนนสำหรับรถจักรยาน 2 ล้อ การปูพื้นกันซึม/รั่วของสระน้ำ/อ่างเก็บน้ำ ถุงมือยาง หุ่นหรืออวัยวะประกอบการเรียนการสอนทางการแพทย์/พยาบาล ฯลฯ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยาง
รวมทั้งจะรวบรวมผลงานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่ายางพาราที่ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ไว้เรียบร้อยให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติหรือใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งนี้ อาจต้องมีการส่งเสริมการผลิตในงานหรืออุตสาหกรรมบางประเภทที่จะเข้ามารับงานจากส่วนราชการ เพิ่มเครื่องจักร เครื่องมือเครื่องใช้ที่มีนวัตกรรมเหมาะสมในการเพิ่มผมผลิตงานราชการรองรับปริมาณยางพาราในประเทศ
4. จากราคายางพาราสูงสุดที่ผ่านการแปรรูปแล้ว ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คือ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ต้นทุนราคากิโลกรัมละ 64.21 บาท เมื่อพิจารณาประกอบกับราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นฐานในการคำนวณค่าครองชีพของเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความเคลื่อนไหวขึ้น-ลง อยู่ตลอดเวลาแล้ว เห็นว่าราคาที่เหมาะสมในการรับซื้อครั้งนี้ไม่ควรเกินกิโลกรัมละ 60 บาท หรือตันละ 60,000 บาท สำหรับในช่วงฤดูก่อนการปิดกรีด สามารถประมาณการผลผลิตยางในตลาดได้ประมาณ 600,000-800,000 ตัน
ในเบื้องต้นเห็นสมควรรับซื้อในปริมาณ 200,000 ตัน ใช้วงเงินรองรับการดำเนินการดังกล่าว รวมเป็นเงิน 12,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการช่วยเหลือในกรณีเร่งด่วน โดยพิจารณาค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐตามข้อ 3. เงินงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และ เงินกองทุนพัฒนายางพาราตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย มาตรา 49 (3) (ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 1,860 ล้านบาท) มาหมุนเวียนสมทบในจำนวนที่เหมาะสม
*** นายกฯอ้างเกษตรกรแย่งเป็นบอร์ด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังการประชุมครม. ถึงการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาอยู่ ในส่วนของคณะกรรมการยางใหม่ที่จะต้องตั้ง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐ แต่อยู่ที่ผู้แทนภาคการเกษตร ที่ตกลงกันไม่ได้ แม้จะมีการประชุมกัน 3-4 ครั้ง ก็ยังเสนอชื่อกันไม่ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำให้เสร็จเร็วที่สุด โดยได้มีการประชุมที่กระทรวงเกษตรฯ มาแล้ว และน่าจะเริ่มตกลงกันได้ ถ้าตั้งกรรมการได้ ก็ตั้งประธานได้ สำหรับสัดส่วนกรรมการที่ยังตั้งไม่ได้ ตอนนี้เป็นของเกษตรกร
สำหรับตนบอกแล้วว่าทำอย่างไร ยาง 4.7 ล้านตัน จะนำไปสู่การใช้จ่ายในประเทศมากกว่า 30-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวันนี้ใช้ 1.4 ล้านตัน แต่ยางมี 4 ล้านกว่า แล้วจะไปขายใคร เขาใช้ยางสังเคราะห์ขึ้นมาได้ ทำอย่างไร ราคาน้ำมันตก ตนผลิตน้ำมันขายหรือเปล่า ก็เปล่า ตนบังคับให้เขาขายราคาส่งก็ไม่ได้ วิธีการแก้ของตน คือใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น สร้างโรงงานให้เกิดความเข้มแข็ง มันเคยทำกันไหมเล่า
นายกฯ กล่าวว่า “วันนี้กระทรวงที่ไปซื้อยางนั้น ไม่ได้มีการอนุมัติงบประมาณใหม่ให้ แต่ให้ใช้งบประมาณภายในทำไปก่อน ไม่ใช่ไปของบประมาณเพิ่ม หนึ่ง ท่านบอกให้ผมไปทำถนน สอง ท่านบอกประโยชน์น้อย สาม ใช้งบประมาณเปลือง แล้วจะให้ กูทำยังไงวะ ปัดโธ่ "
