xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 17-23 ม.ค.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.แพทย์สุดยื้อ “ปอ ทฤษฎี” เสียชีวิตอย่างสงบ - “ในหลวง” พระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ 24 ม.ค.นี้!
(ล่างซ้าย) ปอ ทฤษฎี พร้อมโบว์ แวนดา และน้องมะลิ (ล่างขวา) ปอแบ่งที่ดินของตนเองให้ชาวนาได้ปลูกข้าวโดยไม่คิดค่าเช่าแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ออกประกาศฉบับที่ 19 ชี้แจงอาการป่วยของ “ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์” นักแสดงชื่อดังว่า ตามที่ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2558 ด้วยปัญหาไข้เลือดออกชนิดรุนแรง ทำให้เม็ดเลือดขาวถูกกระตุ้นอย่างมากจนทำลายเซลล์เม็ดเลือดอื่นๆ และมีภาวะตกเลือดอย่างมากในช่องเยื่อหุ้มปอดซ้าย ส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลว ภาวะตับวายและภาวะไตวายเฉียบพลัน จำเป็นต้องให้การรักษาโดยการฟอกไตเทียม ใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ และผ่าตัดเพื่อหยุดเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มปอดซ้าย

ประกาศ รพ.รามาธิบดี ระบุด้วยว่า ระหว่างรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนสำคัญเพิ่มเติมหลายประการ ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันที่ขา จำเป็นต้องตัดขาซ้าย ปอดทั้งสองข้างติดเชื้อและมีลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดด้านซ้าย จำเป็นต้องผ่าตัดปอดซ้ายออก มีเลือดออกซ้ำๆ ในกระเพราะอาหารและลำไส้ใหญ่มาโดยตลอด จำเป็นต้องส่องกล้องและผ่าตัดเพื่อหยุดเลือดออกเป็นระยะ ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ภาวะปอดขวาที่ติดเชื้อลุกลามขึ้น ทำให้อาการผู้ป่วยทรงกับทรุดมาโดยตลอด จนไม่ตอบสนองต่อการรักษาและถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในเวลา 11.50 น. วันที่ 18 ม.ค.

ทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลรามาธิบดี ยังได้มีจดหมายถึงครอบครัว “สหวงษ์” ในเวลาต่อมา โดยแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง พร้อมชื่นชม ปอ ทฤษฎี เปรียบเสมือนครูแพทย์ท่านหนึ่ง เพราะแม้ปอจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังยินดีให้ผ่าศพพิสูจน์ เพื่อเป็นประโยชน์ทางการแพทย์และผู้ป่วยรายต่อๆ ไป จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมปอจึงเป็นที่รักของทุกคน

ทั้งนี้ ปอ ทฤษฎี เกิดเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2523 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวิทยาการจัดการ สาขาบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เคยทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อนลาออกและเป็นนักแสดงในเวลาต่อมา ผลงานเรื่องแรก คือเรื่อง “ลิขสิทธิ์หัวใจ” จากนั้นมีผลงานตามมาอีกประมาณ 30 เรื่อง เช่น “มนต์รักลูกทุ่ง” , “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา” , “ทัดดาว บุษยา” , “ดาวเรือง” รวมถึงเรื่อง “สาวน้อยร้อยล้าน” ที่กำลังแพร่ภาพอยู่ในขณะนี้ และ “ท่านชายกำมะลอ” ที่อยู่ระหว่างรอออกอากาศ

สำหรับสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจสูงสุดด้านการแสดงของปอ คือ ได้รับบทนำเป็น “พระมหาชนก” ในละครเพลงกลางน้ำ “พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธ.ค.2557 และในปี 2558 ยังได้ร่วมถ่ายทำมิวสิกวิดีโอเพลง “ปั่นจักรยาน” เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD”

