ครม.อนุมัติคู่มือมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานในประเทศไทยให้ทุกหน่วยงานใช้ปฏิบัติเหมือนกัน เพื่อส่งเสริมประชาชนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น กำหนดรูปแบบ สัญลักษณ์ ข้อกำหนดต่างๆ เป็นสากล โดยตามแผนจะมีทั่วประเทศรวม 2,352 กม.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 ม.ค. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการกำหนดมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานในประเทศไทย เพื่อเป็นคู่มือให้กับทุกหน่วยงานที่นำไปอ้างอิงในการก่อสร้างเส้นทางจักรยานให้มีรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ตามนโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนในการพัฒนาและส่งเสริมการเดินทางของประชาชนด้วยจักรยานตามภารกิจหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยให้นำคู่มือมาตรฐานการออกแบบและการก่อสร้างทางจักรยานสำหรับประเทศไทยเพื่อสำหรับอ้างอิงการก่อสร้างช่องทางจักรยานให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ พร้อมทั้งให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเส้นทางจักรยานทั่วประเทศแล้ว ระยะทาง 566 กม. เส้นทางอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 715 กม. และอยู่ในแผนพัฒนาเพิ่มเติม 1,071 กม. รวมทั้งสิ้น 2,352 กม. ซึ่งทุกหน่วยงานที่มีแผนพัฒนาทางจักรยานจะใช้คู่มือดังกล่าวเพื่อให้ทางจักรยานมีมาตรฐานเดียวกันและเป็นสากลเพื่อความเข้าใจตรงกัน เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมปั่นจักรยานท่องเที่ยว
โดยสาระสำคัญของคู่มือมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานในประเทศไทย ได้กำหนดมาตรฐานโดยการแบ่งประเภทของทางจักรยาน การออกแบบทางกายภาพ การออกแบบชั้นผิวทาง การออกแบบป้ายจราจร สัญลักษณ์บนผิวทาง และระบบอำนวยความปลอดภัยของทางจักรยาน ระบบอำนวยความปลอดภัยทางจราจร และหลักเกณฑ์ของการกำหนดที่จอดจักรยาน โดยพัฒนามาจากมาตรฐานทางจักรยานขององค์กร The American Association of State Highway and Transportation Official (AASHTO) ที่ทั่วโลกยอมรับ และ Manual on Uniform Traffic Control Devices (MUTCD)
ประกอบด้วย 1. มาตรฐานการแบ่งประเภทของทางจักรยาน (Bike Way Classification) ใช้หลักการกำหนดความเร็วและปริมาณจราจรเป็นปัจจัยควบคุมการแบ่งประเภทของทางจักรยาน (ปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย) คือเส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ต่ำกว่า 30 กม./ชม. และมีปริมาณการจราจรเฉลี่ยน้อยกว่า 3,000 คันต่อวันต่อปี รถจักรยานสามารถใช้ช่องทางจราจรร่วมกันกับยานพาหนะอื่นๆ ในช่องจราจรปกติ ซึ่งหากมีปริมาณจราจรมากกว่า 3,000 แต่ไม่เกิน 5,000 คันต่อวันต่อปี รถจักรยานสามารถใช้ช่องทางจราจรร่วมกันกับยานพาหนะอื่นๆ เช่น ช่องจราจรติดคันขอบถนนหรือที่จอดรถริมทาง และในกรณีที่มีปริมาณจราจรมากกว่า 5,000 คันต่อวันต่อปีจะไม่สามารถดำเนินการทำช่องทางจักรยานได้
