โดย..สุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง และนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้
บทนำ
วิกฤตยางพาราไทย โดยเฉพาะปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ และไม่สามารถหาทางออกได้ แม้รัฐบาลจะพยายามอย่างไร ราคายางพาราก็ยิ่งตกต่ำ ทั้งๆ ที่เรามีเครื่องมือมากมายในการแก้ปัญหา เช่น มาตรา 44 ที่สามารถสั่งการให้หน่วยงานของรัฐใช้ยางในประเทศได้
และยังมี พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่ก้าวหน้า อีกทั้งไทยยังเป็นผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก ที่มีสภาไตรภาคียาง (International Tripartite Rubber Council) มีสมาชิกอยู่ 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย คือ IRCO International Rubber Consortium Limited แต่ไม่เคยมีพลัง และสามารถเอามาใช้งานได้จริง หรือจริงๆ แล้วรัฐบาลไม่มีฝีมือในการแก้ปัญหานี้ รัฐบาลทหารมีจุดอ่อน คือ ขาดความรู้ และความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ
อีกทั้งรัฐบาลชุดนี้ยังเต็มไปด้วยข้าราชการ และอดีตข้าราชการในคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องยอมรับว่าข้าราชการเหล่านี้ก็เคยอยู่ในวงจรของสามเหลี่ยมทรราช ประกอบด้วย “นักการเมืองโกง ข้าราชการชั่วและนายทุนเลว” และมีส่วนร่วมในการทำร้ายประเทศไทยที่ผ่านมา และข้าราชการไทยใครก็รู้ว่ามีวัฒนธรรมสั่งการ (Top down) ไม่ค่อยฟังเสียงของประชาชน (Bottom up) มีวิชันเชิงรับมากกว่าเชิงรุก
ที่อันตรายต่อการปฏิรูปประเทศไทยก็คือ รัฐมีมุมมองต่อพลเมืองไทยว่า “ดื้อ ชั่ว โง่ และอ่อนแอ” เลยต้องออกกฎหมาย “บังคับ ควบคุม และอนุญาต” ทำให้ในปัจจุบันทุนสามานย์เข้าถึงอำนาจรัฐได้ง่ายผ่านข้าราชการที่ทุนเหล่านี้เคยเลี้ยงดูปูเสื่อ ผ่านนักการเมือง เข้าทำนองลงทุนต่ำกำไรสูง (Low Profile High Profit) และรัฐมนตรีก็ตกอยู่ในหมากล้อมนี้ และเชื่อฟังข้าราชการอย่างไม่มีทางเลือก ในขณะที่ประชาชนเข้าถึงอำนาจรัฐได้น้อยมาก จะเคลื่อนไหวก็ถูกควบคุมด้วยกฎหมายพิเศษยุค คสช.ถูกกดดันจนใกล้ระเบิด
การจัดตั้งคณะกรรมการภาครัฐ และเอกชนในนาม “ประชารัฐ” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แบ่งเป็นคณะทำงานย่อย 12 ชุด จะเห็นว่ามีแค่ตัวแทนจากภาครัฐ นายทุน พ่อค้า ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาชน เหมือนฝากปลาย่างไว้กับแมว จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่รัฐบาลนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กำลังทำให้อำนาจของสังคมการเมือง (PoliticalSociety) อยู่ในมือกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาด และรัฐบาลกำลังถอยห่างจากความเห็นค้านของภาคประชาสังคม (Civil Society) โดยประชาธิปไตยของทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดไม่กระทบกระเทือนเลย แต่ชีวิตทางเศรษฐกิจของชนชั้นล่างสังคมไทยกลับย่ำแย่ และกำลังล่มสลาย
ผู้เขียนเชื่อว่าในปี 2559 จะเกิดความขัดแย้งครั้งสำคัญระหว่างคนจนผู้ไม่รับความยุติธรรม กับทุนใหญ่ผูกขาด จนเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และสุดท้ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบ
การแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ลองให้เกษตรกรชาวสวนยางได้ร่วมกันออกแบบอนาคตของตัวเองผ่านแผนแม่บทยางพาราไทยดูสิครับ ให้เกษตรกรชาวสวนยางช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยรับผิดชอบ อาจมีทางออกจากวิกฤตก็เป็นได้
บทความนี้จะเสนอเป็นตอนๆ โปรดติดตามครับ