สำหรับชีวิตครอบครัว ปอ ทฤษฎี จดทะเบียนสมรสกับ น.ส.แวนดา มุททาสุวรรณ หรือโบว์ อดีตผู้ประกาศข่าวช่อง T-Sports ทางทรูวิชั่นส์ หลังคบหากันมากว่า 10 ปี โดยมีบุตรสาว 1 คน วัย 2 ขวบ ชื่อ ด.ญ.พาขวัญ สหวงษ์ หรือ “น้องมะลิ”

ผู้ที่รู้จักหรือได้ร่วมงานกับปอ ทฤษฎี จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปออัธยาศัยดีมาก มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่นและช่วยงานสังคมอยู่เสมอ โดยปอเคยได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่ จากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2552, ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตของสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลก(World Society for the Protection of Animals-WSPA) ประจำปี 2551-2556 ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับแต่งตั้ง รวมทั้งได้รับประทานโล่ประกาศเกียรติคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากราชบัณฑิตยสถาน ปี 2552, รางวัลบุคคลต้นแบบ ประจำปี 2554 จากงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ,รางวัลมณีเมขลา ประจำปี 2555 ฯลฯ

ปอ ทฤษฎี เป็นนักแสดงตัวอย่างที่ปฏิบัติตนเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต ด้วยการทำไร่นาสวนผสมที่บ้านเกิด จ.บุรีรัมย์ พร้อมกับแบ่งปันที่ดินให้ชาวนาปลูกข้าวโดยไม่คิดค่าเช่าแต่อย่างใด

สำหรับพิธีศพปอ ทฤษฎี มีขึ้นที่วัดกลางพระอารามหลวง จ.บุรีรัมย์ บ้านเกิด โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ โปรดให้นายสุริยพันธ์ ราชวังเมือง ผู้ช่วยผู้ควบคุวังเทเวศร์ เชิญน้ำหลวงอาบศพและพวงมาลาประทานวางที่หน้าหีบศพปอ ทฤษฎี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 19 ม.ค. ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเพลิงศพปอ ทฤษฎี เป็นกรณีพิเศษในวันอาทิตย์ที่ 24 ม.ค.เวลา 16.00 น. ซึ่งทางจังหวัดคาดว่า จะมีประชาชนและผู้ที่รักปอไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพนับแสนคน ขณะที่แต่ละวันมีผู้ไปเคารพศพปอไม่ต่ำกว่าวันละ 1 หมื่นคน

2.ปชป. ประกาศตัดขาด “สุขุมพันธุ์” เหตุบริหาร กทม.เอกเทศไม่สนพรรค ด้านทีมงานสุขุมพันธุ์ประชุมด่วน ยันทำงานต่อ ไม่ลาออกจากพรรค!

(บน) นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการ ปชป.พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค แถลงจุดยืนพรรค (ล่าง) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ร่วมกันแถลงจุดยืนความรับผิดชอบของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการบริหารงาน กทม. ซึ่งมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม.ว่า หลังจากที่พรรคให้เวลา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แก้ปัญหาการทุจริตต่างๆ มาพอสมควรในการปรับวิธีคิดและแนวทางการทำงาน แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อสมาชิกพรรคและประชาชนชาว กทม. พรรคขอแสดงจุดยืนว่า ต่อไปนี้พรรคไม่สามารถแสดงความรับผิดชอบร่วมกับการทำงานของ กทม.อีกต่อไป และไม่สามารถดำเนินกิจการทางการเมืองร่วมกัน และว่า “พรรคเปิดทางให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ตัดสินใจตามทัศนคติตนเอง เพราะถึงเวลาที่ต้องให้ผู้ว่าฯ กทม.รับผิดชอบต่อการบริหารงานของตัวเอง ซึ่งพรรคขอขอบคุณที่เคยมีผลงานกับพรรคและประเทศ หวังว่าจะประสบความสำเร็จในการบริหารงานตามทัศนคติของตัวเอง และขอย้ำว่า พรรคไม่มีการโกรธเคืองใดๆ กับ ม.รว.สุขุมพันธุ์ เพียงแต่มีมุมมอง ทัศนคติที่แตกต่างกัน เพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย... และการตัดสินใจครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเรื่องเงินสนับสนุน แต่เป็นเรื่องการเคารพระบบพรรค”

