ตรัง - เครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ แถลงยื่น 3 ข้อเสนอที่ประชุมเน้นให้เกษตรกรมีส่วนร่วมมากที่สุดในการแก้ปัญหาราคายาง พร้อมให้เวลารัฐ 1 เดือน ผลักดันราคาอยู่ที่ 60 บาท
วันนี้ (12 ม.ค.) ที่ จ.ตรัง ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง (สกย.ตรัง) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศการเปิดเวทีประชุมเสวนาของเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ ในช่วงบ่ายว่า มีบรรดาเกษตรกรเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนกว่า 300 คน ซึ่งในช่วงบ่ายได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกษตรกรชาวสวนยางได้แสดงความคิดเห็นกันเป็นที่เรียบร้อย ทางเครือข่ายฯ นำโดย นายสมทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายฯ นายสุนทร รักษ์รงค์ แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง และสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และนายบุญส่ง นับทอง สมาคมสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้สรุปข้อเสนอ 3 ข้อเสนอไปยังรัฐบาล
ประกอบด้วย 1.ทางเครือข่ายฯ เห็นด้วย และสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐบาล 2.การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำตามข้อ 1 ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมให้มากที่สุด โดยมอบหมายให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงานกับเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง และเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 3.ให้เวลารัฐบาลในการผลักดันราคายางพารา เป้าหมายอยู่ที่ กก.ละ 60 บาท ภายใน 30 วัน
รายงานข่าวแจ้งว่า จากนั้นทางเครือข่ายฯ ได้ประกาศให้ทราบถึงผลการประชุม ครม.วันนี้ โดยมีการแต่งตั้งบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 15 คน ซึ่ง 1 ในจำนวนนั้น มี นายธีรพงษ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา และประธานเครือข่ายชาวสวนยางพังงา ซึ่งเดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย สายสถาบันเกษตรกร สร้างความยินดีให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก โดยเครือข่ายเกษตรกรภาคใต้การเสนอชื่อตัวแทนในการพิจารณาแต่งตั้งเป็นบอร์ดการยางฯ ครั้งนี้ 2 คน ประกอบด้วย นายธีรพงษ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงาและประธานเครือข่ายชาวสวนยางพังงา และนายประสิทธิ์ หมีดเส็น ซึ่งก็ได้รับการเห็นชอบจาก ครม.ทั้ง 2 คนดังกล่าว
ทั้งนี้ นายธีรพงษ์ ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกว่า ตนเพิ่งทราบข่าวว่าได้รับการแต่งตั้งเป็น 1 ใน 15 ของบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย โดยผ่าน ครม.เป็นที่เรียบร้อย จริงๆ แล้วตนรับทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนมาโดยตลอด คิดว่าเมื่อเข้าไปแล้วจะเร่งเข้าไปผลักดันในเรื่องของสวัสดิการ ซึ่งเกษตรกรเองประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียนบุตร ซึ่งเรื่องสวัสดิการมีอยู่แล้ว 7% ที่จะต้องดึงเข้ามาดูแลเกษตรกร ไม่ว่าจะตั้งเป็นกองทุนยังชีพ หรือกองทุนยืมเรียนที่จะให้ลูกหลานชาวสวนยางได้เรียน
ในส่วนของข้อเรียกร้องของทางเครือข่าย ตนคิดว่าน่าจะมีการสรุปผ่านสภาเกษตรกรแห่งชาติก่อน ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 13 มกราคม ถ้ามติของแกนนำทุกฝ่าตกผลึกตนก็จะนำไปผลักดันและเสนอต่อบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยต่อไป สำหรับเรื่องเร่งด่วน คิดว่าในเรื่องของการให้ พ.ร.บ.ควบคุมยาง ถ้ารัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ควบคุมยางได้ก็สามารถวางราคายางที่ต่ำสุด ที่เกษตรกรรับได้ไว้ว่าจะไม่ต่ำไปกว่านี้ ซึ่งถ้าต่ำไปกว่านี้รัฐบาลก็บอกว่าจะไม่มีการส่งออกยาง และจะมีผลกระทบต่อผู้รวบรวมยาง จึงต้องช่วยเหลือดึงราคายางขึ้นมาให้เหมาะสมที่เกษตรกรรับได้
นายธีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ราคายางที่เกษตรกรสามารถอยู่รอดได้ คิดถึงต้นทุน 2 ประเด็น ต้นทุนแรกที่ สนง.เศรษฐกิจการเกษตร คิดไว้ที่ กก.ละ 49 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้รวมค่าเสียโอกาส ค่าเสียภาษี เพราะฉะนั้นมองว่าราคาที่ 49 บาท ประการที่ 2 ต้นทุนที่คิดไว้ที่ 64 บาท เป็นต้นทุนรวมทั้งหมด จึงต้องพูดถึงตัวเลขที่ชัดเจน
ในส่วนของการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ตนคิดว่าการยางแห่งประเทศไทยมีมาตรการในการจัดสรรส่วนแบ่งการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อย หรือสถาบันเกษตร หากการยางแห่งประเทศไทยมีงบประมาณเพียงพอก็คงจะช่วยเหลือได้ หากมีไม่เพียงพอรัฐบาลก็ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยงบประมาณของรัฐบาลเองเพื่อจะได้เยียวยาเกษตรกร