โดย...สุนทร รักษ์รงค์
ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง ๑๖ จังหวัดภาคใต้
การลงพื้นที่ภาคใต้ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ เพื่อเยี่ยมเยียน และให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพร้อม “คิกออฟ” โครงการสร้างความเข้มแข็ง โดยให้แก่เจ้าของสวนยาง ๙๐๐ บาท คนกรีดยาง ๖๐๐ บาท ไม่เกิน ๑๕ ไร่ แม้พระยาเหยียบเมืองในครั้งนี้จะไม่สามารถทำให้ราคายางสูงขึ้น “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” ก็ขอขอบคุณรัฐบาลที่ยังให้ความสำคัญ และพยายามทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทย
ความต้องการใช้ยางพาราของโลก ๑๒ ล้านตัน ประเทศไทยผลิตได้ปีละ ๔ ล้านตัน โดยเป็นผู้ผลิตยางอันดับหนึ่งของโลก ในพื้นที่ ๒๓ ล้านไร่ ซึ่งเปิดกรีดแล้ว ๑๘ ล้านไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยาง ๖ ล้านคน คนกรีดยาง ๒ ล้านคน แต่ไทยไม่เคยเป็นผู้ชี้นำตลาดยางพาราได้เลย เป็นเพราะอะไร? เป็นเรื่องที่น่าติดตาม และค้นหาคำตอบ
แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง อันประกอบด้วย คนกรีดยาง เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ รวมทั้งชาวสวนยางรายย่อยที่เรียกตัวเองว่า “ชาวสวนยางชายขอบ” ถูกก่อตั้งมาในสถานการณ์ที่ชาวสวนยางมีอาการโคม่าที่ต้องช่วยเหลือเยียวยา และ “กู้ชีพ” อย่างเร่งด่วน ซึ่งมีหลายสาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤตยางพาราไทย โดยเฉพาะปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เช่น เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันปิโตรเลียมลดลง การมีพื้นที่ปลูกยางเพิ่มมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน การปั่นราคายางในตลาดกระดาษ หรือตลาดซื้อขายล่วงหน้า นักการเมือง และรัฐบาลที่ผ่านมาขาดความจริงใจที่จะแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยรับใช้นายทุนส่งออกเพียงอย่างเดียว ๕๐ ปี ยางพาราไทยจึงมีการส่งออกยางธรรมชาติเพียง ๘๖% และแปรรูปแค่ ๑๔%
อีกปัญหาที่สำคัญคือ การรวมตัวของเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านมาอ่อนแอ ไม่มีความเข้มแข็ง ถูกชี้นำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริต และแสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ของเกษตรกรชาวสวนยาง
บทความนี้นำเสนอเฉพาะสาเหตุที่มาจาก “สนิมเนื้อใน” อันเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขัดขวางการปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ นั่นคือ ท่าทีของผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ไม่ได้เอาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางมาเป็นศูนย์กลาง กลับเอาผลประโยชน์ส่วนตนมาเป็นที่ตั้ง จนขาดจิตสำนึกแห่งการเป็น “ผู้รับใช้” เกษตรกรชาวสวนยาง ประเทศชาติ และประชาชน
ยังคงมีเพียงวัฒนธรรมเดิมๆ คือ ความเป็น “นาย” ทั้งๆ ที่เงินทุกบาททุกสตางค์ที่พนักงาน กยท.ใช้หล่อเลี้ยงชีวิต และครอบครัว มาจากหยาดเหงื่อ และแรงงานของเกษตรกรชาวสวนยาง จากภาษียางทุกต้น น้ำยางทุกหยด ที่เรียกว่า เงิน “cess”
หลายครั้งที่ผู้เขียนพูดเรื่องนี้ มีเจ้าหน้าที่สำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ไม่สบายใจ และรับไม่ได้ ก็ขอออกตัวมา ณ ที่นี้ พนักงาน สกย.คนใดที่มีอุดมการณ์ และรับใช้เกษตรกรชาวสวนยางด้วยความจริงใจมาโดยตลอด ผู้เขียนของกราบคารวะด้วยหัวใจ และจะได้รับความไว้วางใจจากเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ
แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางมีมติส่ง นายสุนทร รักษ์รงค์ เข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย และได้ร่วมแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้เป็นกฎหมายเกษตรที่ก้าวหน้า นั่นคือ มีบทบัญญัติว่าด้วยคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะคนกรีดยาง จนเกิดสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางได้สำเร็จ
