xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ตู่”เล่นบทเลือดเย็น เมินสวนยางก่อม็อบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาเกษตรกร 6 จังหวัดภาคใต้(สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แลtสตูล)เตรียมข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพารา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ประเดิมงานสัปดาห์แรกหลังปีใหม่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เจอเรื่องปวดหัวทันที เมื่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในภาคใต้ ออกมาขู่ว่าจะนัดชุมนุม หากรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำให้ไม่ได้

การขึ้นลงของราคายางพารานั้น เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรมาตั้งแต่เริ่มมีการปลูกยางพาราในประเทศไทย แต่การลดลงของราคายางพารารอบนี้ กินเวลายาวนาน และความต่างของราคาเมื่อเทียบกับช่วงที่ราคาขึ้นไปสูงสุดนั้น ห่างกันราวฟ้ากับเหว

ราคายางพาราในประเทศไทย หากเอาราคายางแผ่นดิบที่รับซื้อในตลาดท้องถิ่นเป็นตัวชี้วัด พบว่าเคยขึ้นไปสูงสุดที่กิโลกรัมละ 181.90 บาท เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 ในช่วงปลายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนทืี่จะลดต่ำลงเรื่อยๆ จากความต้องการใช้ยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ลดต่ำลง และการลดลงของราคาน้ำมันปิโตรเลียมทำให้อุตสาหกรรมยางหันไปใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น

จนล่าสุด ราคายางแผ่นดิบตลาดท้องถิ่น เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 ลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 32.50 บาท และน้ำยางสดอยู่ที่ กิโลกรัมละ 28.50 บาท
เมื่อดูจากราคายางพาราที่ตกต่ำลงถึง 6 เท่า จากราคาที่เคยขึ้นไปสูงสุด คงไม่ต้องบอกว่า ผู้ปลูกยางพาราจะเดือดร้อนแสนสาหัสขนาดไหน

แม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราตามพื้นที่ปลูกในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรเทาความเดือดร้อน และยังมีชาวสวนยางจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว

วันที่ 4 มกราคม เปิดทำงานวันแรกของปี จึงมีข่าวออกมาว่า บรรดาแกนนำชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด ได้นัดประชุมแกนนำเป็นการเร่งด่วน ที่จังหวัดตรัง ในวันที่ 12 มกราคมนี้ เพื่อกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ

โดยมีข้อเสนอในเบื้องต้นว่า อาจจะเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว สั่งให้มีการจ่ายชดเชยเพื่อให้เกษตรกรขายยางแผ่นดิบได้ในราคากิโลกรัมละ 50 - 60 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ เพราะคาดว่าในช่วงเปิดกรีดยางพาราเดือนเมษายน-พฤษภาคม ราคาอาจตกลงมากไปกว่านี้ เพราะมียางในโกดังรัฐบาลมากกว่า 4 แสนตันเป็นตัวกดตลาดไว้

นอกจากนั้น จะมีการสรุปประเด็นปัญหาที่คาดว่าเป็นสาเหตุให้ราคายางพาราตกต่ำ จะเสนอให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีการเซ็นสัญญาขายยางให้เอกชนจีน เนื่องจากทางกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเชื่อว่าน่าจะมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น ไทยอาจจะเสียเปรียบจีนตามสัญญาดังกล่าว

ขณะที่ นายกาจบัณฑิตย์ รามมาก กรรมการสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในวันที่ 12 มกราคมนี้ ทางสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดจะรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อขอทราบแนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำจากรัฐบาล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนของชาวสวนยางมาแล้วถึง 3 ครั้ง ทั้งผ่าน มทบ.42 ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และยื่นให้แก่นายกรัฐมนตรี ที่ลงมาปฏิบัติภารกิจที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีคำตอบ หรือแนวทางความช่วยเหลือที่ชัดเจนจากผลพวงของราคายางพาราตกต่า

มีรายงานด้วยว่า ในการประชุมแกนนำสวนยางรายย่อยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 6 มกราคม ได้ข้อสรุปข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโดยด่วน ทั้งข้อเรียกร้องเดิม และข้อเรียกร้องใหม่เพิ่มเติม 3 ข้อ คือ 1.ให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนปัจจุบัน เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาแล้วให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์ม ส่งผลให้ราคาปาล์มตกต่ำ เมื่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็สั่งให้มีการขายยางแก่ประเทศจีน 2 แสนตันด้วยสัญญาที่เสียเปรียบ เป็นเหตุให้ราคายางลดลงอย่างเหนือความคาดหมาย 2.ต้องการให้รัฐบาลกำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นวาระประชาชนโดยด่วน และ 3.ให้รัฐบาลดำเนินโครงการให้ชาวบ้านหยุดกรีดยางพารา และจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้เพื่อให้ยางพาราออกสู่ท้องตลาดน้อยลง

หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ทางเกษตรกรชาวสวนยางจะมีการเสวนาในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มกราคมเป็นต้นไป จนกว่ารัฐบาลจะให้ความสนใจต่อข้อเรียกร้อง อีกทั้งยังมีมาตรการต่างๆ อีกมากเพื่อยกระดับความกดดัน โดยอาจจะไม่มีการชุมนุมแต่จะใช้มาตรการอดอาหาร และเปิดให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนลงรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสนใจ

ด้านสภาเกษตรกร 6 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ได้ประชุมร่วมกันที่สงขลา เมื่อวันที่ 7 มกราคม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งได้ข้อสรุป 10 ข้อ เป็นมาตรการเร่งด่วนที่จะขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ประเด็นสำคัญ เช่น ให้ประกันราคายางพารา น้ำยางสดที่กิโลกรัมละ 80 บาท พักหนี้เกษตรกรชาวสวนยางและให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย จัดโครงการสินค้าราคาประหยัดให้กับเกษตรกรครอบคลุมทุกตำบลและควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าเล่าเรียนบุตรหลานของเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นต้น

ทั้งนี้ สภาเกษตรกร 6 จังหวัดจะเสนอทั้ง 10 ข้อไปยังรัฐบาลโดยยื่นผ่านผู้ว่าราชการอีกครั้ง และจะให้เวลา 30 วัน หากไม่ได้รับความช่วยเหลือก็จะกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวต่อไป

เมื่อชาวสวนยางในภาคใต้เริ่มออกมาเคลื่อนไหว ฟากนักการเมืองก็ขยับตามทันที เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และแกนนำ กปปส. ออกมาเปิดเผยว่า แกนนำชาวสวนยางนัดมารวมตัวที่บ้านของตนใน จ.สงขลา เพื่อขอให้เป็นปากเสียงให้รัฐบาลแก้ไข หลังจากรัฐบาลนี้ได้ออกกฎหมายยุบองค์การสวนยางและศูนย์วิจัยการยาง มาเป็น “การยางแห่งประเทศไทย” ปรากฏว่าองค์กรใหม่นี้ยังไม่เคลื่อนไหวแก้ไขใด ๆ เลย บอร์ดชั่วคราวทั้ง 7 คนยังนั่งกินเงินเดือนอยู่เฉยๆ

นายถาวรยังเปรยๆ อีกว่า จะออกมาเดินขบวน แม้ตนเองมีคดีติดตัว 10 คดีแล้ว จะเพิ่มอีก 2-3 คดี เพื่อช่วยชาวบ้านคงไม่ตาย ขอให้เห็นใจครอบครัวชาวสวนยาง ไม่เช่นนั้นประกาศ คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ชาวบ้านจะร่วมกันฉีกทิ้งและยอมติดคุกดีกว่าให้ลูกเมียต้องอดตาย

ส่วนนายเจือ ราชสีห์ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้สนับสนุนข้อเรียกร้องชาวสวนยางที่ให้หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 สั่งการแก้ไขปัญหา รวมทั้งเห็นว่ารัฐบาลควรประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรี บังคับให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมการทำถนนทั่วประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น อย่าเพียงแค่ขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการเท่านั้น เพราะจะไม่เกิดผลการปฏิบัติจริง ขอให้กำลังใจชาวสวนยางทุกภาคของประเทศ ไม่อยากเห็นภาพการออกมาชุมนุม แต่ถือเป็นสิทธิของประชาชนที่ต้องการอยู่รอด

เมื่อการเคลื่อนไหวของชาวสวนยางเป็นกระแสดังขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาปรามทันที โดยเมื่อวันที่ 7 มกราคม ได้ให้สัมภาษณ์ว่า หากเกษตรกรจะชุมนุมวันที่ 12 นี้ ก็ชุมนุมไป ไม่มีประโยชน์ เพราะคงไม่ให้ตามนั้นอยู่แล้ว แต่จะช่วยในแบบวิธีการที่ยั่งยืน ถ้าจะออกมาชุมนุมก็ออกมา หากออกมาก็มีคดี ปัญหาราคายางตกต่ำนั้นมีการช่วยเหลืออยู่แล้วและกำลังทำอยู่ ที่บอกว่าทนไม่ไหวแล้ว จะทำอย่างไร ต้องปรับปรุง ปฏิรูปตัวเองด้วยหรือเปล่า ต้องปลูกพืชเสริมเพื่อช่วยเหลือตัวเองบ้างหรือเปล่า

พล.อ.ประยุทธ์บอกอีกว่า รัฐบาลกำลังทำรับเบอร์ซิตี้ กำลังสร้างโรงงานผลิตใหม่ กำลังแก้ไขในเรื่องของการนำไปสู่การทำถนนหนทาง ยางปูพื้น ปูสระ แต่มันจะเกิดวันเดียวได้หรือไม่ ชาวสวนเคยได้เงินชดเชยกันเท่าไหร่ เอาเงินจากไหน ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท กก.ละ 30 บาท และเงินที่ใช้แบบนี้กันอยู่ทุกวันเอามาจากไหน โครงการบรรเทาความเดือดร้อนไป 1,500 บาทต่อไร่ นั่นคือการให้ที่ถูกวิธี เคยแต่ให้ชดเชยไปเรื่อยเปื่อย ใช้เงินแบบทิ้งโครมๆ แล้ววันหลังจะใช้อะไรกัน

จากท่าทีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ทำตามข้อเรียกร้องของชาวสวนยางอย่างแน่นอน นั่นหมายความว่าชาวสวนยางเองจะต้องอดทนต่อความเดือดร้อนต่อไปได้ เพราะหากใช้วิธีการเคลื่อนไหวกดดันต่อรัฐบาลก็คงจะไม่ได้ผล






กำลังโหลดความคิดเห็น