xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หลวงลุงมนต์เสื่อม ม็อบยางลุกฮือ ท้าทายบิ๊กตู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนชาวสวนยางที่มายื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มนต์สะกดชาวสวนยางพาราของ "หลวงลุงกำนัน" ที่ขอโอกาสให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศให้อยู่ในความสงบราบคาบคงความศักดิ์สิทธิ์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะคนเรามันต้องกินต้องใช้จะให้ก้มหน้ารับราคายาง 3 กิโลร้อยบาท เห็นทีจะไม่ไหว

และในที่สุดเมื่อมนต์คาถาเสื่อม คนกันเองจำใจต้องก่อม็อบเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาแก้ไขปัญหาราคายางก่อนจะอดตายกันทั้งบ้าน

ปัญหาราคายางตกต่ำเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาและต่อเนื่องมาจนถึง ทุก วันนี้ ถึงแม้จะมีมาตรการพยุงราคาออกมาเป็นระยะๆ แต่ก็แค่บรรเทาอาการเท่านั้น เมื่อมาประจวบเหมาะกับราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างฮวบฮาบจึง เป็นปัจจัยฉุดราคายางให้ดิ่งเหวหนัก ต่ำสุดในรอบหลายสิบปีเลยก็ว่าได้

แต่นั่นก็เป็นปัญหาที่ท้าทายและพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลทหารเป็นอย่างดีว่าจะสามารถบริหารจัดการปัญหาของประชาชนในประเทศให้อยู่ดีกินอิ่มได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกรที่มีรายได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับฝนฟ้าและราคาผลผลิตที่ผูกไว้กับตลาดโลก

ว่ากันอันที่จริงแล้ว รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าโชคดีทีเดียวที่ชาวสวนยางซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวใต้รักและเคารพเชื่อฟังหลวงลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ซึ่งกล่อมให้ชาวสวนยางอยู่ในที่ตั้งไม่ออกมาประท้วงเรียกร้องรัฐบาลให้ห่วงหน้าพะวงหลังในการสร้างบรรยากาศความสงบสุขในบ้านเมืองแม้ว่าราคายางจะดิ่งลงอย่างหนัก และพล.อ.ประยุทธ์ เคยพลั้งเผลอไล่ให้ชาวสวนยางเอายางไปขายที่ดาวอังคารมาแล้วถ้าอยากได้ราคากิโลละร้อย แต่ชาวสวนก็ยังใจเย็นอยู่ได้เป็นนานสองนาน

แต่สุดท้ายทนกันไม่ไหวและไม่เห็นอะไรดีขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยนกับการอยู่นิ่งเฉย การเจรจาพูดคุยกันบนโต๊ะประชุมเพื่อหาทางออกไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาในเชิงรูปธรรม มีแต่ความล่าช้าติดขัด ซึ่งแม้กระทั่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ “หม่อมอุ๋ย” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ถึงกับออกปากเบื่อขั้นตอน กฎระเบียบที่ทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้าไม่ทันการณ์ ทำให้ชาวสวนนัดหมายเตรียมพร้อมออกมาชุมนุมโดยไม่สนกฎอัยการศึก จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสั่งการลงมาให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อสยบม็อบที่เตรียมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 9 - 10 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา พร้อมกับเข็นมาตรการช่วยเหลือให้ตกถึงมือชาวสวนยางโดยเร็ว

กล่าวสำหรับมาตรการที่หม่อมอุ๋ยนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 ที่จะเข้ามาช่วยซื้อยางพาราเพื่อดึงราคายางให้สูงขึ้นสำคัญๆ คือ 1.ให้สหกรณ์เข้ามารับซื้อ ซึ่งมาตรการนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา 2.การให้องค์การสวนยาง (อสย.) รับซื้อ แต่มาตรการนี้มีขั้นตอนอนุมัติมากเหลือเกิน จึงเพิ่งเริ่มอนุมัติและลงมือซื้อจริงได้เพียง 10 วันเท่านั้น และ 3.กลุ่มน้ำยางข้นจะไปรับซื้อน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งมีขั้นตอนการอนุมัติยาวเช่นกัน