เส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ระหว่าง 30-50 กม./ชม. และมีปริมาณการจราจรเฉลี่ยน้อยกว่า 3,000 คันต่อวันต่อปี รถจักรยานสามารถใช้ช่องทางจราจรร่วมกันกับยานพาหนะอื่นๆ เช่น ช่องจราจรติดคันขอบถนน หรือที่จอดรถริมทาง ซึ่งหากมีปริมาณจราจรมากกว่า 3,000 แต่ไม่เกิน 5,000 คันต่อวันต่อปีให้จัดช่องทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ โดยมีการตีเส้นจราจรแบ่งช่องทางจักรยานให้ชัดเจน รวมทั้งมีอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบนไหล่ทางและทางหลัก โดยในกรณีที่มีปริมาณจราจรมากกว่า 5,000 คันต่อวันต่อปี ให้มีทางจักรยานโดยเฉพาะโดยการตีเส้นจราจรแบ่งช่องทางจักรยานให้ชัดเจน
เส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ระหว่าง 50-70 กม./ชม. ให้จัดช่องทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ โดยมีการตีเส้นจราจรแบ่งช่องทางจักรยานให้ชัดเจน รวมทั้งมีอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบนไหล่ทางและทางหลัก หรือแยกทางจักรยานออกจากช่องจราจรทั่วไป เช่น ก่อสร้างทางจักรยานขึ้นใหม่โดยมีขอบคันคอนกรีต เพื่อแบ่งช่องจราจรหลักกับทางเดินเท้าและทางจักรยาน
เส้นทางที่ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์สูงกว่า 70 กม./ชม. ให้จัดทำทางจักรยานแบบเฉพาะ เช่น ไหล่ทางที่มีแนวหรืออุปกรณ์กั้น กรณีที่มีปริมาณจราจร 10,000 คันต่อวันหรือมากกว่า และมีความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์เท่ากับ 80 กม./ชม. หรือมากกว่า การก่อสร้างทางจักรยานจะต้องอยู่นอกพื้นที่กันเพื่อความปลอดภัย (Clear Zone) ของถนน กรณีที่มีปริมาณรถขนาดใหญ่มากกว่า 30 คันต่อชั่วโมงในช่องจราจรริมควรพิจารณาแยกคันทาง หรือหากใช้ทางจักรยานประเภทอื่นและมีความเร็วของการจราจรสูง (80 กม./ชม. หรือมากกว่า) ควรจะมีพื้นที่ว่างคั่นระหว่างจักรยานกับรถยนต์ (buffer) ส่วนบริเวณที่คาดว่ามีผู้ขับขี่จักรยานที่เป็นเด็กหรือผู้มีประสบการณ์ขี่จักรยานน้อย เช่น ทางจักรยานบริเวณโรงเรียน ชุมชน หรือสวนสาธารณะ เป็นต้น จะต้องใช้การจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับจักรยานเพื่อแยกทางจักรยานออกจากถนน
ส่วนการออกแบบทางกายภาพ จะต้องมีมาตรฐานการออกแบบ ความเร็ว และระยะการหยุดที่ปลอดภัย ระบบป้ายจราจร การออกแบบโค้งราบ (Horizontal Curve) การออกแบบโค้งดิ่ง (Vertical Curve) การออกแบบ Lateral Clearance ภายใต้เงื่อนไขระยะการหยุดรถจักรยานที่ปลอดภัย การออกแบบทางแยก มีการออกแบบสัญลักษณ์บนแผ่นป้ายจราจรและการติดตั้งป้าย การออกแบบสัญลักษณ์บนผิวจราจร มีระบบไฟกะพริบเตือนบนป้ายทางจักรยาน และระบบไฟฟ้าแสงสว่าง
ขณะที่หลักเกณฑ์ของการกำหนดที่จอดรถจักรยาน กรณีอาคารที่พักอาศัย กำหนด 1 คัน ต่อ 3 ห้อง-ที่พัก, อาคารสโมสร หรือ Club House (ใช้ทำกิจกรรม เช่น เล่นกีฬา หรือ Sport Club เป็นต้น) กำหนด 1 คันต่อห้องกิจกรรม (บวก 3% ของจำนวนคนที่จุได้สูงสุด), อาคารสโมสร หรือสถานที่ที่ใช้ในการพบปะสังสรรค์ของคณะต่างๆ กำหนด 1 คันต่อห้องสังสรรค์, โรงแรม หรืออพาร์ตเมนต์ กำหนด1 คันต่อพนักงาน 20 คน, ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องแสดงงาน Galleries กำหนด 1 คันต่อพนักงาน 20 คน เป็นต้น