xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พ.ร.บ.การยางฯ ไม่เห็นหัวชาวสวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นประธานการประชุม สนช.วันที่ 11 ธ.ค.57 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้จะมีเสียงคัดค้านจากเกษตรกรผู้ทำสวนยางมาก่อนหน้านี้ แต่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ก็ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในวาระแรก ด้วยคะแนนท่วมท้น 174 ต่อ 1 เสียง เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา

เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ได้รายงานถึงหลักการและเหตุผลว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง จำเป็นต้องจัดให้มีองค์กรกลางคือ “การยางแห่งประเทศไทย” เพื่อรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการเกี่ยวกับยางพาราของประเทศอย่างครบวงจร มีเอกภาพ เป็นอิสระ คล่องตัว ใช้ยางพาราและผลิตผลจากยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพ

ตามเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นี้ จะมีการยุบเลิก 3 หน่วยงานเดิม คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง แล้วโอนภารกิจของหน่วยงานที่ถูกยกเลิกทั้งสาม ไปอยู่ใน “การยางแห่งประเทศไทย”หรือ กยท.ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่

กยท.จะเป็นองค์กรนิติบุคคลและเป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร เพื่อความเป็นเอกภาพของการทำงาน นอกจากนี้ ได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของ กยท.ด้วย

การผ่านร่าง พ.ร.บ.การยางฯ ในวาระแรกอย่างสะดวกโยธิน แสดงว่า ข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่ได้เข้าหูสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่เลย ทั้งที่ แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง เพิ่งไปยื่นหนังสือทีี่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 พ.ย. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 80 บาท โดยชดเชยส่วนต่างเป็นพันธบัตรรัฐบาลแทน เนื่องจากมาตรการแจกเงินให้เจ้าของสวนยางไร่ละ 1,000 บาทไม่ได้เกิดประโยชน์กับชาวสวนยางทุกกลุ่ม ไม่ครอบคลุมคนกรีดยาง และชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยออกจากการพิจารณาของ สนช.

ก่อนหน้านี้ชาวสวนยางได้ช่วยกันยกร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เป็นร่างของเกษตรกรเอง เสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว แต่กระทรวงฯ ได้โยนร่างฯ ของเกษตรกรทิ้งลงขยะไป และเอาร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่เคยทำไว้ในปี 2553 มาเสนอต่อ สนช.

ทั้งนี้ จุดโหว่ของร่าง พ.ร.บ.การยางฯ ฉบับที่รัฐบาลเสนอเข้า สนช.ก็คือ คำนิยามเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ครอบคลุมถึงคนกรีดยาง และชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ทั้งที่คนเหล่านี้ได้จ่ายเงินสงเคราะห์ปลูกยางพารา (CESS) มาตลอด

แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง เสนอให้มีการนิยามคำว่าเกษตรกรชาวสวนยางเสียใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมคนทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งชาวสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และคนกรีดยาง และดำเนินการจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด เป็นการจัดตั้งให้กระบวนการของชาวสวนยางเป็นปึกแผ่น รองรับกับกระบวนการเลือกตั้งผู้แทนชาวสวนยางจากทั่วประเทศ ที่จะต้องเป็นคณะกรรมการหรือบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง อีกทั้งคณะอนุกรรมการการยางแห่งประเทศไทยประจำจังหวัดในสัดส่วนของชาวสวนยางก็ต้องมาจากการเลือกตั้งจากชาวสวนยางด้วย ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนี้ ต้องบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.การยางฯ

แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางได้ขอให้นายกรัฐมนตรี ช่วยถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับของกระทรวงเกษตรฯ ออกจาก สนช.ทันที หากยังดึงดันต่อหลังจากวันที่ 25 พ.ย.ชาวสวนยางทั่วประเทศจะลุกขึ้นมาต่อสู้

แล้วผลก็ปรากฏว่า ข้อเรียกร้องแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางทั้งเรื่องการให้รัฐบาลรับซื้อยางกิโลกรัมละ 80 บาท และการถอนร่าง พ.ร.บ.การยางฯ ต่างก็ไม่ได้รับการตอบสนอง

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ถอน พ.ร.บ.การยางฯ ว่า ยังไม่ถึงเวลาและยังสามารถปรับแก้ได้ เพราะยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ ซึ่งจะต้องมีการมารับฟังความคิดเห็นร่วมกัน สามารถปรับแก้ได้หมด อย่าเพิ่งคิดว่าสิ่งที่เข้าไปใน สนช.แล้วจะออกมาอย่างนั้น

