xs
xsm
sm
md
lg

โอละพ่อ! เผยสรรหา “ผู้ว่าการ กยท.” ส่อเปิดรับสมัครรอบ 3 พลิกเอาคนกรมประมงไปแก้วิกฤตยาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ข้อมูลที่ถูกทำเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นระบบ
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ -กลายเป็นเรื่องโอละพ่อ! เผยกระบวนการสรรหา “ผู้ว่าการ กยท.” หลังถูกสังคมจับไต๋ได้ว่าเตรียมดันเด็กนักการเมืองใหญ่ขึ้นแท่น ส่งผลให้ “2 รองปลัด” ทั้ง ก.พาณิชย์ และ ก.เกษตรฯ ชักแถวออกมาตอบโต้แบบขว้างงูไม่พ้นคอ คาดจะมีการแก้เกี้ยวเปิดรับสมัครรอบ 3 เพื่อเบนเข็มเด็ดยอดเอา ขรก.จากกรมประมงให้มาแก้ปัญหาราคายางที่กำลังดิ่งเหวลงไปแตะ 5 กิโลร้อยในอีกไม่นาน
 
อนุสนธิจากกรณี “ผู้จัดการภาคใต้” ได้รายงานข่าวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 เกี่ยวกับกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ กยท.) ตามที่มีการระบุไว้ใน พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่มีผลบังคับใช้ช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการสรรหาผู้ว่า กยท.ดังกล่าวส่อว่าจะมีความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะมีแนวโน้มว่าจะมีการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ใกล้ชิดนักการเมืองใหญ่ในภาคกลาง และอีสาน ให้ได้มีโอกาสขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ โดยคาดว่าจะเร่งรัดให้มีการพิจารณาให้จบโดยเร็วหลังจากผ่านพ้นช่วงปีใหม่ในปี 2559 นี้เป็นต้นไป
 
ล่าสุด มีรายงานจากแหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากห้องรองปลัดกระทรวง ว่า เวลานี้มีความเป็นไปได้ที่กระบวนการสรรหาผู้ว่า กยท.อาจจะต้องยืดเยื้อออกไปอีกนานพอสมควร ซึ่งไม่น่าจะจบได้โดยเร็วตามที่คณะกรรมการสรรหาบางคนวางเป้าหมายไว้ ทั้งที่ได้มีการเปิดรับสมัครผู้ประสงค์จะนั่งในตำแหน่งนี้ไปแล้วถึง 2 รอบ โดยมีผู้ลงสมัครรวม 8 ราย แล้วมีการให้ข่าวไปแล้วว่ามีผู้มีคุณสมบัติผ่านการพิจารณาเพียง 2 คนที่จะถูกเสนอชื่อให้ได้รับเลือก เนื่องจากภายหลังที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเสียงทักท้วงจากผู้หลักผู้ใหญ่
 
“เวลานี้กระบวนการสรรหาผู้ว่าการ กยท.ได้กลายเป็นเรื่องโอละพ่อไปแล้ว แทนที่จะเดินไปตามเส้นทางที่คนบางกลุ่มร่วมวางแผนกันไว้ แต่เมื่อมีข่าวสะพัดว่าผู้ชนะที่จะได้ตำแหน่งนี้จะเป็นคนใกล้ชิดนักการเมืองใหญ่ ที่ชักชวนกันไว้ให้เสนอตัวเข้ามาสมัครในรอบที่ 2 แต่เมื่อมีคนรู้ทันกระบวนการอาจจะต้องพลิกอีกระลอกเพื่อลบคำครหา ซึ่งเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า หลังจากนี้ไม่นานจะมีการเปิดรับสมัครอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 เพื่อเตรียมคนใหม่ที่คาดว่าจะเป็นคนจากกรมประมงให้มาสมัครเพิ่ม หากเป็นเช่นนั้นจริงกาหัวไว้ได้เลยว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านประมง จะได้มานั่งแก้วิกฤตปัญหายางที่กำลังหนักหนาสาหัสในเวลานี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่า ถ้ายังคาราคาซังมีหวังราคายางจะลดลงไปแตะ 5 กิโลร้อยแน่ภายในปีนี้” 
 
ทั้งนี้ ตามกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ กยท.เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย นอกจากจะส่อแววความไม่ใสสะอาดแล้ว ยังต้องนับว่าเกิดความล่าช้ามาพอสมควร โดยการเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือน พ.ย.2558 และถูกวิจารณ์ว่าเป็นไปแบบลุกลี้ลุกลนให้เวลาเพียง 2-3 วัน ซึ่งมีผู้ยืนเอกสารสมัครรวม 3 คน ได้แก่ 1.นายเพิก เลิศวังพง 2.นายกฤต ธนิศราพงศ์ และ 3.นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที จากนั้นเพียงไม่กี่วันก็เปิดรับสมัครในรอบที่ 2 ตามมา ในช่วงวันที่ 1-15 ธ.ค.2558 ทำให้มีผู้สมัครเพิ่มอีก 5 ราย รวมเป็น 8 ราย ประกอบด้วย 4.นายสุพจน์ อาวาส 5.นายมนชัย พงศ์สถาบดี 6.ดร.สุวิชัย ศุภรานนท์ 7.ดร.ไพฑูรย์ วงศาสุทธิกุล และ 8.นายปริญญา เพ็งสมบัติ
 
