xs
xsm
sm
md
lg

“...คือทางออกจากวิกฤต” แผนแม่บทยางพาราไทยฉบับชาวสวนยาง (ตอนที่ 3)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
โดย...สุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางและนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้

สนิม “การยาง” ไร้เดียงสา หรือแกล้งโง่

การทำงานให้ดีได้ต้องมี “ทีมเวิร์ก” เจ้านายที่ดีต้องมีลูกน้องที่เก่ง ลูกน้องจะเก่งได้เจ้านายต้องสอน และรู้จักใช้งานเป็น คนเป็นผู้นำที่ดี “ต้องไม่อยากได้ฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน”

แต่ทีมงานแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ล้มเหลวไม่เป็นท่า ไร้ฝีมือ สร้างเกมรุกไม่เป็น ขาดวิสัยทัศน์ ติดวัฒนธรรมข้าราชการ คือ รอไฟลนก้นจึงจะลุกขึ้นมาแก้ไข ซึ่งก็ไม่ทันต่อความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง

นำทีมโดย นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรี ผู้อื้อฉาวจากโครงการมูลภัณฑ์กันชน ที่มีการตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องความโปร่งใส ที่เกษตรกรชาวสวนยางบอกว่า โครงการนี้ชาวสวนยางไม่ได้ประโยชน์อะไร คนที่ได้ดอกผลคือ พ่อค้า และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาด้วย นางจินตนา ชัยยวรรณการ ประธานบอร์ดองค์การคลังสินค้า ผู้ช่วยรัฐมนตรี เคยอ้างว่า น้ำมันปาล์มขาดตลาด ต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ 50,000 ตัน อคส.ได้กำไร 100 ล้าน แต่ชาวสวนปาล์มเดือดร้อนกันทั่วประเทศ จากปัญหาราคาปาล์มตกต่ำในขณะนั้น คนสุดท้าย นายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย คนที่ไปทำสัญญาจีทูจีกับซิโนเคมแบบฉลาดน้อย คือ ไประบุในสัญญาว่า สินค้ายางพาราต้องมาจาก 5 เสือส่งออก ถึง 90% และเป็นที่มาของราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ ชาวสวนยางถามมาว่า ทำไมไม่เอาสินค้ายางพาราจากสถาบันเกษตรกร

ทีมงานแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐมนตรีชุดดังกล่าว ได้ตั้งวอร์รูมยางหรือไม่ และเคยส่ง speed ให้รัฐมนตรี/รองนายกรัฐมนตรี/นายกรัฐมนตรี บ้างไหม? ที่ผ่านมาปล่อยให้นายกรัฐมนตรีพูดผิดๆ ถูกๆ เรื่องยาง 5 ล้านไร่ ทั้งที่ยางมี 23 ล้านไร่ ทุกคนก็ทราบว่า งานท่านเยอะ หรือกรณีปล่อยให้รัฐมนตรีฉัตรชัย ออกมาตอบโต้ชาวสวนยางแบบไม่เป็นผลบวกต่อท่านว่า ราคายางไม่ใช่ 4 โล 100 นะ เอ่อ..ท่านครับ จะกี่โลร้อยก็ตามแต่ชาวสวนยางเดือดร้อนจนผูกคอตายแล้วครับ อันนั้นน่ะสำคัญที่สุด ตัวอย่างที่ยกมาชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของทีมงานท่านรัฐมนตรี

ผมนั่งดูผู้หลักผู้ใหญ่แต่ละคนพูดถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แล้วมันหดหู่ ไร้ทางออก ต้องยอมรับสภาพ แต่ละท่านอ้างโน่นอ้างนี่สารพัด ลงท้ายเกษตรกรชาวสวนยางต้องปรับตัว ท่านครับ ในโลกนี้ไม่มีใครงอมืองอเท้ารอคอยความตายหรอกครับ ชาวสวนยางปรับตัวมานานแล้ว แต่ที่ออกมาเรียกร้องเพราะมันหนักเกินจะแบก มันไม่ไหวจริงๆ แล้วถ้าชาวสวนยางสวนกลับบ้างล่ะครับ ว่าคนที่ต้องปรับอาจต้องเป็นพวกท่านๆ ทั้งหลาย คือ ต้องปรับปรุงความสามารถในการบริหาร หรือถ้าทำไม่ได้ก็กรุณาออกไป ท่านก็โกรธ และน้อยใจอีก อย่าทำให้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำกลายเป็นปัญหาที่หนักเหมือนก้อนหินก้อนใหญ่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำไมไม่ค่อยๆ ทุบหินก้อนนั้นให้เป็นก้อนเล็กๆ ที่สามารถขนย้ายได้ล่ะครับ เรื่องจิตวิทยามวลชนก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ และแน่นอนที่สุดก็ต้องเป็นหน้าที่ของวอร์รูมยาง หรือทีมงานนั่นเอง

ปัญหาวิกฤตยางพาราไทยเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นวิกฤตชาติ ดังนั้น จึงต้องมีวอร์รูมยางที่มีคุณภาพ และขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี/รองนายกรัฐมนตรี/นายกรัฐมนตรี โดยตรง ไม่ต้องผ่านข้าราชการประจำ หรือให้คนที่มีวัฒนธรรมแบบข้าราชการคิด อย่างเช่น ผักชีโรยหน้าแบบที่ผู้ช่วยรัฐมนตรี จินตนา ชัยยวรรณการ จะลงไปรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรชาวสวนยางในวันที่ 10 มกราคม 59 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จากม็อบจัดฉาก นอกจากจะไม่ได้ข้อมูลเท็จจริงแล้ว ท่านยังลงมาสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลเลย โน่นครับ วันที่ 12 มกราคม 59 ที่จังหวัดตรัง จะเป็นการประชุมแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางทั้งภาคใต้ ทำไมคุณไม่ไปครับ แต่ก็นั่นแหละครับ คุณภาพของคนอยู่ที่ผลของงาน vision ทีมงานของรัฐมนตรี ก็ได้แค่นี้งัย