“หม่อมอุ๋ย” บ่นดังๆ ว่า “ทั้ง 3 แรงนี้บังเอิญทำงานได้ไม่พร้อมกันอย่างที่ได้เสนอไปตั้งแต่แรก ถ้าเสนอแล้วมีการอนุมัติตั้งแต่แรก ป่านนี้ราคายางพาราขึ้นไปนานแล้ว ดังนั้น ต้องให้เวลานิดหนึ่ง ที่ช้าเพราะติดขัดขั้นตอนเยอะ จนเบื่อเหมือนกัน บางทีผมก็เบื่อ ตอนนี้หมดแล้ว ไล่จนขั้นตอนต่างๆ หมดแล้ว ผมไม่คิดว่าจะมีคำถามมากมายขนาดนี้ คำถามเยอะเหลือเกิน แต่คงไม่ได้ราคาที่ 80 บาท ตามที่เกษตรกรเรียกร้องหรอก ต้องค่อยๆ ซื้อไป ขณะนี้ยางออกน้อย ใครอั้นตลาดไว้ผมก็ไม่รู้ เพราะยางเคยออกทุกปี 4 ล้านตัน แต่ปีนี้จากการที่มีเจ้าหน้าที่ไปสำรวจมาจนถึงสิ้นฤดูกาล มีปริมาณยางออกมาเพียง 3 ล้านกว่าตัน น้อยกว่าความต้องการแน่นอน แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราซื้อขึ้นให้ได้ ตอนนี้เร่งซื้อแล้ว เราต้องคุยกับชาวสวนยางให้เข้าใจว่าเรามีความตั้งใจ ก็จะเร่งซื้อยางให้มากขึ้น”

คำให้สัมภาษณ์ของหม่อมอุ๋ย ไม่เพียงแต่อ้อนให้ชาวสวนยางอดใจรออีกสักนิด ขอเวลาและขอโอกาสให้รัฐบาลอีกสักหน่อยเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบการซื้อขายยางที่ซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงอีกด้วย

ทว่า การที่หม่อมอุ๋ยโทษ “ไอ้โม่ง” ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้นั้น ดูเหมือนจะเป็นตรรกะที่ไม่สมเหตุสมผล และกลับกลายเป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นเสียด้วยซ้ำไป เพราะถ้ามีไอ้โม่งจริงที่มิใช่ไอ้โม่งซึ่งเป็นคำที่ใช้แก้ตัวแบบขอไปที หม่อมอุ๋ยน่าจะมีรายละเอียดของไอ้โม่งที่มากกว่านี้

ที่สำคัญคือจะมีไอ้โม่งที่ไหนมาอั้นตลาดไว้ในขณะที่ราคายางตกต่ำขนาด นี้

หรือหม่อมอุ๋ยจะหมายความว่า มีใครบางคนเก็บกักตุนยางเอาไว้เพื่อรอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแล้วถึงจะปล่อยผลผลิตออกมาสู่ตลาดเช่นนั้น

ขณะที่นายอำนวย ปะติเส รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่คสช.แต่งตั้งให้เข้ามาแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นภารกิจหลัก ก็ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ราคายางสูงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 80 บาท ตามข้อเรียกร้องของเกษตกร เพราะราคาน้ำมันดิ่งลงทำให้ราคายางขึ้นช้า เมื่อยางสังเคราะห์มีราคาถูกและยังสามารถใช้แทนยางธรรมชาติได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันยางสังเคราะห์กำลังไล่ทุบยางธรรมชาติอยู่ เป็นกลไกตลาดปกติ ส่วนจะมีการเก็บหรือซ่อนเร้นที่ไหนอย่างไรยังไม่มีข้อเท็จจริงตรงนั้นปรากฏ แต่ให้มีการตรวจสอบแล้ว

ปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำที่กำลังเป็นอยู่นี้ ถึงแม้หลวงลุงกำนันจะขอร้องให้ใจเย็น และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะเข็นมาตรการออกมาช่วยบรรเทาปัญหา เช่น ระยะสั้นแจกกันไร่ละพันไม่เกินรายละ 15 ไร่ อีกทั้งมีมาตรการที่รัฐบาลจะจัดหาแหล่งเงินปล่อยสินเชื่อแก่สห-กรณ์และอสย.เข้าเพื่อมารับซื้อเพื่อดันราคายางให้เพิ่มสูงขึ้น แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่เป็นไปตามที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางต้องการ ไม่ว่าจะเป็นราคายางที่ยังไม่ขยับ แหล่งเงินที่จะนำมาช่วยเหลือที่ยังติดขัด ลามเลยไปถึงการยื่นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบเรื่องยางอีกด้วย

