ประชุม คสช. ห่วงสภาพอากาศหนาว สั่งดูแล ปชช.ป้องกันอุบัติภัยบนถนน และวาตภัย สร้างสังคมเกื้อกูลตามนโยบายรัฐ เปิดตลาดซื้อยาง 373 ตลาด กำชับให้ชาวสวนได้ประโยชน์โดยตรง สร้างการรับรู้ภัยแล้ง พร้อมเร่งรองรับผลผลิตพืชน้ำน้อย รับได้รับความร่วมมือจำกัดผักตบชวาดี เริ่มปักธงแสดงแนวเขตการสร้างเขื่อนริมคลองลาดพร้าว แจง ปชช.ตอบรับนโยบายรัฐดี ส่งผลให้งานคืบหน้า
วันนี้ (25 ม.ค.) พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า การประชุมสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในเช้านี้ พล.อ.วลิต โรจนภักดี รองเลขาธิการ คสช.เป็นประธาน ได้แสดงความห่วงใยถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนอยู่ในขณะนี้ พร้อมกำชับให้ทุกส่วนเข้าดูแลและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องอากาศที่หนาวเย็นที่ต้องดูแลการแจกจ่ายเครื่องกันหนาว และการดูแลด้านสุขภาพ ในเรื่องการป้องกันอุบัติภัยในท้องถนนจากทัศนวิสัยที่จำกัดต่อการขับขี่ ให้เพิ่มมาตรการอำนวยการจราจร สัญญาณไฟ เข้มงวดในมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนนกับรถบริการสาธารณะ การเพิ่มเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบนท้องถนน ส่วนในเรื่องวาตภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย และฝ่ายปกครอง เข้าดูแลประชาชนที่บ้านเรือนเสียหายโดยทันที ทั้งนี้ ให้ทุกส่วนช่วยกันแจ้งเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องอุบัติภัย อัคคีภัย การดูแลบ้านเรือนให้มีความแข็งแรง โดยในทุกการช่วยเหลือขอให้ชุมชน หรือท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลผู้ที่มีความเดือดร้อน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเกื้อกูล ความรักความสามัคคีและความปรองดองสมานฉันท์ ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและ คสช. ที่มุ่งดูแลให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และยังเป็นความห่วงใยของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อประชาชนด้วย
สำหรับการเริ่มมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศด้วยการเปิดตลาดรับซื้อยางนั้น คสช.โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ได้เข้าช่วยกำกับดูแลและสนับสนุนการรับซื้อดังกล่าวตามที่รัฐบาลมอบหมายนั้น ในวันนี้การยางแห่งประเทศไทยกำหนดเปิดตลาดรับซื้อยาง จำนวน 373 ตลาด ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ (ภาคใต้ 320 ตลาด ใน 13 จังหวัด, ภาคตะวันออก 13 ตลาด ใน 4 จังหวัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 28 ตลาด ใน 10 จังหวัด, ภาคเหนือ 12 ตลาด ใน 8 จังหวัด) ซึ่งรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้กำชับให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยดำเนินการด้วยความรอบคอบเป็นไปตามมาตรการและขั้นตอนที่ภาครัฐกำหนด ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง มีความเป็นธรรม รวมทั้งให้มีการประเมินผลการปฏิบัติด้วย
ส่วนการปฏิบัติงานของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ขณะนี้ได้มีการสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและผู้นำชุมชนถึงสถานการณ์น้ำและวิกฤตภัยแล้งตลอดจนชี้แจงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ควบคู่ไปกับการสำรวจความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้พบว่ามีเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสานเข้าร่วมโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย 167,890 ครัวเรือน และโครงการปรับเปลี่ยนอาชีพทดแทนการทำนาปรัง 819,703 ครัวเรือน ซึ่งภาครัฐกำลังเร่งดูแลเรื่องการรองรับผลผลิตจากเกษตรกรและดูแลช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ในงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของศูนย์ดำรงธรรม กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ตำรวจและฝ่ายปกครองในพื้นที่ ยังคงเข้าช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกใน จ.พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ การดูแลกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ อ.เอราวัณ จ.เลย การกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำ ซึ่งได้รับความร่วมมือร่วมใจเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ทำให้ช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถกำจัดผักตบชวาได้ถึง 1,727 ตัน และจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วนความคืบหน้าในการสนับสนุน “การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ” ที่คลองลาดพร้าว กทม.นั้น ขณะนี้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย และส่วนราชการที่รับผิดชอบได้ดำเนินการปักธงแสดงแนวเขตการสร้างเขื่อนริมคลองเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นระยะทาง 45.2กิโลเมตร จากนั้นจะเริ่มการก่อสร้างเขื่อนตามแผนงานต่อไป ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากประชาชนริมคลองให้ดำเนินการตามแผนงานที่ทางราชการกำหนด
อย่างไรก็ตาม ในทุกการปฏิบัติงานทั้งในเรื่องการสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะงานเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล การดูแลความสงบเรียบร้อยและงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ที่ผ่านมา คสช.และเจ้าหน้าที่ทุกส่วนได้รับความร่วมมือและการตอบรับที่ดีจากประชาชน เป็นผลให้มีความคืบหน้าในการดำเนินงานในทุกเรื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน คสช.จึงขอขอบคุณในความร่วมมือและความตั้งใจจริงของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้เดินไปข้างหน้าตามโรดแม็ปที่วางไว้