นายจุติ ยอมรับด้วยว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องหมูๆ ที่จะตัดสินใจ โดยที่ผ่านมามีความพยายามประสานงานโดยตลอด แต่ไม่ประสบผลสำเร็จจนมาถึงวันนี้ ส่วนบุคลากรของพรรคที่ไปทำงานร่วมกับ กทม. ก็ต้องตัดสินใจเอาเองว่าจะทำอย่างไร และยังบอกไม่ได้ว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะมีผลต่อการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน โดยในขณะนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังถือเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่ เพราะพรรคไม่สามารถเปิดการประชุมได้ แต่จะตัดสินใจลาออกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับท่านจะพิจารณาเอง และยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเพียงความความคิดเห็นที่แตกต่างในการทำงาน ไม่ใช่เป็นความแตกแยก เมื่อไม่สามารถประชุมพรรคได้ รวมถึงสมาชิกทั้งประเทศและใน กทม.อยากได้ความชัดเจน เราจำเป็นต้องแสดงจุดยืนของพรรค”

ด้านนายองอาจ กล่าวเสริมว่า ก่อนตัดสินใจครั้งนี้ ได้สอบถามกรรมการบริหารพรรคทุกคนแล้ว เป็นการตัดสินใจร่วมกันของกรรมการบริหารและหัวหน้าพรรค มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ส่วนมากเห็นด้วย และว่า หลังจากที่ตนได้รับมอบหมายให้ไปสำรวจความเห็นของสมาชิกพรรคในกรณีนี้แล้ว ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย นายองอาจ กล่าวด้วยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรกของพรรค ที่ผ่านมาพรรคเคยมีมติขับนายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา ส.ก.บางรัก ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคจากกรณีเข้าชิงตำแหน่งประธาน ส.ก.แข่งกับนายสมชาย เวสารัชตระกูล ส.ก.เขตสายไหม ทั้งที่พรรคมีมติให้ส่งรายชื่อเดียวมาแล้ว แต่กรณีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ไม่สามารถที่จะเปิดประชุมได้ จึงเพียงแต่แสดงจุดยืนของพรรคให้ประชาชนรับทราบ หาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ไม่ลาออกจากรองหัวหน้าพรรค และพรรคสามารถเปิดประชุมได้จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ต่อไปอย่างไรนั้น คงตอบไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบการตัดสินใจของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยเชื่อว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ภายในพรรค หรือทำให้มี ส.ส.แยกตัวออกจากพรรคไป และการตรวจสอบต่างๆ ก็จะดำเนินการตามปกติ

ส่วนกรณีคนของพรรคที่ไปร่วมบริหารงานกับ กทม. เช่น นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม. และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ควรจะมีการพิจารณาตนเองด้วยหรือไม่ นายองอาจ กล่าวว่า เชื่อว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีวิจารณญาณเป็นของตนเองว่าจะพิจารณาอย่างไร จะเลือกผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก หรือผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งนี้ อนาคตทางการเมืองของบุคคลเหล่านี้จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่ว่าเขาจะตัดสินใจเลือกฝั่งใด

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อยู่ระหว่างปฏิบัติราชการที่กรุงลิสบอน และเมืองปอร์โต สาธารณรัฐโปรตุเกส เพื่อลงนามความตกลงการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่าง กทม.กับกรุงลิสบอนระหว่างวันที่ 17-23 ม.ค.