และ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ได้ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘ โดยที่เกษตรกรชาวสวนยางมีหวัง และความฝันว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือ และกลไกในการปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ เพื่อพาพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางข้ามหุบเหวแห่งความทุกข์ แต่ปรากฏว่า เกือบ ๖ เดือนหลัง พ.ร.บ.นี้ประกาศใช้ ฝันของเกษตรกรชาวสวนยาง ทำท่าจะกลายเป็นฝันลมๆ แล้งๆ ไร้อนาคต
ท่ามกลางความทุกข์อย่างแสนสาหัสของเกษตรกรชาวสวนยาง อันเนื่องมาจากปัญหาราคายางตกต่ำ ในขณะนั้นเหลือเพียง “สามโลร้อย” จนมีวลีเด็ดว่า “ของแพง ยางถูก ลูกอด รถถูกยึด” เกษตรกรชาวสวนยางหลายคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว บางคนไม่มีทางออก ตัดสินใจหนีปัญหาชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายก็มี
แต่การประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ แทนที่จะเอาปัญหาราคายางพาตกต่ำมาเป็นวาระเร่งด่วน และสำคัญ กลับปรากฏวาระที่ ๓.๒ เรื่องของอนุมัติจัดสรรเงินเพื่อจ่ายเป็นโบนัสคณะกรรรมการ และพนักงานสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ประจำปี ๒๕๕๗ เป็นเงิน ๕๐,๔๓๒,๗๔๒.๗๓ ล้านบาท แม้มีเสียงทักท้วงจากกรรมการบางท่าน แต่ก็ไม่ได้นำพา อ้างทำตามนโยบายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
ไม่ผิดกฎหมายครับ แต่มีความเหมาะสมหรือไม่? นี่คือคำถาม เพราะเงินโบนัส ๕๐ ล้านบาทดังกล่าวมาจากภาษี cess ของเกษตรกรชาวสวนยาง และ สกย.เป็นรัฐวิสาหกิจส่งเสริมมิใช่รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจเพื่อแสวงหาผลกำไร
ในมาตรา ๒๔ ของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยสามารถตั้งอนุกรรมการเพื่อประโยชน์แห่งกิจการของ กยท. แต่การร่างระเบียบข้อบังคับการยางแห่งประเทศไทย หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าคือ กฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ. ปรากฏว่าเกษตรกรชาวสวนยางถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วม แม้ทางเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพยายามท้วงติง และเสนอชื่อ กลับถูกอ้างว่าเป็นความลับ
สรุปแล้ว การยางแห่งประเทศไทยเป็นของเกษตรกรชาวสวนยาง หรือของใคร? กันแน่?!
เพราะที่ผ่านมา แม้แต่กฎหมายแม่อย่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ยังมีตัวแทนเกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญถึง ๔ คน แต่พอร่างกฎหมายลูก พวกคุณขีดวงไม่ให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้าไปเป็นอนุกรรมการ เพราะอะไร?
จนกระทั่งมีประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เรื่องระเบียบ และข้อบังคับการจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา ๔ ที่ไปลิดรอนสิทธิของเกษตรกรกรชาวสวนยาง และผิดเจตนารมณ์แห่ง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เกษตรกรชาวสวนที่เสียสิทธิเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง
การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในส่วนของผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางตามาตรา ๑๗(๓) ก็สร้างความขัดแย้งในหมู่เกษตรกรชาวสวนยางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย บางคนรู้เห็นเป็นใจกับพนักงานให้เปิดเพจ เฟซบุ๊ก “การยางพารา” ระบุเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเอง ไม่มีกฎหมายรองรับ แปลว่าเป็นองค์กรเถื่อน แต่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้การยางแห่งประเทศไทย มีการใส่ร้ายป้ายสี สร้างข้อมูลเท็จ เพื่อทำลายคนที่คิดต่าง
โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นแคนดิเดตบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย ทั้งยังประกาศสนับสนุนคนของฝ่ายตนเองให้ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทยอย่างเปิดเผย น่าหนักใจครับ...กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่มีเงินหมุนเวียนนับหมื่นล้าน
ในมาตรา ๗๕ กำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายใน ๑๒๐ วัน ปรากฏว่า วันนี้หลังจากมติคณะกรรมการสรรหาเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เป็นเวลาเดือนกว่าๆ ก็ยังไม่มีการเสนอชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ให้ ครม.แต่งตั้งได้ เรื่องนี้มีอะไรอยู่เบื้องหลัง?