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีกระทรวงเกษตรฯ เสนอพิจารณารายชื่อคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต่อที่ประชุมครม. ว่า ได้ดำเนินการตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอมา และรายชื่อประธานกยท. นั้นตนจำไม่ได้ เดี๋ยวรายชื่อคงออกมาส่วนการช่วยเหลือเรื่องราคายางนั้น ครม.ได้อนุมัติให้รับซื้อยางโดยตรงจากเกษตรกรแล้วเมื่อถามถึงกรณีกระแสข่าวมีการควบคุมแกนนำผู้ชุมนุมชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ 50 คน มาปรับทัศนคติ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี
***'เทือก'ชวน'ตู่'ร่วมแก้ปัญหายาง
วานนี้( 12 ม.ค.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์" ถึงกรณีมีภาพนายจตุพร กำลังพูดคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เผยแพร่ออกไป โดยระบุว่า "ผมเป็นประธานนปช. และสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น กปปส. เจอหน้ากัน แล้วผมต้องชวนทะเลาะเลยเหรอครับถ้าในสนามรบแล้วไปซูเอี๋ยกันสิครับ เรียกว่าเลวทรามต่ำช้าแต่ในงานแต่งงานต่างคนก็รู้ว่าต้องให้เกียรติเจ้าภาพ แยกให้ได้ ระหว่างงานแต่งงานกับสนามรบคิดกันเสียบ้าง"
โดยนายจตุพร กล่าวว่า เป็นภาพที่ไปร่วมงานแต่งงานลูกสาวของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งนายชาดา ก็รู้จักทุกฝ่าย ตนก็ถูกเชิญไปร่วมงานเหมือนกับคนอื่น ๆ แต่เมื่อเจอนายสุเทพ ก็มีการทักทายกันธรรมดา และได้ถามเรื่องสวนยางพารา ที่พี่น้องประชาชนมีความเดือดร้อนถามถึงสารทุกข์สุขดิบ เป็นการพูดคุยกันแบบรักษามารยาทในโต๊ะอาหาร ไม่มีอะไรมาก
รายงานระบุว่า งานแต่งลูกสาวนายชาดา เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยนายจตุพร ได้ถามนายสุเทพว่า ราคายางเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งนายสุเทพตอบว่า “เราต้องช่วยกันนะ”โดยได้มีการพูดคุยกันอีกเล็กน้อย ก่อนที่นายสุเทพจะขอตัวกลับ อย่างไรก็ตามภาพการพูดคุยระหว่างนายจตุพร และนายสุเทพที่ปรากฏออกมาสร้างความไม่พอใจให้กับมวลชนบางส่วนของทั้ง2 ฝ่าย
**แกนนำจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา4ข้อ
ตั้งแต่ช่วงเช้าวานนี้ (12 ม.ค.) ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง (สกย.ตรัง) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเปิดเวทีประชุมพิจารณาข้อเรียกร้องของแกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางจากหลายองค์กรในภาคใต้ เช่น ชุมนุมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ประมาณ 30 คน นำโดยนายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน เลขานุการเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ นำโดยนายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน เลขานุการเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ หลังจากที่เกษตรกรกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากราคายางที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ จนบางพื้นที่เหลือแค่กิโลกรัมละ 20 บาทเศษๆ หรือ 4 กิโลฯ 100 บาท
สำหรับการเปิดเวทีในครั้งนี้ได้มีการพิจารณาปัญหาข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ให้เร่งรัดการการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ (บอร์ด) และการสรรหาผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย 2.โครงการขายยางให้แก่ประเทศจีนแบบจีทูจี หรือรัฐต่อรัฐ ซึ่ง กยท.ได้ทำสัญญาขายยางกับบริษัท ไซโนแคม ประเทศจีน จำนวน 2 แสนตัน และงวดแรกจะส่งมอบยางให้แก่ประเทศจีน จำนวน 1.7 หมื่นตันในเดือนมีนาคม 2559 แต่ล่าสุดทาง กยท.กลับยังไม่เคลื่อนไหวเพื่อซื้อจากเกษตรกรและสหกรณ์ยางเลย