ด้านนายวสันต์ มีวงษ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะโฆษกประจำตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์แถลงข่าวตัดขาดความรับผิดชอบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.ว่า ต้องพิจาณาว่าการแถลงดังกล่าวเป็นมติในนามของพรรค หรือเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคำสั่งห้ามประชุมพรรค และว่า ที่ผ่านมาที่พรรคไม่สามารถติดต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ เพราะติดภารกิจต่างๆ อาทิ ปั่นเพื่อแม่ ปั่นเพื่อพ่อ หรืองานสำคัญๆ

นายวสันต์ ยังยืนยันด้วยว่า การทำงานตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบจากทุกฝ่าย และได้ประสานกับพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด แต่ขณะนี้สังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปีสุดท้ายของการเป็นผู้ว่าฯ กทม. จึงไม่ทราบว่า เป็นความต้องการให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หรือไม่ แต่ยังเชื่อการใช้อำนาจในดุลยพินิจของนายกฯ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม. ได้เรียกประชุมด่วนคณะผู้บริหาร กทม.ฝ่ายการเมือง ก่อนเปิดแถลงว่า จากการหารือร่วมกันและได้หารือกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ซึ่งติดภารกิจอยู่ต่างประเทศแล้ว ยืนยันว่า ผู้ว่าฯ กทม.และคณะผู้บริหาร กทม.ทุกคนยังคงทำงานต่อไป และไม่ลาออกจากพรรค ปชป. โดยยินดีให้ความร่วมมือกับทุกคนที่มีข้อสงสัยและต้องการตรวจสอบการทำงานของ กทม.ตามขั้นตอนของกฎหมาย

3.มติ มส. เสนอตั้ง “สมเด็จช่วง” เป็นพระสังฆราชส่อโมฆะ “ไพบูลย์” ร้องผู้ตรวจการฯ วินิจฉัย ม.7 พ.ร.บ.สงฆ์ ระบุต้องเริ่มที่นายกฯ ด้าน “จตุพร” เหน็บ นรกจะกินกบาล!

(บน) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สปช.ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ เกี่ยวกับการเสนอรายชื่อพระสังฆราช (ล่าง) รถยนต์หรูของสมเด็จช่วงในพิพิธภัณฑ์วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ความคืบหน้ากระแสคัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ หลังกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ได้ประชุมลับเสนอชื่อสมเด็จช่วงตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ม.ค.และมีมติรับรองเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ขณะที่เครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้ยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ขอให้ชะลอการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ เนื่องจาก สมเด็จช่วง ยังมีข้อครหาในทางคดีความ นอกจากนี้พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้ยื่นรายชื่อประชาชน 3 แสนคน ถึงนายกรัฐมนตรี และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จช่วง เป็นสมเด็จพระสังฆราชเช่นกัน ขณะที่พระสายที่หนุนสมเด็จช่วง เช่น พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้ออกมาขู่ว่า หากรัฐบาลดองเรื่องแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์ทั่วประเทศพร้อมจะนัดรวมตัวแสดงสังฆามติให้รัฐบาลได้เห็น

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และ นพ.มโน เลาหวณิช อดีตผู้อำนวยการสำนักการศึกษาและสำนักวิเทศสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศ วัดพระธรรมกาย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงค์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ขอให้เร่งรัดตรวจสอบคดีรถหรูยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ของสมเด็จช่วง เพื่อหาข้อยุติทางกฎหมายว่าผิดหรือไม่ หลังเป็นคดีมาตั้งแต่ปี 2556 และมีการคาดกันว่าเป็นรถยนต์ที่มีการจดประกอบไม่ถูกกฎหมาย

วันต่อมา(19 ม.ค.) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าชมพิพิธภัณฑ์รถหรูโบราณตามคำเชิญของวัดปากน้ำฯ ที่ต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจของสมเด็จช่วง

