ท่ามกลางปัญหาราคายางพาราตกต่ำชนิดดิ่งลงใกล้จะถึงก้นเหว จากที่ไม่กี่ปีก่อนเคยทะยานขึ้นไปแตะถึงกิโลกรัมละเกือบ 200 บาท แต่เวลานี้กับลดวูบลงมาเป็นที่เรียกขานกันสนุกปากว่า “สามโลร้อย” ซึ่งที่ผ่านมา มีกระแสเสียงเรียกร้องทั้งต่อเนื่อง และหนาหูให้รัฐบาลเข้าไปดูแลช่วยเหลือชาวสวนยางที่กำลังเดือดร้อนกันทั่วหน้า
อย่างไรก็ตาม บทบาทของผู้กุมกลไกอำนาจรัฐ รวมถึงทุกหน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในเวลานี้กลับยังไม่ปรากฏความชัดเจนว่าได้ดำเนินการอะไรไปให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วบ้าง ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับบรรยากาศทั่วไปในวงการยางพาราไทยกลับมากมายไปด้วยภาวะอึมครึม..!!
โดยเฉพาะบรรยากาศของความอึมครึมที่เกิดจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งประกอบขึ้นจากกลุ่มก๊วนนักการเมือง และนายทุน อันหนุนเนื่องด้วยบรรดาผู้คนที่กุมบังเหียนอำนาจรัฐ รวมถึงข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ที่แม้ในเวลานี้ราคาผลบิตยางจะตกต่ำแทบติดพื้น ชาวสวนยาง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเดือดร้อนกันถ้วนหน้า แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่วายที่จะหาช่องทางเพื่อให้ได้ผลประโยชน์
ภายหลังที่มีการทำคลอด “พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย” ออกมาแบบยังไม่สะเด็ดน้ำ ซึ่งมีข้อกำหนดสำคัญต้องเร่งรัดให้มีการสรรหา “ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย” คนแรก ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง ซึ่งที่ผ่านมา มีการเปิดรับสมัครไปแล้วถึง 2 รอบ โดยเวลานี้ยังอยู่ในกระบวนการเลือกสรรนั้น
ปรากฏว่า มีข่าวแพร่สะพัดว่า มีกลุ่มก๊วนนักการเมืองใหญ่ทั้งในภาคกลาง และอีสาน ซึ่งต่างก็มีกลุ่มทุนยักษ์หนุนหลัง ได้อาศัยเส้นสายคนที่เชื่อมโยงถึงบรรดาบิ๊กๆ ที่กุมกลไกอำนาจรัฐ รวมถึงระดับข้าราชการผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยผลักดัน “เด็กในคาถา” ให้ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ผู้ว่าการยางฯ” เพื่อแผ่อิทธิพลฮุบวงการธุรกิจยางไว้ในมือ
อีกไม่นานสังคมจะได้ยลโฉมหน้าผู้ที่จะได้ขึ้นนั่งบัลลังก์เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรการยางแห่งประเทศไทยอย่างแน่นอน แต่ ณ เวลานี้เรามาฟังเสียงสะท้อนจาก “ปราชญ์” “ผู้ใหญ่” และ “ผู้นำ” ในวงการยาง และการเกษตรของประเทศไทยเราดูกันว่า แต่ละท่านมีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร?!
เริ่มจาก “นายอภิชาต พันพิพัฒน์” นายกสมาคมน้ำยางข้นไทยมีมุมมองต่อเรื่องนี้ไว้ว่า
“ผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าการยางฯ ต้องมีความรู้เรื่องยางเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่ง ต้องเป็นคนมีวิสัยทัศน์ มีอุดมการณ์ ต้องไม่เป็นคนของพรรคการเมืองเป็นอันขาด”
“ที่ต้องมีความรู้ เพราะต้องมาดูแลพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ยางพาราเรามีการส่งออกนับแสนล้านบาทต่อปี เกี่ยวข้องผูกพันกับเกษตรกรในวงกว้าง นอกจากนี้ ต้องประสานกับทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร สมาคมพ่อค้าด้วย”
“ผู้ว่าการยางฯ ต้องหาแนวทางในการรักษาเสถียรภาพของราคายาง โดยอาศัยกลไกเครื่องมือทางการค้าที่มีอยู่ รวมถึงจากทุกองคาพยพ ไม่ใช่เข้ามาทำหน้าที่กำกับ แต่ต้องมีการประสานทุกกลไกที่เกี่ยวข้องในวงการยาง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน”
“ผมคิดว่าควรมีเวทีให้ผู้สมัครผู้ว่าการยางฯ แต่ละคนได้แสดงวิสัยทัศน์ และหากทำได้ในรายการทางโทรทัศน์เลยยิ่งเป็นเรื่องที่ดี”
ตามด้วย “นายขำ นุชิตศิริภัทรา” นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดตรัง อุปนายกสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย
“ผมอยากได้คนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศ ต้องเป็นคนที่รู้เรื่องยางพาราเป็นอย่างดี ผู้ว่าการยางหากเป็นลูกชาวสวนยางยิ่งดีมาก เพราะพืชนี้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ มันผูกพันกับชาวปักษ์ใต้เหมือนสายเลือด ต้องเข้าใจความเป็นอยู่ของชาวสวนยาง”
“ทุกวันนี้ปัญหาของชาวสวนยางมีมาก อยากให้คนรู้เรื่องยางเข้ามาช่วยคิดช่วยแก้ปัญหากับรัฐบาลจริงๆ”
ต่อด้วยมุมมองของ “นายประยงค์ รณรงค์” นอกจากจะเป็นปราชญ์ของชาวสวนยางแล้ว ยังเป็นที่ยอมรับว่าเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดินด้วย และคือผู้ที่รางวัลแมกไซไซเป็นเครื่องการันตี
“อยากได้ผู้ว่าการยางฯ ให้เป็นคนที่มีความรู้มีความเข้าใจเรื่องยางเป็นอย่างดี อย่าให้เหมือนในอดีตที่มีคนคิดแผลงๆ พูดแต่ความร่ำรวย ไม่ได้เห็นความเป็นจริงของชีวิตชาวสวนยางขึ้นมานั่งบริหารเรื่องยาง”
“เราควรเน้นความมั่นคงของเกษตรกรชาวสวนยาง เพราะการปลูกยางถือเป็นพืชที่ผูกติดกับชีวิตคนภาคใต้มาเป็นชั่วอายุคน จะให้ชาวสวนยางปรับเปลี่ยนฉับพลันคงไม่ได้ ขอให้ผู้ว่าการยางฯ ต้องเน้นความมั่นคงในชีวิตของชาวสวนยางเป็นสำคัญ”
“ควรให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมต้นน้ำของผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ชาวสวนทำได้ ซึ่งทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถกำหนดคุณภาพของยาง น้ำหนัก และราคาได้ ก่อนที่จะนำไปขายในตลาดกลาง”
สุดท้ายเป็นเสียงสะท้อนของ “นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเวลานี้เป็นประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
“คนที่จะเป็นผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยควรเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องยางเป็นอย่างดี มีความเสียสละ และต้องรู้จักกับชาวสวนยางด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางก็ได้ เพราะเข้ามาทำหน้าที่บริหาร”
“สิ่งที่ผมอยากจะคาดหวังก็คือ ผู้ว่าการยางฯ ควรเข้ามาแก้ไขปัญหาเสถียรภาพของราคา และสร้างความเป็นธรรมด้านราคายางให้แก่เกษตรกร”