3.ให้เร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยชาวสวนยาง ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง อัตราไร่ละ 1,500 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ เจ้าของสวน 900 บาท คนกรีดยาง 600 บาท และให้ใช้บัญชีกรมวิชาการเกษตรที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากมียอดเงินถึง 1.3 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุดรัฐยังจ่ายไปแค่ 300 ล้านบาทเท่านั้นถือเป็นสัดส่วนที่น้อยนิด และแก้ปัญหาให้แก่ชาวสวนยางไม่ได้ และ 4.ให้เร่งรัดมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2558 ที่รัฐบาลต้องการให้ใช้ยางเป็นส่วนผสมเพื่อทำถนนใช้ในประเทศ จำนวน 2.3 หมื่นตัน
เบื้องต้น แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ระบุว่า จะนำข้อสรุปทั้งหมดเสนอต่อทางรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาต่อไป แต่คงจะไม่มีการรวมตัวกันเพื่อชุมนุมประท้วง หรือเคลื่อนไหวใดๆ ในลักษณะที่รุนแรง
ล่าสุดจากการที่ ครม.มีมติแต่งตั้งนายธีรเดช ตันติเพชราภรณ์ แกนนำชาวสวนยางจังหวัดพังงา และนายประสิทธิ์ หมิดเส็น แกนนำชาวสวนยางจังหวัดสงขลา เป็น 2 ในคณะกรรมการยาง หรือบอร์ดยาง หลังจากที่เสนอรายชื่อไป 4 คนนั้นแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้แสดงท่าทีพอใจ เพราะเชื่อว่าเมื่อมีบอร์ดยางขึ้นมาแล้วจะทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ
** ขีดเส้น1เดือนดันราคา60บาท
ต่อมาในช่วงบ่ายหลังจากที่เกษตรกรชาวสวนยางได้แสดงความคิดเห็นกันเป็นที่เรียบร้อยทางเครือข่ายฯ นำโดยนายสมทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายฯ นายสุนทร รักษ์รงค์ แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง และสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และนายบุญส่ง นับทอง สมาคมสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยได้สรุปข้อเสนอ 3 ข้อเสนอไปยังรัฐบาล
ประกอบด้วย 1.ทางเครือข่ายฯเห็นด้วยและสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐบาล 2.การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำตามข้อ 1 ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมให้มากที่สุดโดยมอบหมายให้สภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานกับเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 3.ให้เวลารัฐบาลในการผลักดันราคายางพารา เป้าหมายอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาทภายใน 30 วัน
รายงานข่าวแจ้งว่าจากนั้นทางเครือข่ายฯได้ประกาศให้ทราบถึงผลการประชุม ครม.วันนี้โดยมีการแต่งตั้งบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย 15 คน โดยเครือข่ายเกษตรกรภาคใต้การเสนอชื่อตัวแทนในการพิจารณาแต่งตั้งเป็นบอร์ดการยางฯ ครั้งนี้ 2 คนประกอบด้วยนายธีรพงษ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา และประธานเครือข่ายชาวสวนยางพังงาและนายประสิทธิ์ หมีดเส็น ซึ่งก็ได้รับการเห็นชอบจาก ครม.ทั้ง 2 คนดังกล่าว
นายธีรพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเพิ่งทราบข่าวว่าได้รับการแต่งตั้งเป็น 1 ใน 15 ของบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย โดยผ่าน ครม.เป็นที่เรียบร้อย
ในส่วนของข้อเรียกร้องของทางเครือข่ายตนคิดว่าน่าจะมีการสรุปผ่านสภาเกษตรกรแห่งชาติก่อน ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 13 ม.ค.ถ้ามติของแกนนำทุกฝ่ายตกผลึกตนก็จะนำไปผลักดันและเสนอต่อบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยต่อไป สำหรับเรื่องเร่งด่วนคิดว่า มองว่าในเรื่องของการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมยาง ถ้ารัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ควบคุมยางได้ก็สามารถวางราคายยางที่ต่ำสุด
นายธีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ราคายางที่เกษตรกรสามารถอยู่รอดได้ คิดถึงต้นทุน 2 ประเด็น ต้นทุนแรกที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคิดไว้ที่กิโลกรัมละ 49 บาทซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้รวมค่าเสียโอกาส ค่าเสียภาษี เพราะฉะนั้นมองว่าราคาที่ 49 บาท ประการที่ 6 ต้นทุนที่คิดไว้ที่ 64 บาทเป็นต้นทุนรวมทั้งหมด จึงต้องพูดถึงตัวเลขที่ชัดเจน
**ผู้ว่าฯ ตรังรุดคุยแกนนำชาวสวนยาง
ขณะที่ทางจังหวัดตรังนำโดยนายเดชรัฐ สิมสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้เดินทางมาพบปะกับแกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อช่วยหาทางคลี่คลายปัญหาในเวทีดังกล่าว แล้วนำเสนอต่อทางรัฐบาลนายเดชรัฐ กล่าวว่า ปัญหาของชาวสวนยางทุกวันนี้ ที่แก้ยังไม่ได้ตรงจุด ส่วนหนึ่งเกิดจากความขาดความเป็นเอกภาพของแกนนำ ที่มีหลายกลุ่มหลายองค์กรมากถึง 13 กลุ่ม ดังนั้น ถ้ารวมตัวจับมือกันได้ทั้งหมดแล้วสะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไขให้เป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียวกัน ทางรัฐบาลก็สามารถรับไปดำเนินการได้ง่ายขึ้น
** เลิกประท้วงอดข้าว
ด้าน พ.อ.ธวัชชัย รักอาชีพ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดตรัง (กอ.รมน.จ.ตรัง) เปิดเผยว่า บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพาราใน จ.ตรังเป็นไปด้วยความเรียบร้อยส่วนที่นายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ ประธานเครือข่ายชาวสวนยางรายย่อยจังหวัดตรัง ที่เคยออกมาประกาศว่าจะออกมาประท้วงด้วยการอดอาหาร นั้น พ.อ.ธวัชชัย ระบุว่า หลังจากการพูดคุยกับ นายศักดิ์สฤษดิ์ แล้ว ได้รับการยืนยันว่า จะไม่ออกมาแสดงท่าที หรือเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน
**กระบี่จี้ "ตู่" แก้ด่วนขู่ยกระดับชุมนุม
ชาวสวนยางพารา จ.กระบี่ ประมาณ 10 คนนำโดยนายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ได้เดินทางมารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลช่วยพยุงราคายางพาราที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยมี น.ส.ศรีบำเพ็ญ นาทอง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกระบี่ รับเรื่อง
ขณะนี้ราคาน้ำยางเหลือแค่ 22 บาท เศษยาง 12 บาท เกษตรกรชาวสวนยางกำลังย่ำแย่เดือดร้อนถึงขีดสุดแล้ว
นายโชยดม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีแต่มาตรการออกมาแต่ไม่มีผลทางการปฏิบัติการช่วยเหลือ และไม่ถึงเกษตรกรและหากราคาผลลิตยังไม่ดีขึ้นชาวสวนยางพาราในจังหวัดกระบี่ กว่า 300 คน ได้มีการประชุมหารือกันว่าจะต้องมีการยกระดับการเคลื่อนไหว เช่น ตั้งเวทีปราศรัยที่ศาลากลาง เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหาตามสิทธิของประชาชนต่อไป
**ชาวยางสงขลาบุกศาลากลางจี้แก้ปัญหา
ส่วนที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา ได้มีชาวสวนยางได้เดินทางมายื่นหนังสือให้รัฐบาลช่วยเหลือ เดือดร้อนจากยางพาราราคาตกต่ำ โดยผ่านนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มีนายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ประธานสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา นายปรีชา สุขเกษม ประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางาพารา มีชาวสวนยางประมาณ 300 คน
รายงานข่าวแจ้งว่านายชัยวุฒิ ได้ยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ขอเรียกร้องให้ใช้อำนาจตาม ม.44 ตรวจสอบกลไกตลาดยางพาราเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากสงสัยว่ามีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มแทรกแซง บิดเบือนกลไกตลาดยางพารา เกิดความเสียหายต่อเกษตรกร