ทั้งนี้ นายดำเกิง จินดาหรา ไวยาวัจกรของวัดปากน้ำฯ ได้มอบสำเนาหนังสือคู่มือการจดทะเบียนรถให้ พ.ต.ต.วรณัน เพื่อตรวจสอบกระบวนการได้มาซึ่งการครอบครองรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทะเบียน ขม 99 กรุงเทพมหานคร ที่สำแดงว่าเป็นอะไหล่รถยนต์เก่าของสมเด็จช่วง เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ดีเอสไอเข้าตรวจสอบรถหรู สมเด็จช่วงไม่อยู่วัดแต่อย่างใด

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป ดีเอสไอจะตรวจเอกสารที่เกี่ยวข้อง หากทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือด้วยดี คาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารไม่เกิน 1 เดือน จากนั้นจะตรวจสอบด้านกายภาพรถ

เป็นที่น่าสังเกตว่า การให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถเบนซ์ของสมเด็จช่วงโดยนายดำเกิง ไวยาวัจกรของวัดปากน้ำฯ และนายศุภภัทร์พจน์ นิติศศธร ทีมกฎหมายของวัดปากน้ำ มีความขัดแย้งกัน โดยนายดำเกิง กล่าวว่า รถเบนซ์คันดังกล่าว มีลูกศิษย์วัดนำมาถวายสมเด็จช่วง พร้อมยอมรับว่า อะไหล่บางชิ้น ทางวัดสั่งซื้อและนำเข้ามาจริง เพราะรถโบราณมีอายุ 60-70 ปี เมื่อรถชำรุด จึงต้องสั่งอะไหล่มาใช้ในการซ่อมแซมรถ และว่า ลูกศิษย์นำรถมาถวายเมื่อปี 2554 และได้เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ปี 2554-2556 ก่อนจะมีผู้ยื่นเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบ

ขณะที่นายศุภภัทร์พจน์ กล่าวว่า ลูกศิษย์สมเด็จช่วงเจอโครงรถจอดอยู่ที่อู่วิชาญ จ.นครปฐม จึงคิดที่จะประกอบรถยนต์โบราณเพื่อนำมาถวายให้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของทางวัดปากน้ำฯ จึงได้ว่าจ้างอู่ดังกล่าวประกอบรถยนต์ โดยทางอู่ได้นำเข้าอะไหล่จากต่างประเทศและซื้ออะไหล่บางส่วนในไทย เริ่มประกอบรถยนต์ในปี 2554 จากนั้นลูกศิษย์ได้นำรถไปตรวจสภาพรถที่กรมขนส่งทางบกเพื่อขอจดทะเบียนรถ ก่อนนำมาถวายสมเด็จช่วงในปี 2556

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ตัวแทนเครือข่ายปกป้องพระธรรมวินัยแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึง ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เพื่อให้นำความไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. โดยขอคัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ เนื่องจากเห็นว่า การเสนอชื่อโดยที่ประชุม มส.ที่ไม่ยอมเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงเป็นที่น่าสงสัย เคลือบแคลง และส่อว่าไม่โปร่งใส

วันเดียวกัน(19 ม.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. พร้อมด้วย นพ.มโน เลาหวณิช อดีตผู้อำนวยการสำนักการศึกษาและสำนักวิเทศสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศ วัดพระธรรมกาย ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 หมวดสมเด็จพระสังฆราชว่า หน่วยงานใดมีอำนาจในการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจาก มาตรา 7 บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ มส.เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุด ดังนั้น นายไพบูลย์ มองว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 7 ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่มในการพิจารณาและเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดต่อ มส.เพื่อให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แล้วจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล ไม่ใช่ มส.เป็นผู้ริเริ่มยกขึ้นมาพิจารณาเสนอรายชื่อและลงมติเลือกเอง แล้วจึงเสนอนายกฯ ให้ทำหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่านั้น “ผมค่อนข้างมั่นใจว่า การดำเนินการดังกล่าวของ มส.เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ และหากผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยว่านายกฯ มีอำนาจตามมาตรา 7 มติของ มส.ต้องเป็นโมฆะ และเพื่อให้เรื่องนี้ไม่เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ ได้มีหนังสือไปถึงนายสุวพันธุ์ เพื่อขอให้มีการชะลอการส่งมติดังกล่าวให้นายกฯ ไว้ก่อน เพราะผู้ตรวจการฯ กำลังวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวอยู่”

