หนุ่มสวนยางที่นครศรีฯ ผูกคอดับ เหตุราคายางตกจนเครียด ขณะที่แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยื่น 5 ข้อ แก้ปัญหา ทวงบุญคุณรัฐบาลทหารและเรียกร้องให้ "เทพเทือก" ออกมารับผิดชอบก่อนจะมีตายอีก นายกฯ สั่งด่วน 8 กระทรวง รับซื้อ ขีดเส้นส่งยอดความต้องการให้ สลค.เที่ยงวันนี้ พวกรับซื้อกดราคาต่ำ 34 เจอ กม.เล่นแน่
เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (10 ม.ค.) ที่สหกรณ์การปฏิรูปที่ดินท่าแซะ จำกัด ต.ท่าเคย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ที่ประกอบด้วย สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ สมาคมเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี โดยนายสุนทร รักษ์วงศ์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ นายกิตติศักดิ์ วิโรจน์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี นายสมปราชญ์ วุฒิจันทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พร้อมเครือข่ายได้ออกแถลงณ์การเรียกร้องให้ทางรัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยยื่นข้อเสนอ จำนวน 5 ข้อ ประกอบด้วย
1. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโครงสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางเร่งด่วน 2. ให้รัฐบาลยุติการขายยางพาราในสต๊อก 3.6 แสนตัน โดยประกาศให้เป็น Dead Stock และใช้มาตรา 44 เพื่อบังคับให้มีการใช้ยางในประเทศต่อไป 3. ให้การยางแห่งประเทศไทยขับเคลื่อนโดยเกษตรมีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อให้พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เป็นเครื่องมือและกลไกในการปฎิรูปยางพาราทั้งระบบ โดยให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมกายางแห่งประเทศไทย (บอร์ดการยาง) ทันทีเมื่อเปิดประชุมครม. และเร่งสรรหาผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ให้เร็วที่สุด
4. มีมติสนับสนุน และเข้าร่วมกิจกรรมกับทุกเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ในการต่อสู้เพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง และเข้าร่วมประชุมแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ที่จังหวัดตรัง ในวันที่ 12 ม.ค.59 พร้อมเสนอเรียกร้องราคายางกก.ละ 60 บาท หากไม่ได้ จะนัดชุมนุมใหญ่ 5. ให้รมว.เกษตรและสหกรณ์ ทบทวนทำงานของที่ปรึกษารัฐมนตรี นายอำนวย ปะติเส และ ผู้ช่วยรัฐมนตรี นางจินตนา ชัยยวรรณการ เหตุไม่มีความสามารถ และสร้างความแตกแยกให้แก่เกษตรกร
** ขู่ชุมนุมใหญ่-ทวงบุญคุณทหาร
แกนนำได้ระบุว่า วันนี้ชาวใต้ ขอทวงบุญคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่มีวันนี้ได้เพราะชาวใต้ ที่ทำให้เข้ามามีผลประโยชน์ในอำนาจรัฐ และขอร้องอย่าพยายามเหยียบย่ำซ้ำเติมคนใต้ไปมากกว่านี้ พร้อมระบุว่า การชุมนุมนั้น ขอเดินตามกรอบ พ.ร.บ.การชุมนุม และอยากจะบอกว่า การชุมชุมจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงนั้น ยังบอกไม่ได้ แต่ขอร้องต่อนายกฯ ให้ลดความแข็งกร้าวในการตอบโต้ชาวสวนยาง ว่า ถ้าชาวสวนยางเคลื่อนไหวแล้วจะดำเนินคดี หรือ กรณีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พูดว่าประท้วงไปก็ไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งคำพูดเหล่านี้ถือว่าเป็นคำพูดที่ท้าทายพี่น้องชาวสวนยาง ที่ผ่านมาถือว่าชาวสวนยางภาคใต้ ได้เสียสละมามากพอสมควรให้แก่รัฐบาลทหารชุดนี้