*** “บุรีรัมย์”ไม่พอใจมติ ครม.
วานนี้ (12 ม.ค.) เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราบ้านน้อยอุบล ต.โนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ไม่พอใจมติคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ที่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำโดยการรับซื้อยางของเกษตรกรโดยตรงในราคาสูงกว่าท้องตลาดแต่กลับไม่กำหนดราคาให้ชัดเจน จึงมองว่าเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
หากรัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาควรจะกำหนดราคารับซื้อที่ชัดเจน โดยยางก้อนถ้วยไม่ควรจะต่ำกว่ากิโลกรัมละ 25 - 30 บาท ยางแผ่นควรจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 - 60 บาท เกษตรกรจึงจะอยู่รอดได้ เพราะขณะนี้ในพื้นที่ อ.โนนสุวรรณ ยางก้อนถ้วยมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 10 บาท ยางแผ่นกิโลกรัมละ 33 - 35 บาท ดังนั้นแนวทางการช่วยเหลือในระยะสั้นควรจะกำหนดราคารับซื้อให้ชัดเจน ส่วนในระยะยาวควรวางแผนการซื้อขายอย่างเป็นระบบ
นายสวาท จำปาสา ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อ.โนนสุวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารากำลังประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนัก เหมือนกับตายทั้งเป็นเพราะไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร หวังพึ่งก็แต่รัฐบาลให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาราคายางที่ตกต่ำถึงขีดสุด แต่กลับไม่เป็นที่พอใจ
ส่วนกรณีที่รัฐบาลแนะนำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นเสริมนั้น คงไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะไม่รู้ว่าจะมีตลาดรองรับหรือไม่
ดังนั้นรัฐบาลควรมีการวางแผนแก้ปัญหาและช่วยเหลือเรื่องราคาพืชผลการเกษตรไว้ล่วงหน้า ไม่ควรปล่อยให้เกษตรกรเดือดร้อนหนักหรือออกมาเคลื่อนไหว ค่อยหาแนวทางแก้ปัญหาเป็นครั้งคราวไป
***ออมสินพร้อมปล่อยกู้แปรรูปยาง
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยืนยันว่าการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแปรรูปยางพาราขณะนี้ไม่มีปัญหาติดขัดใด ธนาคารยังคงให้กู้กับผู้ประกอบการแปรรูปยางพาราทุกรายเหมือนการให้สินเชื่ออุตสาหกรรมทั่วไปแต่ผู้กู้จะต้องเข้าเงื่อนไขเรื่องของหลักประกันและมีความสามารถในการชำระหนี้
ส่วนการให้กู้ตามโครงการของรัฐบาลนั้น ในขณะนี้ยังไม่มีนโยบายพิเศษใดๆ
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางพาราวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท ที่มีข้อติดขัดเงื่อนไขของธนาคารออมสินบางอย่างจึงยังไม่สามารถอนุมัติเงินกู้ได้
***อคส.นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ
พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า วันนี้ (13 ม.ค.) จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน หลังจากที่ อคส. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรปริมาณ 1 แสนตัน ส่วนวงเงินและแหล่งที่มา จะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนหลังจากหารือ และจะดำเนินการได้ทันที
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปลายเดือนม.ค.นี้ จะมีผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยางพาราจากประเทศกัมพูชา มาพบปะกับผู้ประกอบการไทย ซึ่งมีความต้องการสินค้ามูลค่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสินค้าหมอน ถุงมือยาง และที่นอนยางพารา และในต้นเดือน ก.พ. จะมีผู้นำเข้าจากรัสเซีย เข้ามาเจรจาธุรกิจเพื่อนำไปสู่การนำเข้ายางแผ่นและยางแท่ง ปริมาณ 80,000 ตัน