ลองมาฟัง vision ของวอร์รูมยางชาวสวนยางชายขอบดู คนบ้านนอกเสนอแนวทางบ้างครับ

การแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำเฉพาะหน้า
1) ส่งเจ้าหน้าที่ตามอำนาจใน พ.ร.บ.ควบคุมยางฯ เข้าตรวจสอบราคาขายยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง STR20 ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ แล้วเปรียบเทียบดูว่า ราคาเปิดมาให้ชาวสวนเป็นธรรมหรือไม่ เพราะราคาขายจะเสนอขายเพื่อส่งมอบเดือนนี้ได้ขายมาก่อนหน้านี้แล้วและราคาสูงกว่าที่เปิดซื้อด้วย ดังนั้น เมื่อวัตถุดิบทั้งยางแผ่น และยางก้อนถ้วย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าขี้ยางถูกกดราคาลง กำไรก็ได้จำนวนมาก ขอให้ผู้ประกอบการให้ความเป็นธรรมต่อเกษตรกรชาวสวนยางด้วย

2) ราคายางที่ขายบริษัท Sinochem ทราบว่า มีสูตรคำนวณจากตลาด Shanghai (90%) และ Tocom (10%) เฉลี่ยแล้วทอนกลับเป็น fob Thailand main port บวกพรีเมียมอีก 3 หยวน ซึ่งถือว่า ราคาค่อนข้างดีทีเดียว ดังนั้น จึงควรให้เจ้าหน้าที่ กยท.ที่รับผิดชอบส่วนนี้ประกาศราคาดังกล่าวทุกวันทำการ เพื่อสร้างจิตวิทยาต่อตลาด จะส่งผลดี 2 ประการ

2.1 รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีผลงานขายยางได้ราคาดีมีฝีมือ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อพี่น้องเกษตรชาวสวนยาง

2.2 ผู้ประกอบการจะเกิดความกังวลกลัวรัฐโดย กยท.จะออกมาซื้อยางเพื่อเตรียมส่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมปกติของ กยท.ที่สามารถดำเนินธุรกิจซื้อ-ขายยางพาราเช่นเดียวกับบริษัททั่วไป โดยไม่ผิดกฎเกณฑ์ WTO ก็จะรีบออกมาเตรียมแข่งซื้อทันที จะส่งผลต่อราคาในทิศทางเป็นบวก ประกอบกับอีกเดือนเศษๆ ฤดูกาลกรีดยางก็จะหมดแล้ว (ตอนนี้ผู้ประกอบการไม่มีความกังวลเรื่องวัตถุเลย เพราะท่านนายกฯ ประกาศชัดเจนรัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายการแทรกแซงราคายาง จึงซื้อกดต่ำลงเรื่อยๆ ตามใจชอบ)

3) ท่านรัฐมนตรีฉัตรชัย ควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้องค์กรสภาไตรภาคียาง 3 ประเทศ ผลักดันให้วาระเรื่องราคายางตกต่ำเป็นความเดือดร้อนร่วมของเกษตรกรชาวสวนยางในภูมิภาค เพื่อใช้กลไกระหว่างประเทศผลักดันการทำงานไปยังบริษัท

4) จะไม่ตรึงราคายางไว้ที่ 33 บาทให้โง่ครับ ราคาไป Fix ไว้อย่างนั้นเข้าทางพ่อค้า การใช้ พ.ร.บ.ควบคุมยางตามข้อ 1.เป็นวิธีการที่ถูกต้องแล้ว ใช้ระบบฉีดยาแรง เหมาะกับระบบกลไกตลาดผิดปกติ (ไม่เหมาะกับการใช้ตลาดปกติ จะทำให้กลไกตลาดผิดเพี้ยน ) เพราะกฏหมายยางที่นำมาใช้ เป็นสิ่งที่บริษัทส่งออกกลัว

5) ให้รัฐบาลประกาศ โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อนำยางในสต๊อก 3.6 แสนตัน มาใช้ในประเทศ เป็นการทำให้ยางล๊อตนี้ เป็น Dead Stock ซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคายางให้ขยับสูงขึ้น

6) ให้การยางแห่งประเทศไทยขับเคลื่อน โดยเกษตรกรมีส่วนร่วมมากที่สุด นั่นคือ ให้มีการแต่งตั้งบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย และผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยในทันที

สนิมย่อมเกิดจากเนื้อใน วิกฤติยางพาราไทยจะคลี่คลายไปในทิศทางใด เกษตรกรชาวสวนยางจะมีความสุข และมีความมั่นคงในชีวิตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ว่าจะลดละผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อเดินไปข้างหน้าด้วยกันมั้ย อย่าปล่อยให้คนหนึ่งตายไป โดยที่อีกคนมีความสุขบนคราบเลือดคราบน้ำตาของชาวสวนยางเลย โดยเฉพาะการยางแห่งประเทศไทยที่ต้องอาศัยหยาดเหงื่อ และแรงงานของเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ มาเป็นภาษี CESS เพื่อขับเคลื่อนองค์กร
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น