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ที่นำทีมเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 โดยมีนายอำนวย ปะติเส รมช.กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ออกมารับหนังสือ มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลรับซื้อยางพารากิโลกรัมละ 80 บาท โดยชดเชยส่วนต่างเป็นพันธบัตรรัฐบาล ประมาณการงบประมาณในการซื้อยางพาราแผ่นดิบชั้นสามไว้ที่ 1 ล้านตัน จนถึงฤดูปิดกรีด โดยชดเชยส่วนต่างกิโลกรัมละ 30-40 บาท เป็นเงินงบประมาณที่ออกเป็นพันธบัตร 30,000 - 40,000 ล้านบาท และรัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินให้ชาวสวนยางจนกว่าจะครบกำหนดของพันธบัตร

อย่างไรก็ตาม เรื่องการออกพันธบัตรนั้น พล.อ.ประยุทธ์ แสดงท่าทีเพียงแบ่งรับแบ่งสู้ โดยบอกว่าเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่หากคิดว่ารัฐบาลจะต้องหาเงินมาอุดหนุน ถ้ามีคงให้ได้หมด “ขณะนี้จะเอาเงินมาจากไหน เงินส่วนต่างเท่าไหร่ รู้หรือไม่ ตอนนี้รัฐบาลมีเงินงบกลางอยู่เท่าไหร่ ถ้าใช้งบกลางไปเรื่อยๆ แล้วมีเหตุการณ์เร่งด่วนอื่นๆ เกิดขึ้นมา จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ ประเทศจะล้มละลายได้....” นั่นเป็นท่าทีของนายกรัฐมนตรี และเป็นอันคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า ข้อเสนอของเกษตรกรชาวสวนยางถูกปัดทิ้งไปอย่างไม่ใยดีไปเรียบร้อย

ไม่เพียงแต่ขอให้รัฐบาลออกพันธบัตรหาเงินมาชดเชยส่วนต่างราคาเท่านั้น กลุ่มเกษตรกรที่นำโดยนายถาวร วรรณกูล กรรมการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชส.ยท.) ยังมีข้อเสนอการแก้ปัญหาเร่งด่วนคือ รัฐต้องดึงเงินงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย.ซึ่งเป็นเงินจากภาษีส่งออกยางพาราที่เก็บจากเกษตรกร หรือเงิน Cess ซึ่งสกย.ฝากแบงก์เพื่อกินดอกเบี้ยจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท โดยนำเงินส่วนนี้มาจัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ และวัสดุสำหรับราดพื้นผิวถนน ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที และเป็นไปตามนโยบายการพัฒนายางพาราที่รัฐบาลวางไว้

ในมุมมองของแกนนำชาวสวนยาง มองว่า เราสามารถลงทุนได้เอง แต่หากจนถึงขณะนี้แล้วเรายังรอให้ประเทศอื่นมาลงทุนตั้งโรงงานแล้วให้เกษตรกรนำวัตถุดิบไปขาย เราก็จะพบปัญหาเดิมๆ อีก ประเทศเราสามารถลงทุนตั้งโรงงานได้เอง แต่ทำไมไม่ทำ เรามีมหาวิทยาลัยที่สอนนักศึกษาเรื่องแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งระบบพวกเขาเรียนจบแล้วไปทำงานที่ไหน ทำงานอะไร รับใช้ใคร ปัญหาเรื่องยางยังมีส่วนที่จะต้องแก้ไขอีกมาก จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หากไม่แก้ทั้งโครงสร้างก็จะยังมีปัญหาเรื่องราคาแบบนี้อยู่เรื่อยๆ คนที่ลำบาก และได้รับผลกระทบมากที่สุดทุกยุคทุกสมัยก็คือ เกษตรกร ในขณะที่ครอบครัวของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งดูแลเรื่องยางพาราโดยบริหารจากเงินภาษีของเกษตรกร กลับมีชีวิตที่สุขสบาย และไม่รู้สึกได้รับความเดือดร้อนอะไรเลย

