ศูนย์ข่าวภูเก็ต - บรรยากาศการรับซื้อยางวันแรกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนไม่คึกคัก แกนนำที่สุราษฎร์ฯ ยื่นหนังสือถึง คสช.ช่วยชาวสวนยางไม่มีเอกสารสิทธิ
วันนี้ (25 ม.ค.) ที่จุดรับซื้อยางพาราตามโครงการช่วยเหลือของรัฐบาลรับซื้อกิโลกรัมละ 45 บาทเป็นวันแรก ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจุดนำร่อง 1 ใน 7 ของจังหวัดที่มีความพร้อมในการรับซื้อยางวันนี้ ในช่วงเช้า เกษตรกรทยอยเดินทางมาขายยางเรื่อยๆ โดยมี นายทวีศักดิ์ แซ่ลิ่ม อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 180 ม.3 ต.คลองปราบ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เข้าคิวเป็นคนแรก พร้อมกล่าวว่า ดูข่าวทางทีวีทุกวัน และคิดว่ารัฐบาลช่วยเหลือถูกทางแล้ว แต่ทั้งนี้ หากเป็นไปได้อยากได้ราคากิโลกรัมละ 60 บาท ต่อมา เมื่อเวลา 09.00 น. นายสุรพล จารุพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเดินทางมาตรวจสอบความเรียบร้อยเป็นจุดแรก พร้อมสอบถามเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่ามีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ รวมทั้งสอบถามเกษตรกรชาวสวนยาง
ขณะเดียวกัน นายกิตติศักดิ์ วิโรจน์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี พร้อมคณะได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ผ่านทางผู้ตรวจฯ โดยยื่น 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิสามารถจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ข้อ 2.ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิได้รับความชาวเหลือจากรัฐบาลตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง 1,500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ และ 3.ให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิได้รับสิทธิตามแนวทางการช่วยเหลือเพื่อรับซื้อยางประเภทต่างๆ จากเกษตรกรรายย่อยโดยตรงในราคาชี้นำตลาด 45 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีทางผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะนำหนังสือดังกล่าวนำเสนอต่อรัฐบาล และการยางแห่งประเทศไทยต่อไป พร้อมกับกล่าวว่า การซื้อยางวันแรกชาวสวนยางให้ความสนใจพอสมควร
นอกจากนั้น นายกิตติศักดิ์ ยังได้ยื่นหนังสือต่อ พล.ต.วิชัย ทัศนมณเทียร ผู้บังคับการมณทลทหารราบที่ 25 ตามขั้นตอนอีกด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับราคายางในตลาดทั่วไปราคาลดลงประมาณกิโลกรัมละ 1-2 บาท และเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมขายน้ำยางเพราะได้เงินสด และไม่ต้องเสียเวลาเข้าคิวยาว
ส่วนที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย จ.กระบี่ ถนนสุดมงคล ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.กระบี่ บรรยากาศเปิดจุดรับซื้อยางพาราวันแรกตามโครงการรับซื้อยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 จากเกษตรกรโดยตรงในราคา กก.ละ 45 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พบว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีเกษตรนำยางพารามาขายเพียงไม่กี่ราย
น.ส.ธันย์ชนก ไพทูรย์ อายุ 38 ปี เกษตรกรชาวสวนยางในอำเภอเขาพนม กล่าวว่า ได้นำยางพารามาขายที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย จ.กระบี่ เนื่องจากเห็นว่าสามารถขายได้ในราคา กก.ละ 45 บาท แต่ไม่รู้ว่าขายได้เพียง 150 กก.เท่านั้น จึงนำยางที่มีอยู่ทั้งหมดมาขายจำนวนกว่า 300 กิโลกรัม แต่ขายได้เพียง 150 กิโลกรัมเท่านั้น เนื่องจากได้ขึ้นทะเบียนไว้ จำนวน 28 ไร่ เข้าใจว่าขายได้ครั้งละ 150 กิโลกรัม หากรู้ว่าขายได้เพียงครั้งเดียวก็จะไม่นำมาขายเพราะไม่คุ้มค่าเดินทาง