ทำไมตอนแรกหลายฝ่ายอ้างต้องเร่งดำเนินการสรรหาบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้า เพราะบอร์ดโดยตำแหน่งไม่กล้าตัดสินใจ ก็ไม่เข้าใจว่ารออะไรกันอยู่?
นี่ยังไม่รวมถึงการรับสมัครผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปอย่างเร่งรีบอย่างผิดปกติ และมีการทุจริตในหลายจังหวัด เช่น ที่จังหวัดชุมพร มีการกระทำความผิดชัดเจน คือ การรับสมัครเกินเวลา เจตนาช่วยคนของ สกย.ให้เข้าเป็นผู้แทนระดับจังหวัดอย่างน่าเกลียด จนผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดชุมพร ต้องประกาศยุติการสรรหาในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ซึ่งมีการบันทึกแจ้งความของผู้เสียหายไว้ที่ สภ.เมืองชุมพร
การลงนามสัญญาซื้อขายยาง ๒ แสนตันแบบ “จีทูจี” กับ “ซิโนเค็ม” รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของจีน เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่มีการระบุในสัญญาว่า ต้องเป็นยางใหม่ไม่เกิน ๓ เดือน และต้องผลิตจาก ๕ เสือส่งออกเท่านั้น แปลกๆ ไหมครับ ในปีหน้าทุกคนก็รู้ว่าจะเกิดภัยแล้ง หรือปรากฏการณ์เอลญิโน่ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตอย่างพาราลดลง และราคายางจะถีบตัวสูงขึ้น แต่ไปทำสัญญาผูกมัดตัวเองในราคาต่ำ
ทำไมไม่รอคณะกรรรมการการยางแห่งประเทศไทยเต็มคณะ ได้พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน รีบร้อนทำไม?
การยางแห่งประเทศไทย ได้อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ “ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย” เป็นการชั่วคราวตามมาตรา ๗๔ เพียงเพราะผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย คนเก่าลาออกก่อน ๑๒๐ วัน และคนของการยางแห่งประเทศไทย ก็ไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว และมีทิศทางจะนั่งเก้าอี้ยาว
ทั้งนี้ เพราะการสรรหาผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เพื่อให้ ครม.แต่งตั้งตามมาตรา ๒๖ มีการรับสมัคร และเลื่อนถึงสองครั้ง ซึ่งมีแนวโน้มจะประกาศเพื่อรับสมัครใหม่เป็นครั้งที่ ๓ ท่ามกลางเสียงข่าวลือหนาหูเรื่องการ “ล็อกสเปก” และความพยายามที่จะรักษาอำนาจของผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย เพื่ออะไร เพื่อใคร และมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ขอฝากเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรัฐมนตรีรักษาการตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ไว้ด้วยว่าการแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราตกต่ำต้องอาศัยความจริงจัง และจริงใจ รวมทั้งการเสียสละจากทุกฝ่าย เพื่อคืนความสุขให้เกษตรกรชาวสวนยาง
แม้ฝ่ายรัฐบาลจะมีนโยบายที่ดีอย่างไรในการแก้ปัญหาดังกล่าว หากผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักยังมีพฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้น ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และยิ่งสร้างปัญหาให้เลวร้ายมากกว่าเดิม
วันนี้ ปี ๒๕๕๘ เกษตรกรชาวสวนยางยังคงไว้ใจ และเชื่อใจรัฐบาล แต่ปีหน้า ๒๕๕๙ แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางไม่สามารถบอกได้ว่า เกษตรกรชาวสวนยางจะยังไว้วางใจรัฐบาลนี้อีกต่อไปหรือไม่?!
“อย่าร้องไห้ ชาวสวนยาง...”