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเปิดรับสมัครรอบที่ 2 เสร็จสิ้น กลับมีการจัดทำข้อมูลเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นระบบ เหมือนกับมีการจัดเตรียมกันไว้แล้วล่วงหน้า โดยเป็นการเปิดรายชื่อ และประวัติบุคคลทั้ง 8 ราย เหมือนกับต้องการที่จะเชียร์คนบางคนที่ให้ข้อมูลด้านบวกไว้มากมาย ทั้งที่มีวิถีชีวิตที่วนเวียนเกี่ยวข้องต่อกลุ่มก๊วนนักการเมืองใหญ่ แต่กลับไม่มีการระบุไว้ ขณะผู้ที่คาดว่าจะเป็นคู่แข่งกลับพยายามระบุข้อมูลที่เป็นลบไว้ให้ โดยเฉพาะในด้านที่เข้าไปเกี่ยวข้องต่อการเมือง อีกทั้งหลายคนให้ข้อมูลเพียงสั้นๆ แบบแทบจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
 
จากนั้นแม้จะเป็นวันสิ้นปีที่ 31 ธ.ค.2558 ซึ่งผู้คนทั่วไปเฉลิมฉลองกัน แต่กลับมีข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่ง โดย นายสมชาติ สร้อยทอง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ หนึ่งในคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ กยท.ให้ข้อมูลว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ได้พิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครแล้วคัดเลือกเหลือเพียง 2 ราย ได้แก่ นายสุพจน์ อาวาส กับ นายกฤต ธนิศราพงศ์ ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้ง 2 คน ไม่ได้มีวิถีชีวิต หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการยางพารา แถมยังเคยเป็นผู้พลาดหวังจากการลงสมัครเป็นผู้บริหารองค์กรของรัฐหลายแห่ง โดยคนแรกเป็นอดีตผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอี แบงก์ ขณะที่คนหลังเป็นผู้จัดการบริษัท ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
 

 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.วีนัตย์ แดงด้อมยุทธ ในฐานะนักวิชาการอิสระที่เฝ้าติดตามบทบาทการทำงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความเห็นต่อกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ กยท.ว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตไว้เป็นข้อๆ ดังนี้ คือ 1.สังคมไทยมองวุฒิการศึกษาเป็นหลัก แต่ไม่มองความสามารถของคน 2.การตั้งกรรมการคัดสรรมากๆ ไม่ได้หมายความว่าการคัดสรรนั้นจะโปร่งใส แต่ต้องชี้แจงต่อสังคมให้ได้ว่า คนที่เลือกเข้าไปมีคุณสมบัติครบถ้วน และมีความสามารถอย่างไร 3.บุคคลที่เลือกเข้าไปบริหารงานยางเป็นที่เชื่อถือในวงการยางหรือไม่ สามารถกำหนดทิศทาง หรือแสวงหาความร่วมมือจากเกษตรกร ภาคธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมยางได้ระดับไหน และ 4.การแก้ไขปัญหายางในช่วงวิกฤตต้องเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนในวงการยางให้เข้าไปช่วยรัฐบาล
 
“ขณะนี้วงการยางมีวิกฤตปัญหามากอยู่แล้ว ยิ่งเป็นช่วงขาลงด้วย ความร่วมมือต่อทุกภาคส่วนเพื่อร่วมแก้ปัญหายางของประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ” ดร.วีนัตย์ กล่าว
 
ด้าน ดร.ไพฑูรย์ วงศาสุทธิกุล ผู้บริหารบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และยังเป็นรองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย 1 ใน 8 ผู้สมัครผู้ว่าการ กยท. ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความรู้เรื่องยางดีคนหนึ่ง แต่กลับไม่มีชื่อติดโผผู้ผ่านคุณสมบัติให้ทัศนะว่า ในสายตาตนมองว่าคนที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าการ กยท.ควรจะต้องมีความรู้เรื่องยาง แต่หากไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง ก็ควรต้องมีความเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหาของวงการยาง
 
“คนที่จะเข้าไปทำงานในฐานะผู้ว่าการ กยท.ต้องเข้าใจปัญหาของวงการยางที่เกิดขึ้น แม้ใครจะมองว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อน แต่ถ้ามีความรู้เรื่องยางก็สามารถที่จะสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องได้ และจะสามารถช่วยลดวิกฤตปัญหาต่างๆ ได้มากมายแน่นอน”  ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น