ด้าน นายดำรงค์ ธรรมเพชร รักษาการ ผอ.สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดกระบี่ ได้เปิดจุดรับซื้อยางพาราทั้งหมด รวม 13 จุดใน 8 อำเภอ มีเกษตรกรชาวสวนยางพารา และคนงานกรีดยาง จังหวัดกระบี่ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ต่อการยางแห่งประเทศไทย รวมจำนวน 35,633 ราย ซึ่งวันนี้พบว่า ช่วงเช้าบรรยากาศไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องจากเกษตรกรเห็นว่า ราคายางเริ่มขยับขึ้นมาเมื่อบวกกับตุนทุนค่าเดินทางไม่ต่างกับราคาโครงการรับซื้อมากนัก จึงไม่คุ้มทุน เกษตรกรจึงยังไม่นำยางมาขาย เพื่อรอดูท่าทีของราคายางอีกระยะ
ขณะที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดพังงา นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา และบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายสุทีป สุธาประดิษฐ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพังงา นายศิลป์ชัย วิฑูรย์พิศาลศิลป์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดพังงา และ พ.อ.สุรชัย ไตรยางค์ สัสดีจังหวัดพังงา ร่วมเปิดตลาดรับซื้อยางตามโครงการส่งเสริมใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ โดยให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รับซื้อยางจากเกษตรกรสวนยางรายย่อยรายละไม่เกิน 150 กิโลกรัม โดยจะรับซื้อยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 กิโลกรัมละ 45 บาท น้ำยางสด กิโลกรัมละ 42 บาท (ปริมาณเนื้อยางแห้ง 100%) และยางก้อนถ้วย กิโลกรัมละ 41 บาท (ปริมาณเนื้อยางแห้ง 100%) ส่วนบรรยากาศในการรับซื้อวันแรกค่อนข้างเงียบเหงา มีชาวสวนยางนำยางมาขายเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยทั้งวันมีเกษตรกรนำยางมาขายรวม 24 รายเท่านั้น
ที่จังหวัดระนอง เกษตรกรชาวสวนยางพารา ทยอยนำยางพาราชนิดต่างๆ มาขายตามจุดรับซื้อท่ามกลางบรรยากาศฝนตกเล็กน้อย นายธงไชย วิจิตรเวชการ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดระนอง กล่าวว่า เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ต่อการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดระนอง สามารถนำยางพารามาขายได้ตามจุดต่างๆ ที่ ทาง กยท.จังหวัดระนอง ได้แจ้งให้เกษตรกรทราบไปแล้วทั้ง 7 จุด คือ 1) สหกรณ์กองทุนสวนยางคอคอดกระ จำกัด 79/2 หมู่ 7 ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี 2) สหกรณ์กองทุนสวนยาง จปร. จำกัด 130/4หมู่ 5 ตำบล จปร. อำเภอกระบุรี 3) สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านบางแก้ว จำกัด 8/3 หมู่ 5 ตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น 4) กลุ่มชาวสวนยาง สกย.บ้านฝ่ายคลองน้ำจืด ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี 5) กลุ่มชาวสวนยาง สกย.บ้านกะเปอร์ 37 หมู่ 5 ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ 6) กลุ่มชาวสวนยาง สกย.บ้านโตนกลอย อำเภอกะเปอร์ 7) กลุ่มชาวสวนยาง สกย.บ้านบางนอน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นจุดรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น ทั้งที่เป็นสมาชิก และไม่ใช่สมาชิก แต่ต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้ต่อ กยท. และหากเกษตรกรนำยางมาขายเกินกว่าสิทธิก็จะมีการประมูลซื้อขายตามประเภท หรือสภาพของยางให้เป็นไปตามกลไกตลาด ตั้งแต่วันที่ 25มกราคม-มิถุนายน 2559 และการจ่ายเงินจะจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส. เพื่อให้เงินถึงพี่น้องชาวสวนยางโดยตรง