ทั้งนี้ แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางตั้งขึ้น โดยไม่เกี่ยวข้องต่อการเมือง แต่ก็พร้อมที่จะเคลื่อนไหวสนับสนุนร่วมชุมนุมกับเครือข่าย กปปส. และเครือข่ายของ นายถาวร แสนเนียม อดีตส.ส.ปชป. ที่ จ.สงขลา หรือหลายจังหวัดในภาคใต้ และฝากถึง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ออกมารับผิดชอบชาวสวนยาง ที่นายสุเทพ พาชาวสวนยางไปร่วมชุมนุม จนหมดเงินหมดทอง บางคนต้องขายรถ เสียสละกันไปมาก และในขณะนี้ใครก็ได้ที่นำพาชาวสวนยางข้ามพ้นวิกฤต อย่าให้มีการผูกคอตายเพิ่มขึ้น อย่าให้ลูกหลานชาวสวนยาง ต้องออกจากโรงเรียน อย่าให้ชาวสวนยางเลิกทำสวนยางเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นแทน พร้อมกันนี้กลุ่มแกนนำจะได้เคลื่อนไหวเข้าประชุมร่วมกับภาคี เครือข่ายในวันที่ 12 ม.ค. นี้ ที่ จ.ตรัง เพื่อกำหยดแนวทางเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาลให้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในการอ่านการแถลงการณ์ดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ปกครอง และ ข่าวกรองมาคุมเข้มตลอดการแถลงด้วย
***หนุ่มนครศรีฯ ผูกคอดับสังเวย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (10 ม.ค.) ร.ต.ท.อุทัย ยอดราช พนักงานสอบสวน สภ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ได้รับแจ้งจาก นายกิตติพงษ์ ทองแซม กำนันตำบลเขาน้อย อ.สิชล ว่า พบศพคนผูกคอตายภายในบ้านใน ต.เขาน้อย อ.สิชล จึงเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบที่เกิดเหตุเป็นบ้านปูน 2 ชั้น หน้าบ้านพบรถจักรยานยนต์ฮอนด้า หมายเลขทะเบียน คจจ 48 นครศรีธรรมราช ถูกเผาวอดทั้งคัน ส่วนภายในบ้าน ที่นอนถูกเผาได้รับความเสียหาย ภายในห้องนอนบริเวณชั้น 2 ของบ้าน พบผู้เสียชีวิตผูกคอตายกับคานบ้าน โดยใช้ผ้าขาวม้าต่อกัน 2 ผืน มีเก้าอี้ซ้อนกัน 2 ตัว ล้มลงใกล้กับศพ สภาพศพขาทั้ง 2 ข้าง ห้อยลงบนพื้นเข่างอ เสียชีวิตมาแล้วประมาณ 3 ชั่วโมง
จากการสอบสวนทราบชื่อผู้ตายคือ นายวีรพงค์ สุวรรณนุรักษ์ อายุ 35 ปี เป็นลูกชายเจ้าของบ้าน มีอาชีพกรีดยางพารา อาศัยอยู่กับภรรยา และแม่ของผู้ตายในบ้านหลังที่เกิดเหตุ ผู้ตายอยู่กินกับภรรยามาเป็นเวลากว่า 10 ปี เป็นคนที่ขยันทำงาน หลังจากกรีดยางเสร็จในแต่ละวัน ก็จะไปขับรถบรรทุกสิบล้อเพื่อเป็นรายได้เสริมมาจุนเจือครอบครัว พอมาระยะหลังรายได้เริ่มลดน้อยลง เนื่องจากราคายางพาราตกต่ำลงอย่างมาก ทำให้รายได้ไม่พอจ่าย ช่วงเช้าก่อนที่จะเกิดเหตุ ผู้ตายเครียดจนทะเลาะกับภรรยาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ จนภรรยาต้องหนีไปตามแม่ยายให้มาช่วย ซึ่งแม่ยายไปทำธุระอยู่ไม่ไกลจากบ้านที่เกิดเหตุมากนัก กระทั่งแม่ยายและลูกสะใภ้กลับมาที่บ้าน พบว่า รถจักรยานยนต์ถูกเผาที่หน้าบ้าน พอเข้าไปดูในบ้าน ที่นอนก็ถูกเผา จึงได้เรียกผู้ตายก็ไม่ตอบ ขึ้นไปดูที่ชั้น 2 ของบ้าน พบว่า ห้องนอนของผู้ตายถูกล็อกจากด้านใน จึงช่วยกันงัดประตูออก พบว่าผู้ตายผูกคอเสียชีวิตแล้ว
