เชียงราย - สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยตัดริบบิ้นเปิดสาขาเชียงรายแล้ว พร้อมวางแผนผลักดันชาวสวนยางผลิตยางเครป-ยางแผ่นรมควันแทนขายยางก้อนถ้วย รวมกลุ่มตั้งสถาบันพัฒนาผลผลิต คาดอีก 5 ปีผลผลิตทะลักเป็นแสนตัน
วันนี้ (3 ก.ย.) นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ได้เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จ.เชียงราย และสาขาเมืองเชียงราย เลขที่ 688/120-122 ม.3 ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย โดยมีนายธรรมนูญ อุ่นธวัชนัดดา ผอ.สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เชียงราย ปฏิบัติงานในกิจการ กยท.เชียงราย นำผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยการเปิดสำนักงานดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนจากองค์กรเดิม คือ สกย.มาเป็น กยท.เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย และวันที่ 4 ก.ย.จะเปิดสำนักงานสาขา อ.เชียงของ
นายประสิทธิ์กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่ถือเป็นการยกระดับจากองค์การเดิมมาเป็นการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนากิจการยางพาราของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น จากนี้ทางคณะกรรมการ กยท.จะได้จัดทำยุทธศาสตร์ และพัฒนากิจการยางของเกษตรกร เช่น ลดต้นทุน ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพ สามารถเก็บเอาไว้ได้นาน
โดยเฉพาะเชียงรายมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณกว่า 500,000 ไร่ และมีพื้นที่กรีดน้ำยางได้แล้วประมาณ 230,000 ไร่ ผลผลิตปีละกว่า 50,000 ตัน เป็นพื้นที่ปลูกยางใหม่ที่เพิ่งปลูกกันมาราวปี 2547 เป็นต้นมา และมีสวนยางที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกมาก จึงคาดว่าอีก 5 ปีจะมีผลผลิตออกมากว่า 100,000 ตัน ซึ่งทางคณะกรรมการจะได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในการพัฒนารูปแบบผลผลิต แปรรูป รวมถึงพัฒนาตลาด เพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ต่อไป เช่น เปลี่ยนจากการขายในลักษณะยางก้อนถ้วยเป็นยางเครป ยางแผ่นรมควัน
นายประสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวสวนยางเชียงรายมักจะขายยางก้อนถ้วยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งข้อเสียคือไม่สามารถเก็บผลผลิตเอาไว้ได้นาน ดังนั้น แนวทางการพัฒนาคงจะอาศัยตามยุทธศาสตร์ของจังหวัด ที่มุ่งให้เกษตรกรร่วมมือกันเป็นสถาบันเกษตร ขับเคลื่อนการพัฒนาได้คล่องตัว โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นคือ การผลิตยางเครป และลำดับถัดไปสถาบันเกษตรกรเหล่านี้ก็สามารถมีแหล่งแปรรูปเป็นของตัวเองได้ต่อไป
โดยตามมาตรา 49 (3) แห่ง พ.ร.บ.ใหม่ระบุให้มีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตโดยมีกองทุนพัฒนาการยาง ซึ่งอาจจะเป็นไปในลักษณะให้ฟรี หรือให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งก็แล้วแต่คณะกรรมการ กยท.จะกำหนดขึ้น หลัง พ.ร.บ.ใหม่นี้ประกาศใช้ใน 120 วัน
ด้านนายธรรมนูญกล่าวว่า เชียงรายมีชาวสวนยาง 21,892 ราย สถาบันเกษตรกรจำนวน 122 กลุ่ม มีพื้นที่ปลูกยางพาราในระบบทั้งหมด 346,373 ไร่ เปิดกรีดได้แล้วจำนวน 233,812 ไร่ ผลผลิตต่อปี 42,862 ตัน สร้างรายได้หมุนเวียนสู่ระบบปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ใหม่ กยท.เมืองเชียงรายจะดูแลพื้นที่ 11 อำเภอจาก 18 อำเภอ ได้แก่ เมืองเชียงราย เวียงชัย แม่จัน ป่าแดด พาน แม่สรวย เวียงป่าเป้า แม่ฟ้าหลวง แม่สาย แม่ลาว และเวียงเชียงรุ้ง ส่วนที่เหลือจะขึ้นกับ กยท.เชียงของ
ปัจจุบันราคายางก้อนถ้วยใน จ.เชียงรายประมูลกันที่กิโลกรัมละประมาณ 19 บาท ขณะที่ราคาที่เครือข่ายชาวสวนยางเชียงรายเห็นว่าจะทำให้อยู่ได้ คือกิโลกรัมละ 30 บาท จึงได้พยายามเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เนื่องจากชาวเชียงรายมากกว่าร้อยละ 90 จะจำหน่ายเป็นยางก้อนถ้วยมากกว่าน้ำยาง และยางแผ่นรมควัน เพราะไกลแหล่งแปรรูป