แกนนำยางพาราอ.เวียงสระ ยันไม่พอใจมติ 35 องค์กรเด้งรับโลละ 60 บาท เตรียมประท้วงหากไม่ถึง 80 บาท เหตุค่าครองชีพรุมเร้าต้องตัดต้นยางขายเลี้ยงชีพแม้จะกรีดได้เพียงปีเดียว ผู้ว่าฯตรังเปิดเวทีถกแก้ปัญหาเสนอรัฐบาลแก้ไขวันนี้(12 ธ.ค.) ขณะชาวบุรีรัมย์เจอภาระหนี้ท่วมวอนลดดอกเบี้ยธ.ก.ส.ด่วน สถาบันวิจัยยางชี้ปัจจัยภายนอกไม่เอื้อ ทั้งเงินเยนแข็งค่า ราคาน้ำมันดิ่งเหว จีน-ญี่ปุ่น-ยุโรปศก.ซบเซา "มาสด้า"รับกระทบยอดขายภาคใต้แล้ว 40% แต่ยังแข็งใจเข็นรุ่นใหม่สู้ศึก หวังปีหน้าดีขึ้น ด้านสนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.การยาง ยุบรวม 3 องค์กรหลักเป็น"กยท."
จากกรณีองค์กรชาวสวนยางภาคใต้ 35 องค์กร ประชุมที่สหกรณ์เกษตรกรชาวสวนยางอำเภอเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี และมีมติรับหลักการรัฐบาลที่จะผลักดันให้ราคายางพาราสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 60 บาท โดยให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างให้องค์กรที่รับซื้อยาง จากข้อเรียกร้องเดิมของชาวสวนยางพารา ที่ต้องการราคายางแผ่นกิโลกรัมละ 80 บาท น้ำยาง 70 บาท และเศษยาง 30 บาทนั้น
วานนี้ (11 ธ.ค.) นายไพโรจน์ ฤกษ์ดี แกนนำชาวสวนยางอ.เวียงสระ ที่นำกลุ่มชาวสวนยางออกมาชุมนุมหน้าศาลากลางสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตนไม่ยอมรับมติของ 35 องค์กร เพราะขณะนี้ยางแผ่นจำนวนมาก ตกอยู่กับกลุ่มสหกรณ์แล้ว การช่วยเหลือจะไม่ถึงมือของเกษตรกรโดยตรง ขอยืนยันว่าหากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้องเดิม จะรวมตัวประท้วงอีกครั้ง หลังให้โอกาสรัฐบาลว่าภาย 7 วันต้องถึง 80 บาท
นายจอน ห้วยแก้ว ชาวสวนยางใต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ กล่าวว่า รายได้หดหายไปกว่าร้อยละ 60 หนี้สินเพิ่มขึ้นทุกวัน จำเป็นต้องโค่นต้นยางทิ้งแม้จะเพิ่งเปิดกรีดได้ปีเดียว เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ค่าผ่อนรถยนต์ที่ค้างชำระมาหลายเดือน จนไฟแนนซ์จะมายึดรถยนต์กลับไป จึงอยากเรียกร้องทางรัฐบาลแนะนำหรือหาช่องทางสนับสนุนให้ปลูกพืชอื่นที่มีราคาดี และและมีความมั่นคงในอนาคตด้วย
ด้านนายสิงห์สยาม มุกดา แกนนำชาวสวนยางจังหวัดตรัง พร้อมยจ.ส.ต.ชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.)ตรัง เขตอ.เมือง และชาวสวนยางจำนวนหนึ่ง ขับรถตระเวนไปตามเส้นทางในอ.เมือง อ.ห้วยยอด และอ.รัษฎา เพื่อแจกใบปลิวและริบบิ้นสีขาว สัญลักษณ์การเรียกร้องที่บริสุทธิ์ของชาวสวนยาง ซึ่งที่ตลาดคลองปาง อ.รัษฎา แม่ค้าและชาวบ้านต่างนำช่อดอกไม้และผลไม้มามอบให้เพื่อเป็นกำลังใจต่อสู้ต่อไป ก่อนที่นายสิงห์สยามจะนำคณะไปสมทบกับชาวสวนยางอีกที่อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
นายสิงห์สยามกล่าวว่า ยอมรับว่าการนัดชุมนุมครั้งนี้ม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีความพยายามสกัดกั้น โดยอ้างกฎอัยการศึก และเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทำให้ชาวสวนยางไม่สามารถมาร่วมแสดงออกซึ่งพลังอันบริสุทธิ์ ทั้งที่ทุกคนทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่พวกตนก็จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไป โดยร่วมกับชาวสวนยางจังหวัดต่างๆ กำหนดทิศทางการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้รัฐบาลแทรกแซงในราคา80 บาท และยืนยันจะเข้าร่วมเวทีที่ทางจังหวัดตรัง จัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคมแน่นอน
นายสมศักดิ์ ปริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า วันที่ 12 ธันวาคม จะจัดเวทีระดมความคิดเห็นที่โรงแรมวัฒนา พาร์ค อ.เมือง เพื่อรับฟังความเดือดร้อน โดยจะเปิดให้ทุกภาคส่วนสะท้อนปัญหาตั้งแต่ระดับคนกรีดยางถึงเจ้าของโรงงานหรือนักธุรกิจ จากนั้นรวบรวมข้อมูลที่ได้ส่งต่อไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งรัฐบาลหามาตรการแก้ไข คาดว่าจะนำไปสู่การแก้ไขได้ตรงจุด เพื่อให้พี่น้องชาวสวนสามารถอยู่ได้ต่อไป