***นครศรีฯ ยุติชุมนุมหลังยื่นข้อเรียกร้อง
ภายหลังจากเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย 8 จังหวัดภาคใต้ นำโดยนายมนัส บุญพัฒน์ ผู้ประสานงาน นายทศพล ขวัญรอด และแกนนำอีกหลายพื้นที่ได้ใช้สนามหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสถานที่ในการชุมนุม ขณะที่นางจินตนา ชัยยวรรณการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ล่าวุดนายทศพล ระบุว่าหลังจากได้ยื่นข้อเสนอเรียบร้อย ก็จะยุติการชุมนุมภายในคืนวันที่ 10 ม.ค.
***นายกฯสั่ง 8 กระทรวงรับซื้อยาง
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. มีความเป็นห่วงเรื่องปัญหาราคายาง และได้ติดตามปัญหานี้มาตลอด โดยเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมกับตัวแทนทุกฝ่าย ที่กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาได้ แม้อาจไม่ทำให้เป็นที่ถูกใจทั้งหมด แต่ถือว่าช่วยทำให้ปัญหาทั้งหลายผ่อนจากหนักเป็นเบา ซึ่งข้อยุติในวันนั้นคือ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อยาง ตกลงกันจะซื้อยางไม่ให้ราคาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่กก.ละ 34 บาทโดยจะยังไม่พูดถึงข้อกฎหมาย และจะยกระดับราคาให้สูงขึ้นเท่าที่ทำได้ในเวลาที่เหมาะสม
ขณะเดียวกันจากวันนี้ถึงวันที่ปิดกรีดยาง คืออีก 3 เดือน ประมาณการณ์กันว่าจะมียางออกสู่ตลาด 8 แสนตัน ซึ่งกลุ่มที่ซื้อยางทุกส่วนยอมรับในกฎกติกาว่ จะแบ่งสันปันส่วนกันซื้อยางให้หมด ไม่ให้มียางตกค้าง นอกจากนี้ในส่วนของ 16 มาตรการของรัฐบาล จะยังดำเนินต่อไป แล้วเรามั่นใจว่า ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะนำเรื่องนี้ไปชี้แจงให้เกษตรกรที่เกี่ยวข้องทราบ
อย่างไรก็ตาม การยกราคาให้สูงตามที่มีการเรียกร้องกันนั้นยาก เพราะราคายางโลกตก ปริมาณล้นตลาด จึงอยากให้คุยด้วยเหตุผล ไม่อยากเห็นการกดดันรัฐบาล แล้วทำผิดกฎหมาย เพราะปัจจุบันการชุมนุมกระทำไม่ได้ แต่รัฐบาลไม่อยากพูดเรื่องกฎหมาย เพราะมันเป็นยาแรง เกษตรกรกำลังเดือดร้อนอยู่ จะบั่นทอนความรู้สึกเขา แต่เรียนไว้ว่า ไม่อยากให้ทำเลย หากจะรวมกันประชุม เพื่อสรุปข้อมูลทั้งหลายแล้วรายงานมาให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเรายินดีรับฟัง แต่หากจะปิดถนน เดินขบวน มากทม.ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง
ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าที่นายกฯได้ติดตาม และฝากคือ เรื่องบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ที่ขณะนี้ยังไม่เสร็จ นายกฯสั่งการเร่งรัดให้ส่วนที่เกี่ยวข้องให้เอาเข้าที่ประชุม ครม.ให้ได้ หากวันที่ 12 ม.ค.ไม่ทัน ก็นำเข้าสัปดาห์หน้า ซึ่งถ้าบอร์ดเรียบร้อย กลไกทั้งหลายจะเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ หลังจากตกลงกันแล้ว เมื่อวันที่ 7 ม.ค. จะมีส่วนต่างๆ ไปไล่ตรวจสอบว่ามีผู้รับซื้อคนใดไม่ปฏิบัติตามกติกา หรือไม่ ถ้ามีจะติดต่อเป็นรายบุคคลเป็นการเตือน ถ้ายังประพฤติอยู่ต้องว่ากันด้วยกฎหมาย แต่จะยังไม่พูดถึงมาตรา 44 เพราะยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมอยู่ คือ พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 กับกฎหมายควบคุมสินค้า ทั้งนี้ เชื่อว่าอย่างน้อยมาตรการดังกล่าวจะไม่ทำให้ราคายางตกไปกว่านี้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า นายกฯมีคำสั่งไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้แก่ คมนาคม มหาดไทย ศึกษาธิการ สาธารณสุข กลาโหม อุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ จากนั้นจะต้องรวบรวมความต้องการว่า จะช่วยรับซื้อยางในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง อย่างไร เพือส่งให้สำนักเลขาธิการครม. แล้วส่งสำเนามาให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวบรวมภายในเวลา12.00 น.วันที่ 11 ม.ค.นี้ โดยนายกฯ ให้แต่ละกระทรวงใช้งบประมาณตัวเองในการรับซื้อ และมีความเป็นไปได้ว่า จะรายงานเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 12 ม.ค.นี้เลย ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และวิงวอนว่าอย่าทำในลักษณะที่กดดันรัฐบาล เพราะการกดดัน ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากคุยด้วยเหตุผล ยอมรับว่าราคาไปแค่ไหนอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ราคาทรุดไปกว่านี้
**ซัดรัฐบาลไม่บูรณาการแก้ปัญหา
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนและกลุ่มส.ส.ภาคใต้ ได้เข้าพบ รมว.เกษตรฯ ถึงสองครั้ง ขอให้เร่งรัดการพยุงราคายาง และแก้ไขปัญหายางอย่างเป็นระบบ ซึ่งสิ่งที่นายกรัฐมนตรี ระบุจะสร้างเมืองยาง และมาตรการอื่นๆนั้น ก็เป็นข้อเสนอที่ตรงกับพรรคได้ยื่นไป อาทิ ใช้ยางพาราทำพื้นสนามเด็กเล่นทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของ อปท. และโรงเรียน ใช้น้ำยางพารา และยางดิบ เป็นส่วนผสมในการทำถนนทั่วประเทศ และอีกหลายข้อ
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ที่สำคัญต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้ทำช้ามาก ทั้งที่มีช่องทางในการบริหารจัดการได้รวดเร็วกว่านี้ หากรัฐบาลทำตามข้อเสนอที่เราได้เสนอไปตั้งแต่แรก สถานการณ์ยางคงไม่ดิ่งเหวเช่นนี้ รัฐบาลต้องกล้ายอมรับความจริงว่า มีปัญหาในการบริหารจัดการ หรือบริหารผิดพลาด เพราะนายกฯ สั่งการให้ทำ แต่กลับไม่มีการตั้งกระทรวง หรือหน่วยงานเจ้าภาพ ที่จะติดตามเรื่องให้สำเร็จเป็นรูปธรรม เพราะปัญหายางเกี่ยวกับหลายกระทรวง แต่ปัญหาคือ หน่วยงานไม่ประสานบูรณาการกัน คนสั่งก็สั่งไป แต่ไม่มีคนนำไปทำ เพราะไม่มีเจ้าภาพหลักควบคุมนำไปสู่การทำจริง มันก็แก้ไม่ได้.