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ออกมาโจมตีฝ่ายที่คัดค้านไม่ให้สมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ว่า เป็นการตั้งขบวนการคุกคาม และกล่าวหาว่าสมเด็จช่วงเป็นพระที่สะสมรถหรู ทั้งที่ความจริงแล้วรถดังกล่าวไม่ได้หรูอะไรเลย เป็นเพียงรถโบราณอายุกว่า 63 ปี แต่เดิมจอดไว้ที่อู่ซ่อมรถที่ จ.นครปฐม ลูกศิษย์ติดต่อขอซื้อ แล้วสั่งอะไหล่รถเบนซ์จากต่างประเทศมาซ่อมให้ใช้การได้ แต่รถคันนี้สมเด็จช่วงไม่ได้ใช้เดินทาง มีไว้แสดงเพื่อศึกษา นายจตุพร ยังเหน็บผู้ที่มองว่า มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ การเสนอชื่อพระสังฆราชต้องเริ่มจากนายกฯ ไม่ใช่ มส.ด้วยว่า ถ้าตีความกฎหมายให้คนธรรมดาเสนอชื่อพระสังฆราชได้ ตนว่ามีปัญหา พวกนี้นรกจะกินกบาลเอา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. กลุ่มประชาชนผู้ธำรงพระพุทธศาสนาและเทิดทูนสถาบัน นำโดยนางภิฤดี ภวนานันท์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.และ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ขอให้แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ใน 2 มาตรา คือ มาตรา 7 และมาตรา 10 โดยขอให้ถวายคืนพระราชอำนาจในการสถาปนาและปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ห้ามผู้ใดก้าวล่วงเป็นอันขาด เพื่อให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยและโบราณราชประเพณี และว่า “เดิมการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกรมศาสนาจะส่งรายชื่อพระสงฆ์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการทำหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจำนวนหลายรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงใช้พระบรมราชวินิจฉัย”

4.ครม.เคาะงบซื้อยาง 4,500 ล้าน เริ่มรับซื้อ 25 ม.ค. ด้าน กยท.ไฟเขียวงบก้อนแรก 500 ล้าน รับซื้อยาง 834 จุด!

(บน) นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ นำทีมแถลงข่าวผลประชุมบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยกับผู้เกี่ยวข้อง (22 ม.ค.)
ความคืบหน้าการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐบาล หลังคณะกรรมการแก้ปัญหาราคายาง ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติรับซื้อยางแผ่นดิบจากเกษตรกรโดยตรงในราคากิโลกรัมละ 45 บาท ส่วนยางชนิดอื่นจะรับซื้อในราคาลดหลั่นตามที่เคยรับซื้อมา ซึ่งเบื้องต้นกำหนดจะรับซื้อจำนวน 1 แสนตัน โดยจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 19 ม.ค. เพื่อพิจารณางบประมาณทั้งหมดที่จะใช้ในการรับซื้อ

ปรากฏว่า หลังประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 ม.ค. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ครม. มีมติอนุมัติราคารับซื้อยางโดยตรงจากเกษตรกรที่ 45 บาท/กก. สำหรับยางแผ่นดิบ วงเงิน 4,500 ล้านบาท โดยจะเริ่มรับซื้อตั้งแต่ 25 ม.ค. นี้ เป็นต้นไป
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมมีแผนรับซื้อยางด้วยเงิน 5,479 ล้านบาท โดยเป็นเงินที่จะใช้รับซื้อยางจากเกษตรกร 4,500 ล้านบาท เป็นค่าจ้างแปรรูป ค่าขนส่ง 739 ล้านบาท ค่ารักษา 150 ล้านบาท และค่าดำเนินการตามที่จ่ายจริง 90 ล้านบาท สาเหตุที่ต้องมีค่าจ้างแปรรูป เนื่องจากยางที่รับซื้อจากเกษตรกร บางครั้งเป็นน้ำยางสด ถ้าไม่แปรสภาพเป็นน้ำยางข้นก็จะเสีย ยางแผ่นดิบก็แปรสภาพเป็นยางแผ่นรมควัน จากยางก้อนถ้วยก็อัดเป็นก้อน จึงต้องมีการจัดงบไว้รองรับการแปรรูป

