ศูนย์ข่าวภาคใต้ - แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง เผยแพร่แถลงการณ์ปลุกชาวสวนยางเคลื่อนไหวอหิงสาต้านขบวนการงาบเงินภาษีส่งออกยาง แฉกลุ่มนายทุนฮั้วกับนักการเมืองบล็อกโหวตเลือกคนของตนเองเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย ชี้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชาวสวนได้จริง วอนรัฐเร่งจัดการ
วันนี้ (23 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 ก.ย.) นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานกลุ่มแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ได้เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง เรื่อง ประกาศเขตภัยพิบัติ ราคายางพาราตกต่ำ โดยระบุว่า
“จากภาวะวิกฤตราคายางพาราตกต่ำทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส บางคนฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถทนอยู่ในสภาพแห่งความทุกข์หนักได้ ของแพง ยางถูก ลูกอด รถถูกยึด กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง สาเหตุจากยาง 3 กิโลร้อย หลายคนไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน และต้องออกจากการเรียน
ประกอบกับมีแนวโน้มว่าการยางแห่งประเทศไทย จะมีการออกประกาศเรื่องการจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้พี่น้องชาวสวนยางชายขอบ อันประกอบด้วย ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และคนกรีดยางในที่ดินดังกล่าวไม่สามารถจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางได้
มีผลทำให้ไม่ได้รับสิทธิ และผลประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งๆ ที่ชาวสวนยางชายขอบเหล่านี้ได้จ่ายภาษี cess จากน้ำยางทุกหยด จากต้นยางทุกต้นมาโดยตลอดระยะเวลา 50 ปี ยางพาราไทย
แต่ชาวสวนยางชายขอบเหล่านี้กลับไม่เคยได้รับการเยียวยา และความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงราคายางพารา โครงการชดเชยรายได้ให้เกษตรกร 2,520 บาทต่อไร่ และ 1,000 บาทต่อไร่ที่ผ่านมา
อีกทั้งในตอนนี้การยางแห่งประเทศไทยกำลังถูกครอบงำจากกลุ่มทุน และนักการเมือง จากวงการอ้อย และน้ำตาลภาคอีสาน โดยวางแผนยึดอำนาจ และผูกขาดผ่านคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดการยาง ที่มีการเลือกตั้งกำมะลอ และสกปรก
มีผู้อ้างตัวว่าเป็นแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ รับเงินจากนักการเมืองภาคอีสานมาใช้จูงใจให้เลือกตัวเองในการเข้าสู่บอร์ดการยางเพื่อไปรับใช้นักการเมืองดังกล่าว อันเป็นการทรยศต่อพี่น้องชาวสวนยางในภาคใต้อย่างน่าละอายที่สุด
อีกทั้งวิธีการเลือกตั้งดำเนินการไปอย่างผิดกฎหมาย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ดังความล้มเหลวในการเลือกตั้งบอร์ดการยางฯ ของโควตาภาคใต้เมื่อ 21-22 กันยายน 58 ที่โรงแรมเดอะวัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เพราะมีหลายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางประกาศถอนตัว เช่น สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ โดย นายสุนทร รักษ์รงค์ ชุมชนสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย โดยนายชำนาญ เมฆตรง
วิกฤตซ้ำกระหน่ำซัดชาวสวนยางชายขอบ เมื่อคนจนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลด้วยการโค่นยางพารา เพราะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่ทำตามคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 จนชาวสวนยางร้องไห้ และไม่มีทางออก
ทางแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้วยความเป็นห่วงพี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศ จึงได้มีการประชุมร่วมกัน และมีมติให้สมาชิกแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางจากทั่วประเทศติดป้ายประกาศ “เขตภัยพิบัติ ราคายางพาราตกต่ำ” ในพื้นที่ทุกจังหวัด เพื่อแสดงออกอย่างสงบให้ผู้มีอำนาจรัฐได้เห็นถึงพลังความสามัคคี เพื่อให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยางโดยเร่งด่วนต่อไป”