xs
xsm
sm
md
lg

“จะเกิดอะไรเมื่อทุนใหญ่ผูกขาดครอบงำอำนาจรัฐบาลทหาร” แผนแม่บทยางพาราไทยฉบับชาวสวนฯ (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...สุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง และนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้

สถานการณ์และข้อเท็จจริง

บทความตอนที่แล้วได้เตือนรัฐบาลไว้ว่า ให้จับตาปี 2559 จะมีการเผชิญหน้าของคนจนกับนายทุน และวิเคราะห์ว่า “น้ำผึ้งหยดเดียว” มาจาก “รัฐอุดหนุน ทุนผูกขาด” ใน “ประชารัฐ” หรือยุทธการฝากปลาย่างไว้กับแมว หลายคนผิดหวังกับรัฐบาลทหารที่นับวันจะยิ่งถูกครอบงำโดยทุนใหญ่ผูกขาด และกำลังพาตัวเองเข้าสู่กับดักด้วยการขุดหลุมฝังตังเอง โดยที่ศัตรูอย่าง “ระบอบทักษิณ” กำลังนั่งยิ้มโดยไม่ต้องออกแรง

เกษตรกรชาวสวนยางกำลังจะกลายเป็นคนจนถาวร เพราะราคายางพาราตกต่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถึง 5 โล 100 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬได้ผูกคอตาย และล่าสุด ต้อนรับปีใหม่ 2559 ชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง ก็ผูกคอตายอีกราย จนกระทั่งแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ประกาศประชุมใหญ่ที่จังหวัดตรัง ในวันที่ 12 มกราคม 2559 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งอาจยกระดับเป็นการชุมนุมใหญ่ได้

เห็นท่านถาวร เสนเนียม ประกาศ พร้อมเป็นแกนนำม็อบชาวสวนยาง ในขณะที่นายกรัฐมนตรี เพิ่งลงพื้นที่ภาคใต้เมื่อ 28 ธันวาคม 2558 พร้อม “คิกออฟ” โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง มันเกิดอะไรขึ้น และสถานการณ์ทำไมถึงเลวร้ายมากขึ้นอย่างนี้?

1.การแก้ปัญหาที่ผิดพลาดของรัฐบาล กรณีสต๊อกยาง 3.6 แสนตัน เห็นด้วยครับที่ยกเลิกสัญญากับบริษัทไห่หนานของจีน แต่ทำไมรัฐบาลไม่ประกาศให้สต๊อกยางล็อตนี้เป็น Dead Stock กล่าวคือ ให้นำยางล็อตนี้มาบริหารจัดการเพื่อใช้ในประเทศ ใช้มาตรา 44 บังคับใช้ไปเลยครับ ยางเกือบ 4 แสนตัน ก็จะหายไปจากระบบ ส่งผลทางจิตวิทยาให้ราคายางขยับขึ้นเพราะพ่อค้าจะหยุดการเก็งกำไร และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้ยุติทำมาหากินกับสต๊อกยางล็อตนี้เสียที แต่ค่าหัวคิวฝากยางตารางเมตรละ 30 บาท จากที่รัฐต้องจ่ายทั้งหมด 80 บาท จับมือใครดมได้บ้างไหม หากินกันมานานนะเรื่องนี้ ตั้งแต่สต๊อกยาง 2.1 แสนตันน่ะ

2.ปัญหาความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย ที่ไปทำสัญญาจีทูจีกับซิโนเค็ม รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของจีน เพื่อขายยาง 2 แสนตัน โดยผู้ซื้อระบุต้องเอาสินค้าจากห้าเสือส่งออก ทำให้เกิดการกดราคารับซื้อยางจากเกษตรกรถึงกิโลกรัมละ 15 บาท

3.ปัญหาการมีส่วนร่วมของเกษตรกรชาวสวนยางที่ถูกกีดกันจากผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย ตั้งแต่การร่างระเบียบข้อบังคับ หรือกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย รวมถึงปัญหาการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย ที่มาจากผู้แทนเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วแต่ถูกประวิงเวลามาเกือบ 2 เดือน โดยที่ยังไม่เสนอ ครม.แต่งตั้ง อ้างตรวจสอบคุณสมบัติ มันฟังเหตุผลไม่ขึ้นครับ เพราะก่อนหน้านี้รีบกันจนแทบไม่มีเวลาหายใจเพื่อสรรหาให้มีบอร์ดครบ เพื่อให้การยางแห่งประเทศไทยได้เดินหน้า

4.การสรรหาผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยที่มีการข่าวลือเรื่องการล็อกสเปก โดยอดีตนักการเมืองที่เคยครองอำนาจในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาอย่างยาวนาน จนทำให้คนดีๆ มีความรู้ความสามารถที่เสียสละอาสามารับใช้เกษตรกรชาวสวนยาง ต้องถูกขีดชื่อออกอย่างไม่ยุติธรรม เรื่องนี้ต้องทบทวนครับ! ท่านรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

5.ปัญหาที่รัฐมนตรีขาดข้อมูลที่ถูกต้อง และถูกครอบงำจากข้าราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทยบางคนที่ไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทย ทำให้การแก้ปัญหาดังกล่าวหลงทิศหลงทาง และคำแนะนำดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญเรื่องยางไปไม่ถึงรัฐมนตรี เช่น กรณีการผ่ายางลูกขุนในสต๊อก เพื่อตรวจสอบคนโกงที่ผ่านมา ไปถึงไหนแล้วครับท่านรัฐมนตรี? หรือมีอะไรอุดปากคนรอบข้างท่านหมดแล้ว

6.ท่านนายกรัฐมนตรีครับ ช่วยใช้มาตรา 44 ตรวจสอบยางเถื่อน ที่ด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลาด้วย มีข่าวลือมานานว่าแอบลักลอบส่งน้ำยางข้นไปมาเลเซีย โดยไม่จ่ายภาษี cess ปีละประมาณ 500,000 ตัน ประเทศชาติเสียหายนับพันล้านบาท ถือเป็นการโกงชาวสวนยางที่น่าเกลียดที่สุด โดยทำกันเป็นขบวนการ ทั้งพ่อค้า และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งนักการเมืองภาคใต้รู้เรื่องนี้ดี

หากรัฐบาลทหารเปิดใจกว้างรับฟังเสียงจากคนจน และเกษตรกรชาวสวนยาง น่าจะมีทางออกจากวิกฤตมากกว่านี้ และการที่จะร่างแผนแม่บทยางพาราไทย เกษตรกรชาวสวนยางต้องศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลเป็น สังเคราะห์ข้อมูลได้ และต้องตีโจทย์ให้แตก เพื่อการเท่าทัน และนี่คืออีกหนึ่งบทเรียนของการเดินไปข้างหน้าครับ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น