ด้านนายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ สภาเกษตรกรจังหวัดพังงา กล่าวว่า ทางสภาเกษตรจังหวัดพังงา ได้เสนอให้ทางกระทรวงกระเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งตลาดกลางยางพาราฝั่งอันดามันที่จ.กระบี่ เพื่อให้ชาวสวนยางฝั่งอันดามันนำยางพาราไปขายลดต้นทุนค่าขนส่ง เพราะขณะนี้ตลาดกลางที่รัฐบาลชี้นำอยู่ที่จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งทำให้ต้องแบกรับค่าขนส่งเพิ่มขึ้น อีกทั้งเพื่อแก้ปัญหาบริษัทรับซื้อยางแผ่นรมควันหยุดรับซื้อ ทำให้ชาวสวนยางฝั่งอันดามันไม่มีที่ขายยางพารา
"ถ้าถามว่าราคา 60 บาทพอใจหรือไม ต้องดูว่าต้นทุนอยู่ที่ 65 บาท ถือว่าต่ำกว่าต้นทุนมาก อย่างไรก็ตามปัจจัยเรื่องฝนตกทั้งภาค ทำให้กรีดยางไม่ได้มา 2-3 เดือนแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตมีน้อย ราคาก็น่าจะขยับขึ้น ภาครัฐก็พยามจะดันจาก 40 บาทให้ได้ถึง 60 บาทภายใน 1-2 เดือน ก็ต้องรอดูว่าจะทำได้แค่ไหน"
ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวสวนยางพาราบ้านหินเหล็กไฟ หมู่ 1 ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ กว่า 200 ครัวเรือนกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก จากปัญหาราคายางตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 45 บาท ซึ่งต่ำสุดในรอบหลายสิบปี โดยนางศิริวรรณ พุทธานุ อายุ 52 ปี กล่าวว่า ปลูกยาง 60 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 50 ไร่ แต่ละปีต้องชำระดอกเบี้ยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ปีละ 150,000 บาท เพราะมีหนี้สะสมเกือบ 2 ล้านบาท ปีนี้ยังไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปชำระหนี้ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาทางทำให้ราคายางไม่ให้ต่ำกว่า 80 บาท และหามาตรการลดดอกเบี้ยให้กับชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบด้วย
วันเดียวกัน สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร รายงานสถานการณ์ยางวันที่ 11 ธันวาคม ภาพรวมยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ไม่เอื้อต่อตลาดและราคา โดยเฉพาะตลาดล่วงหน้าโตเกียว ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ จากการแข็งค่าของเงินเยน และราคาน้ำมันทำสถิติต่ำสุดในรอบ 5 ปี ประกอบกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรปยังคงรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง
ที่โรงแรมนิภา การ์เด้นท์ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี บริษัท มาสด้า เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานเปิดตัวมาสด้า 2 สกายแอคทีฟใหม่ โดยนายประพจน์ ศุภเกียรติ ผู้จัดการฝ่ายขาย กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกเปิดตัวที่จ.สุราษฎร์ธานี เพราะเป็นหัวเมืองใหญ่ และเชื่อมั่นว่ามีลูกค้าให้ความสนใจมากขึ้น ส่วนเรื่องราคายางพาราตกต่ำ ยอมรับว่ากระทบยอดขายประมาณ 40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งไม่ต่างจากยี่ห้ออื่น แต่มาสด้าเชื่อมั่นว่าปีหน้าเศรษฐกิจต้องดีขึ้นแน่นอน เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พอสมควร
นายวิเลิศ ด่านขุนทด กรรมการผู้จัดการบริษัท วี กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายมาสด้าจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า แม้ภาคใต้จะประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทำให้ยอดขายลดลง 35% แต่หากเปรียบเทียบกับทุกภาค นับว่าตลาดภาคใต้ยังดีกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการขายยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยจะเน้นการบริการเป็นสำคัญ และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะดีขึ้นแน่นอน
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย กล่าวบนเวทีเสวนา"อนาคตยางพาราไทย จะไปทางไหน" ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่าสถานการณ์ยางพาราปี 2557 อยู่ในภาวะที่เลยคำว่าวิกฤติมาแล้ว เพราะตกต่ำที่สุดในรอบ 10 กว่าปี เพราะต้นทุนตามจริงอยู่ที่กิโลกรัมละ 65.25 บาท แต่ขายได้กว่า 30 บาท และตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งยางพาราออกสู่ตลาดมากที่สุด มีแนวโน้มราคาจะดิ่งลงมาอีก หากเป็นเช่นนี้คงต้องโค่นต้นยางทิ้ง และเลิกปลูกยางในที่สุด