ข้อเสนอของเกษตรกรชาวสวนยาง จะได้รับการตอบสนองหรือไม่ หรือจะถูกปัดทิ้งไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นการออกพันธบัตร หรือการเอาเงิน CESS มาลงทุนเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างยั่งยืน ขณะที่มาตรการอื่นๆ ของรัฐบาลก็ไม่ได้ผล ถ้ารูปการณ์ออกมาเช่นนั้น นับเป็นการสะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีฝีมือในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ

อย่างที่นายถาวร แกนนำชาวสวนยางวิพากษ์วิจารณ์ว่า “มาถึงวันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า องค์กร และบุคคลต่างๆ ที่รัฐตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสวนยางพาราอย่างเป็นระบบนั้นด้อยประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาหรือวางแผนไปสู่ความยั่งยืนได้จริง”

การมองข้ามช็อตอย่างทะลุปรุโปร่ง ชาวสวนยางจึงลงความเห็นและมีข้อเสนอพ้องกันว่า ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และนายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ไขปัญหาราคายางผิดพลาด จึงขอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาด้วยว่าควรให้บุคคลทั้งสองคนดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อหรือไม่

นอกจากข้อกังขาเรื่องความไม่มีฝีมือในการบริหารจัดการของรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และราคาน้ำมันโลกดิ่งฮวบ ฉุดราคายางแล้ว ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่น่าเคลือบแคลงสงสัยก็คือ เล่ห์เหลี่ยมของพ่อค้าส่งออกยางในมือกลุ่ม 5 เสือการยาง ที่นายสุนทร รักษ์รงค์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง เคยตั้งข้อกังขาว่าจ่ายผลประโยชน์ให้แก่นักการเมือง และข้าราชการในกระทรวงเกษตรฯ เพื่อทำร้ายชาวสวนยางตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

ประเด็นนี้ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย ผู้คร่ำหวอดในวงการยางมาชั่วชีวิต ก็ขอให้ คสช. เชิญบริษัทผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศ 5 บริษัท หรือที่เรียกกันในวงการว่า 5 เสือการยาง เข้าไปพบด้วย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาเวลามีปัญหาราคายางตกต่ำไม่เคยมีรัฐบาลใดไปพูดถึงพ่อค้ารายใหญ่กลุ่มนี้เลย ทั้งที่เป็นกลุ่มคนที่รู้เรื่องการซื้อยางและราคายางดีที่สุด เนื่องจากรับซื้อยางมากถึง 60% ของยางทั้งระบบ หรือรับซื้อปีละกว่า 2 ล้านตัน จากผลผลิตปีละประมาณ 4 ล้านตัน แม้ตอนนี้จะทราบมาว่า รมช.เกษตรฯได้นัด 5 เสือการยางเข้าพบแล้ว แต่คิดว่าอำนาจรัฐมนตรีอาจไม่พอกดดันพ่อค้ามีเงินมหาศาลได้

สำหรับกลุ่ม 5 เสือบริษัทส่งออกยางของไทยซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการยาง คือ บริษัทไทยฮั้วรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) บริษัทเซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด บริษัทวงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัทไทยรับเบอร์ ลาแท็คซ์กรุ๊ป จำกัด และบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCO)

ถึงวันนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังดิ่งลงเรื่อยๆ นั่นหมายถึงราคายางพาราก็จะดำดิ่งลงไปอีกเช่นเดียวกัน การดิ้นรนของชาวสวนยางพาราในวันที่เวทย์มนต์ของหลวงลุงกำนันเสื่อมลงแล้ว ได้แต่อดใจรอดูว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะรับมือกับสถานการณ์ความเดือดร้อนเรื่องปากเรื่องท้องของชาวสวนยาง และรวมไปถึงประชาชนทุกหมู่เหล่าที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองข้าวของแพง ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

หรือว่ามนต์คาถา คสช. และกฎอัยการศึก ก็ถึงคราวเสื่อมลงแล้วเช่นกัน


การชุมนุมของชาวสวนยางเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
ม.ร.ว.ปรีดายาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น