xs
xsm
sm
md
lg

หมดสิทธิ์ลอยนวล! “พาณิชย์” จับมือ สคบ.ตามจับถึงบ้าน พวกขี้โกงหลอกซื้อขายสินค้าออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” จับมือ สคบ.ลุยล้างบางพวกขี้ฉ้อหลอกขายสินค้าออนไลน์ แล้วเชิดเงินหนี นำร่องเคสไหนมีร้องเรียนตามหาตัวคนขายถึงบ้าน จับได้เล่นงานหนัก ปรับขั้นสูงสุด เตือนนิติบุคคล บุคคลธรรมดา ที่ค้าขายออนไลน์ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนทุกรายเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และป้องกันปัญหาหลอกลวง

นายวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการดูแลและป้องกันปัญหาการหลอกลวงขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง และเสียเงินโดยไม่ได้รับสินค้าอย่างที่มีปัญหาการร้องเรียนเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ โดยเบื้องต้นจะเน้นจัดการรายที่มีปัญหาการร้องเรียนว่าฉ้อโกง ซึ่งจะมีการตรวจสอบไอพี โดเมนเนม และตามหาตัวให้เจอ ก่อนที่จะดำเนินการตามกฎหมาย

“ปกติบริษัท หรือบุคคลที่ค้าขายออนไลน์ หากขึ้นทะเบียนถูกต้อง เวลามีปัญหาก็ตามตัวได้ไม่ยาก แต่พวกที่ไม่ขึ้นทะเบียน ไม่มีหลักฐานยืนยันตัวตนชัดเจน พวกนี้เวลามีปัญหาตามตัวได้ยาก แต่ต่อไปอย่าคิดว่าจะรอด เพราะกรมฯ จะร่วมมือกับ สคบ.ตามหา ตรวจจากไอพี ตรวจจากโดเมนเนม อยู่ตรงไหน รับรองหาเจอ เมื่อเจอแล้วก็จะดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ปล่อยไว้แน่”

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการซื้อสินค้าออนไลน์สามารถร้องเรียนมาได้ที่ สคบ. และกรมฯ ซึ่งเมื่อตามจับได้จะใช้กฎหมายของ สคบ.เล่นงาน ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดเป็นแสนบาท

นายวิชัยกล่าวว่า กรมฯ จะส่งเสริมและผลักดันให้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะจำหน่ายสินค้าหรือบริการอะไร จะต้องมาแจ้งจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมฯ โดยหลังจากยื่นจดแล้วกรมฯ จะออกเครื่องรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อยืนยันตัวตนของผู้ประกอบการ

“การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคมาใช้บริการ ป้องกันปัญหาการหลอกลวง เพราะเป็นการยืนยันว่ามีตัวตนจริง และกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถติดตามตัวได้ ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการซื้อขายออนไลน์ของไทยให้เติบโตได้เพิ่มขึ้น”

โดยปัจจุบันมีผู้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมฯ แล้ว 11,835 ราย 13,488 เว็บไซต์ ประกอบด้วย นิติบุคคล 3,191 ราย คิดเป็น 27% และบุคคลธรรมดา 8,644 ราย คิดเป็น 73% โดยธุรกิจที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 2,427 เว็บไซต์ คิดเป็น 18% ธุรกิจแฟชั่น เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ จำนวน 2,170 เว็บไซต์ คิดเป็น 16% และธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 1,495 เว็บไซต์ คิดเป็น 11% ตามลำดับ

นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการการค้าออนไลน์ เมื่อได้ขึ้นทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว กรมฯ จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ช่วยเชื่อมโยง และสร้างเครือข่าย โดยจะผลักดันเข้าสู่ตลาดกลางออนไลน์ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลักดันให้ผู้ประกอบการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จเข้ามาให้การช่วยเหลือในการขายและพัฒนาสินค้าให้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันนี้มีการหลอกลวงขายสินค้าและบริการออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทั้งการประกาศขายผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม โดยการหลอกลวงมีหลายวิธี เช่น ผู้ขายมักจะประกาศขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าปกติ เพื่อดึงดูดให้มีคนมาซื้อ และมักจะขอมัดจำ พอผู้ซื้อจ่ายมัดจำแล้ว หลังจากนั้นก็จะติดต่อไม่ได้ หรือประกาศขายสินค้าอีกอย่าง แต่พอจัดส่งกลับเป็นอีกอย่าง หรือหลอกขายสินค้าราคาถูก เช่น ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม แพกเกจทัวร์ เป็นต้น แต่พอจะไปใช้บริการกลับไม่ได้สินค้าและบริการตามที่ตกลงกันไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น