พล.ต.สรรเสริญ เผยด้วยว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงว่า เกษตรกรที่ขายยางออกไปหมดแล้ว จะเอายางกลับมาวนเวียนขายอีก ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ได้ประสานความร่วมมือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้าไปตรวจสอบคลังเก็บยางว่า มีการนำออกมาหมุนเวียนขายอีกหรือไม่ จึงยืนยันได้ว่ามีกระบวนการตรวจสอบทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. คณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ได้ประชุมร่วมกับนางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อวางแนวทางดำเนินการรับซื้อยาง 1 แสนตันจากชาวสวนยาง วงเงิน 4,500 ล้านบาท ตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ

หลังประชุม นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เผยว่า จะเริ่มรับซื้อยางจากเกษตรกรรายย่อยโดยตรงในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นตั้งจุดรับซื้อ 834 จุด เพื่อนำมาใช้ตามความต้องการของกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะขายยางได้ราคาสูงกว่าตลาด ยืนยันว่าการรับซื้อจะไม่มีเกษตรกรตัวปลอมแน่นอน เพราะมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรสวนยาง นอกจากนี้ คสช.ได้ส่งกำลังทหารมาร่วมดูแลด้วย

ด้านนายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่า กยท. กล่าวว่า เกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกับ กยท. มี 1.2 ล้านราย เป็นคนกรีดยาง 2 แสนราย และได้เปิดให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเพิ่มด้วย โดยจะมีการรับซื้อยางทั้ง 3 ชนิด ทั้งยางแผ่นดิบ น้ำยางสด ยางก้อนถ้วย โดยบอร์ด กยท.เห็นชอบวงเงินก้อนแรกที่จะใช้ในโครงการนี้ 5,479 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้ว กยท.สามารถใช้เงินทุนประเดิมก้อนแรก 500 ล้านบาท ที่บอร์ด กยท.สามารถอนุมัติได้ โดยจะเข้ารับซื้อวันที่ 25 ม.ค.นี้เป็นวันแรก เริ่มเวลา 09.00 น. ให้สิทธิรายละ 150 กิโลกรัม ตั้งจุดรับซื้อในภาคใต้ 400 กว่าจุด ภาคตะวันออก 30 จุด ภาคอีสาน 200 จุด และภาคเหนือ 200 จุด โดยจะเปิดจุดรับซื้อถึงวันที่ 30 มิ.ย.

5.อัยการยื่นฟ้องบริษัท “ฟิลลิป มอร์ริส” พร้อมคนไทย 7 คน คดีเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ 2 หมื่นล้าน ด้าน “ฟิลลิป มอร์ริส” ยันไม่จริง!

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นำทีมแถลงเกี่ยวกับการยื่นฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) ลิมิเต็ด เลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่
เมื่อวันที่ 19 ม.ค. เรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้นำทีมแถลงข่าวการยื่นฟ้องบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) ลิมิเต็ด กรณีหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่ โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. พนักงานอัยการคดีพิเศษได้ยื่นฟ้องบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีนายทรอย เจ มอดลิน (TROY J MODLIN) เป็นผู้แทน และพนักงานที่เป็นคนไทยอีก 7 คน ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 -8 ต่อศาลอาญาแล้ว ในความผิดฐานร่วมกันเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร โดยเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 , 115 จัตวา , พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 11 ) พ.ศ.2490 มาตรา 3 , พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ.2543 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 , พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4-9 ซึ่งคดีมีอัตราโทษตามกฎหมายศุลกากร ให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคารวมค่าอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ทั้งปรับและจำคุก