"แนวทางการแก้ปัญหามีหลายแนวทาง แต่ที่ทำได้ทันที คือ พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมยางเพื่อเพิ่มมูลค่า และเพิ่มปริมาณการใช้ภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงรัฐบาลต้องส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากยางพาราที่มีอยู่ให้มากที่สุด เช่น การกำหนดในขอบเขตการทำงาน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำยางพาราไปเป็นส่วนผสม อาทิ การทำถนน หรือพื้นยางสังเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งผมจะยื่นหนังสือต่อรัฐบาล เพื่อเสนอปัญหาแนวทางแก้ปัญหา เพราะพบว่าหลายมาตรการยังไม่ปฏิบัติอย่างจริงจัง"
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กล่าวว่า สศอ.ตั้งเป้าหมายเพิ่มราคายางกลางปี 2558 อยู่ที่ 65 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะเพิ่มความต้องการใช้อีก 500,000 ตันต่อปี จากปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิต 417,000 ตันต่อปี รวมเป็นการใช้ยางต่อปีเกือบ 1 ล้านตัน ะเพิ่มการส่งออกในรูปแบบยางแปรรูปเป็น 20 % จากปัจจุบัน 12 % ลดส่งออกในรูปแบบวัตถุดิบเหลือ 80% จากปัจจุบัน 88%
มาตรการเพิ่มปริมาณการใช้ยาง คือ สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น วงเงิน 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะซื้อยางส่วนเกินออกจากระบบ 200,000 ตัน ผ่าน 6 ธนาคาร คือ กรุงไทย กรุงเทพ ทหารไทย กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ สินเชื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 15,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศอีก 300,000 ตัน โดยมีธนาคารออมสิน และกระทรวงอุตสาหกรรม รับผิดชอบ ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างเปิดให้เอกชนมาสมัคร
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวรายงานหลักการว่า เพื่อสนับสนุนชาวสวนยางและผู้ประกอบการ จำเป็นต้องจัดให้มีองค์กรกลาง คือ การยางแห่งประเทศไทย รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการอย่างครบวงจร มีเอกภาพ เป็นอิสระ คล่องตัว ใช้ยางพาราและผลิตผลจากยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยุบเลิก 3 หน่วยงานเดิม คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) องค์การสวนยาง(อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง แล้วโอนภารกิจเป็น "การยางแห่งประเทศไทย" เรียกโดยย่อว่า "กยท." เป็นองค์กรนิติบุคคล บริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของชาวสวนยางให้ดีขึ้น และเพื่อความเป็นเอกภาพของการทำงาน นอกจากนี้ได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของกยท.
ข่าวแจ้งว่า สมาชิกได้อภิปรายสนับสนุนให้มีการนำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมาใช้บังคับ เพราะประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวนมาก แต่ไม่มีมาตรการดูแลควบคุม ส่วนกยท.ควรเพิ่มอำนาจการกำหนดพื้นที่ปลูกใหม่และปลูกทดแทนในแต่ละปี และควรให้มีผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกรรมการด้วย และจัดให้มีโรงการผลิตวัสดุยางราดถนน ไม่ต้องรอประเทศอื่นมาลงทุน
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. กล่าวว่า อยากฝากข้อสังเกตว่ากยท.ควรจัดทำโซนนิ่ง เพราะหากไม่ดำเนินการจะส่งผลเลวร้ายต่อเกษตรกรเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และต้องมีข้อมูลเพียงพอต่อการส่งเสริมให้ปลูกยางพาราใหม่ ซึ่งขณะนี้ไทยตกลงกับจีนในการก่อสร้างรถไฟทางคู่กทม.-หนองคาย น่าจะเป็นโอกาสดีในการตกลงทำบาร์เตอร์เทรดหรือแลกเปลี่ยนสินค้า อย่างไรก็ตามเราต้องกระตุ้นดีมานด์หรือความต้องการซื้อโ ดยใช้ยางพาราทำถนน
ต่อมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในวาระ 1 ด้วยคะแนน 174 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 25 คน กำหนดวันแปรญัตติภายใน 7 วัน