xs
xsm
sm
md
lg

กม.จัดตั้งการยางฯผ่านฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14พ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. เป็นประธานในการประชุม ได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... เป็นวาระที่ 2 และ 3 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งมี นายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว
โดยเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีการยุบเลิก 3 หน่วยงานเดิม คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง แล้วโอนภารกิจของหน่วยงานที่ถูกยกเลิกทั้ง 3 มาเป็น "การยางแห่งประเทศไทย" เรียกโดยย่อว่า "กยท." ให้เป็นองค์กรนิติบุคคล และเป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น เพื่อความเป็นเอกภาพของการทำงาน
นอกจากนี้ ได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของ กยท. รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนพัฒนายางพารา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนายางพารา
ในการแก้ไขของกรรมาธิการ ในวาระ 2 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เช่น การเพิ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การเพิ่มคณะกรรมการยางผู้ทรงคุณวุฒิเป็น 7 คน โดยมีผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง 3 คน ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 2 คน ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้า 1 คน และผู้แทนผู้ประกอบกิจการยางซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอุตสาหกรรมยาง 1 คน การเพิ่มรายละเอียดการจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา ให้ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ สมาชิกสนช. เห็นด้วยกับการแก้ไข ของกรรมาธิการและได้มีการลงมติในวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียง 183 ต่อ 1 งดออกเสียง 3 ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
หลังการลงมติ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กรรมาธิการ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนเกษตรกร กฎหมายนี้ มีสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนหลายล้านคน เพราะถ้าร่างไม่ดี จะเป็นซาตานทำร้ายประเทศ ขอขอบคุณสมาชิกสนช. ทุกคน ที่สร้างคุณูปการให้กับชาวสวนยางทั่วประเทศ ที่สามารถปรับปรุงร่างจากซาตาน ให้กลายเทพบุตร
นอกจากนี้ ที่ประชุม สนช.ยังได้พิจารณา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญที่การยกเลิกความในวรรหนึ่ง ของ มาตรา 691 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ กรณีที่เจ้าหนี้ตกลงกับลูกหนี้ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ ที่มีการค้ำประกัน รวมถึงดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือ ค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ให้เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วัน ที่ตกลงกันนั้น ถ้าลูกหนี้ได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้ว หรือลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ลด แต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดนั้นแล้ว ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากการค้ำประกัน
ทั้งนี้ การชำระนี้ของผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้แม้จะล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลด แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาชำระหนี้ ในกรณีที่เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าว เมื่อล่วงเลยกำหนดวเลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้ว ให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เจ้าหนี้ มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงนั้น
ที่ประชุม สนช. ได้พิจารณา พ.ร.บ. ดังกล่าว ในวาระที่ 3 โดยมีมติเห็นชอบ 178 คะแนน ไม่เห็นชอบ 1 คะแนน งดออกเสียง 2 คะแนน และไม่ประสงค์ลงคะแนน 1 คะแนน ฉะนั้นเท่ากับว่า สนช. เห็นชอบให้พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น