ทั้งนี้ คำฟ้องของอัยการสรุปว่า บริษัทดังกล่าวกับพวก ได้ร่วมกันนำเข้าบุหรี่มาในราชอาณาจักรและสำแดงราคาสินค้าอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ซึ่งเหตุเกิดระหว่างเดือน ก.ค.2546-เดือน มิ.ย.2549 เป็นความผิดทั้งสิ้น 272 ครั้ง โดยรวมราคาของสินค้าบุหรี่บวกกับราคาภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงเป็นเงินทั้งสิ้น 20,210,209,582.50 บาท ซึ่งศาลอาญาได้รับฟ้องแล้ว โดยนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยวันที่ 25 เม.ย.เวลา 09.00 น. สำหรับจำเลย ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากจำเลยยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว 1 ล้านบาท

ด้านนายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวว่า สำหรับผู้ต้องหาชาวต่างชาติที่หลบหนีอยู่ ศาลได้ออกหมายจับแล้ว หากได้ตัวมา จะนำตัวมาฟ้องภายในอายุความ นายชาติพงศ์ ยืนยันด้วยว่า ไม่มีการวิ่งเต้นให้สั่งหรือไม่สั่งฟ้องคดี ส่วนเหตุที่ฟ้องล่าช้า เนื่องจากหลังจากอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อปี 2556 ผู้ต้องหาซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ขอเลื่อนเข้ารายงานตัว ประกอบกับมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องตัวเลข และมีเอกสารจำนวนมาก จึงต้องแก้ไขใหม่ ขณะที่ความผิดในส่วนของฝ่ายการเมืองยังไม่มีการแจ้งข้อมูลมาจาก ป.ป.ช.แต่อย่างใด

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้ต้องหาที่ทางอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีนี้มี 14 ราย ซึ่งอัยการได้ฟ้องเป็นจำเลยแล้ว 8 ราย ประกอบด้วย นิติบุคคล 1 ราย คือ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ฯ , เอกชนซึ่งเป็นคนไทย 7 ราย ได้แก่ 1.นายศิลาเอก สุนทราภัย 2.นางดาลัค วารณะวัฒน์ 3.น.ส.เสาวลักษณ์ อาภาเบิกบาน 4.น.ส.จรรยานี วิสุทธิกุลพาณิชย์ 5.น.ส.สุจินดา ไตรรัตน์เกยูร 6.นางทรรศสม ลาภประเสริฐ และ 7.น.ส.วราภรณ์ อภิเสถียรสุข ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออีก 6 รายนั้น แบ่งเป็น คดีขาดอายุความ 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย และหลบหนีอีก 4 ราย

ด้านบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) ลิมิเต็ด ได้ออกเอกสารข่าวยืนยันว่า ข้อกล่าวหาของอัยการไม่มีมูลความจริง และไม่ยุติธรรม รวมทั้งละเมิดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์การการค้าโลกในการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร

ขณะที่นายทรอย มอดลิน ผู้จัดการสาขาของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) ลิมิเต็ด ยืนยันเช่นกันว่า บริษัทไม่ได้กระทำผิดแต่อย่างใด พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินใจของนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ในการสั่งฟ้องบริษัทฯ รวมถึงการสั่งดำเนินคดีกับอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบันของบริษัทนั้นขัดแย้งกับคำสั่งไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการสูงสุดเองในข้อหาเดียวกันเมื่อ 4 ปีก่อน นอกจากนี้ยังขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของกรมศุลกากร คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ สำนักตรวจสอบหลังการตรวจปล่อยสินค้า รวมถึงองค์การการค้าโลกก่อนหน้านี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น