วันที่ 9 ธ.ค.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. กล่าวว่า สนช.จะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การยางฯ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษา ซึ่งวิป สนช. ได้พิจารณาข้อเสนอที่ตัวแทนชาวสวนยางได้ขอร่วมเป็นกรรมธิการจำนวน 6 คน แต่ที่ประชุมอนุมัติให้มีกรรมาธิการเพียง 1 คน คือ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ส่วนอีก 5 คนที่เหลือให้เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ

นั่นก็เท่ากับว่า ข้อเสนอจากฝ่ายเกษตรกรมีโอกาสที่จะได้รับการตอบสนองน้อยมาก เพราะในกรรมาธิการมีเพียงนายประพัฒน์เสียงเดียว อีกทั้งนายประพัฒน์เองก็ไม่ได้เป็นเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงอีกด้วย แต่มีสีของนักการเมืองเข้ามาปนอยู่ค่อนข้างมาก ในฐานะอดีตรัฐมนตรีเกษตรฯ ยุคทักษิณ ชินวัตร

จะว่าไปแล้ว หากย้อนไปดูที่มาที่ไปของร่าง พ.ร.บ.การยางฯ จะเห็นว่ามีความพยายามผลักดันมาเป็นสิบปีแล้ว โดยในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยแรก ที่สถานการณ์การผลิตรถยนต์ชะลอตัว ขณะที่ประเทศไทยมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางมากขึ้นตามนโยบายการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งเพิ่มขึ้น 1 ล้านไร่ในปี 2549 และมีการคาดหมายกันตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า ในปี 2555-2556 เมื่อผลผลิตยางออกมาเต็มที่ จะทำให้มีวัตถุดิบล้นตลาดได้ ซึ่งนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมการยางแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดันเมืองยางพารา และ พ.ร.บ.การยางแห่งชาติให้ออกมาโดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับสถานการณ์นี้

แต่ช่วงเวลานั้น เป็นช่วงปลายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมัวแต่แก้ปัญหาทางการเมืองให้ตัวเอง เพราะมีพฤติกรรมการทุจริตมากขึ้น และประชาชนเริ่มออกมาขับไล่ ทำให้การเสนอร่าง พ.ร.บ.การยางฯ หยุดชะงักไป

ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการนำร่าง พ.ร.บ.การยางฯ มาทำต่อจนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ แต่ปัญหาสภาล่มที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงนั้น ก็ทำให้ พ.ร.บ.การยางฯ ยังไม่ผ่านสภาออกมา

ถึงยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการนำร่าง พ.ร.บ.การยางฯ มาพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยมีหลักการไม่ต่างจากร่าง ฯ ที่ สนช.กำลังพิจารณาอยู่ตอนนี้ นั่นคือการยุบ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางพารา และจัดตั้ง กยท.ขึ้นมาเป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร ซึ่ง ครม.รัฐบาลยิ่งลักษณ์เห็นชอบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555

แต่ด้วยภารกิจ “พานายใหญ่กลับบ้าน” สภาผู้แทนฯ ที่มี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยครองเสียงข้างมาก จึงมัวแต่ไปผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อลบล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และยังไม่ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางฯ จนสภาถูกยุบไปเสียก่อน

สนช.ในยุคหลังการรัฐประหารโดย คสช.จึงรับมรดกการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางฯ ต่อ ซึ่งเนื้อหาในร่างก็ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก

เห็นได้ว่า แม้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางฯ จะมีเหตุให้ต้องชะงักมาโดยตลอด แต่ร่าง พ.ร.บ.การยางฯ ก็ยังคงได้รับการสานต่อมาอย่างต่อเนื่องทุกรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลประชาธิปไตย หรือรัฐประหาร รัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณหรือรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่อยู่คนละขั้วการเมือง

นั่นแสดงว่า กลุ่มผลประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังร่าง พ.ร.บ.การยางฯ ไม่ว่าในยุคไหน ต่างก็ยึดโยงอยู่กับอำนาจรัฐ และน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เกษตรกรชาวสวนยางทั่วไปแน่นอน

ชาวสวนยางตัวจริงจึงไม่มีสิทธิมีเสียงในการนำเสนอเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างที่เป็นอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น