พิษณุโลก - สกย.ตั้งโต๊ะประมูลขายยางพาราเมืองสองแควออนไลน์ครั้งแรก ทำชาวสวนยิ้มระรื่นได้ราคาดีกว่าขายให้พ่อค้าท้องถิ่น ด้านรอง ผอ.สกย.ชี้แนวโน้มทรงตัว เหตุเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี แถมไทยมีผลผลิตส่วนเกินอีก 1 ล้านตันต่อปี
นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ปฏิบัติงานในกิจการการยางแห่งประเทศไทย และนายถวิล คงเคว็จ ผอ.สกย.พิษณุโลก ร่วมเปิดประมูลยางพารา “Trade Connex” หรือการประมูลซื้อขายยางพาราทางอิเล็กทรอนิกส์ของชาวสวนพิษณุโลกครั้งแรก ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดพิษณุโลก ถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ พิษณุโลก
นายถวิลกล่าวว่า การประมูลซื้อขายยางพาราทางอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ถือเป็นครั้งแรกของพิษณุโลก ซึ่งเปิดพร้อมกับจังหวัดพะเยาในฤดูกาลนี้ ส่วนแพร่ก็ได้เปิดประมูลออนไลน์ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งพื้นที่ปลูกยางพาราในจังหวัดพิษณุโลกมีประมาณ 170,000 ไร่ มีกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนไว้ 13 กลุ่ม ถือว่ามากพอที่จะทำการเปิดตลาดประมูลซื้อขายออนไลน์ได้ ซึ่งราคายางพาราที่ประมูลทางออนไลน์ถือว่าสูงกว่าราคารับซื้อของกลุ่มพ่อค้าท้องถิ่น เฉลี่ยประมาณ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม
ด้านนายประสิทธิ์กล่าวว่า การปลูกยางพาราของไทยถือว่าเป็นอันดับ 1 ของโลก ผลผลิตน้ำยางพาราต่อไร่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย หากเทียบเฉพาะอาเซียนถือว่าเหนือกว่า เพียงแต่แปลงยางพาราของไทยนั้นเล็ก กว่าร้อยละ 80% เป็นสวนรายย่อย ส่วนประเทศลาว และกัมพูชา เป็นแปลงขนาดใหญ่ง่ายต่อการบริหารจัดการ
สำหรับแนวโน้มราคายางพาราปีนี้ คือทรงตัว ขึ้นๆ ลงๆ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี อีกทั้งปริมาณผลผลิตยางพาราที่ทั้งหมด 12 ล้านตันต่อปี แต่ใช้อยู่ที่ 11 ล้านตัน จึงมีผลผลิตส่วนเกินอยู่ ซึ่งจะกดราคายางพาราไม่ให้ขยับไปมาก
กรณีนโยบายรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศที่ปลูกยางพารามากจะลดพื้นที่ปลูกยาง ในส่วนประเทศไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว เช่น ประกาศอุดหนุนการตัดโค่นยางที่ใกล้หมดอายุให้เร็วขึ้น จากเดิมปีละ 3 แสนไร่ เพิ่มเป็นปีละ 4 แสนไร่ และห้ามปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ไร้เอกสารสิทธิ
กรณีนโยบายทวงคืนผืนป่านั้น เกษตรกรเครือข่าย สกย.ผู้ปลูกยางพาราในพิษณุโลกยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากสมาชิกมีเอกสารสิทธิ ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง มีเพียงเกษตรกรกลุ่มแปลงขนาดใหญ่หลายแปลงไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สกย.อาจได้รับผลกระทบบ้าง