xs
xsm
sm
md
lg

สื่อสังคมออนไลน์กับอำนาจการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต


การสื่อสารแบบสื่อสังคมออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพและหลากหลายรูปแบบในปัจจุบันได้ทำให้เกิดการขยาย “ความเป็นสาธารณะของปัจเจกบุคคล” มากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งทำให้บุคคลสามารถแสดงตัวตนออกไปสู่เวทีสาธารณะได้อย่างไม่มีขีดจำกัด นั่นหลายถึงอำนาจในรูปแบบใหม่ได้กำเนิดขึ้นมาและกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ว่าวันหนึ่งในอนาคตอำนาจรูปแบบใหม่จะเข้ามาแทนที่อำนาจในรูปแบบเดิม

เมื่อปัจเจกบุคคลได้ก้าวไปสู่อาณาบริเวณของความเป็นสาธารณะ ตัวตนของเขาก็ได้เข้าสู่สนามอำนาจของสังคมไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม พวกเขาจะมีส่วนในการผลิตอำนาจ แสดงอำนาจและใช้อำนาจในทางใดทางหนึ่ง เพราะว่าเมื่อพวกเขานำเสนอข้อมูล แสดงความคิดเห็น แสดงความรู้สึก และจุดยืนผ่านสื่อสารสังคมออนไลน์ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านั้นย่อมจะไปสร้างผลกระทบต่อระบบสังคมในจุดใดจุดหนึ่งเสมอ และมีความเป็นไปได้ว่าจุดที่ไปกระทบนั้นอาจส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงสังคมเกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเล็กน้อยหรือเปลี่ยนแปลงอย่างอย่างใหญ่หลวงก็ได้

สื่อสังคมออนไลน์บางอย่างได้ไปรื้อฟื้นคืนชีวิตแก่แบบแผนประเพณี ความรู้และความเชื่อดั้งเดิมของสังคมขึ้นมาใหม่ พร้อมกับเผยแพร่ขยายออกไป ขณะที่บางอย่างได้สร้างนวัตกรรมขึ้นมาและกลายเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นได้เลียนแบบ ทั้งความรู้ความเชื่อดั้งเดิม และนวัตกรรมที่กระทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีคิดและการปฏิบัติของผู้คนจำนวนมากในสังคม

สำหรับด้านการเมือง ในอดีตเวทีการใช้อำนาจจะจำกัดขอบเขตอยู่ในสนามการเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนสามารถใช้อำนาจเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น และการชุมนุมในท้องถนนซึ่งเป็นวิธีการใช้อำนาจที่มีต้นทุนสูง มีความสุ่มเสี่ยงและยากลำบาก แต่ในปัจจุบันและอนาคตประชาชนสามารถใช้อำนาจผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นทางเลือกได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องลงทุนมากนัก

การทำงานของอำนาจผ่านสื่อสังคมออนไลน์คือ การสร้างพลังหรือแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและการตัดสินใจของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่าง ๆในสังคม ทั้งกลุ่มผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไป โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการผสมผสานของความมีเหตุผล หลักการทางศีลธรรม อารมณ์ความรู้สึก และเครือข่ายความสัมพันธ์

สื่อสังคมออนไลน์ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมของเรื่องที่อยู่ในความสนใจ(เช่น การต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียม การทำลายป่าไม้ การใช้พลังงานทางเลือก การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ) สามารถแสดงและเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริง สารสนเทศ และเหตุผล ซึ่งก่อเกิดเป็นสนามแห่งการอภิปรายแลกเปลี่ยนทางปัญญากันอย่างกว้างขวางทั้งด้านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หากกระบวนการถกเถียงกันดำเนินไปในเชิงประเทืองปัญญา แนวโน้มผลลัพธ์ที่ตามมาจะสร้างประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

ในบางกรณีสื่อสังคมออนไลน์ส่งผลให้กลไกของกระบวนการยุติธรรมมีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบางคนกระทำการรังแกประชาชน แล้วมีผู้บันทึกเหตุการณ์และเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ ก็จะเกิดแรงกดดันทางสังคมไปยังผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น จนไม่อาจละเลย เพิกเฉย หรือกระทำการช่วยเหลือพวกพ้องของตนเองได้อย่างสะดวกอีกต่อไป จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามบรรทัดฐาน ระเบียบ และกฎหมาย หรือ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขความไร้ประสิทธิภาพและความไม่ถูกต้องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้หมดไป (อย่างน้อยก็จากการรับรู้ของสาธารณะ)

หลักการทางศีลธรรมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนในโลกสังคมออนไลน์ใช้เป็นข้ออ้างเชิงเหตุผลสำหรับการถกเถียง ซึ่งทำให้เราเห็นภาพของผู้คนที่มีจุดยืนทางศีลธรรมแตกต่างกันออกมาโต้แย้งกันอยู่เสมอ แต่บางกรณีการแสดงจุดยืนทางศีลธรรมของคนบางกลุ่มเป็นไปในทางสุดขั้ว โดยนำเสนอศีลธรรมแบบใหม่ที่ตรงกันข้ามและท้าทายระบบศีลธรรมดั้งเดิมของสังคม ซึ่งอาจจะสร้างความตระหนกแต่ผู้คน ความไม่พอใจ ความเกลียดชัง และความชัดแย้งระหว่างหว่างกลุ่มขึ้นมาได้

บางโอกาสเราก็เห็นการแสดงออกของคนบางคน ที่ทำให้ผู้อื่นคิดว่าตนเองมีศีลธรรม การแสดงออกแบบนี้เป็นการพยายามสร้างตัวตนให้ดูดีในพื้นที่สาธารณะ เช่น การเข้าวัดเข้าวา การบริจาค การทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม และการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ดังที่เราเห็นได้บ่อยขึ้นเมื่อมีการเผยแพร่เรื่องราวที่ยากลำเค็ญของเด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุเข้าไปสู่สื่อออนไลน์ ความช่วยเหลือทั้งจากหน่วยงานราชการ เอกชน และบุคคลทั่วไปได้หลั่งไหลสู่ผู้ตกทุกข์ได้ยากเหล่านั้นรวดเร็วขึ้น แม้ว่าจะเป็นการช่วยเหลือชั่วขณะหนึ่งและไม่ยั่งยืน แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนเหล่านั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นชั่วคราว ณ ช่วงเวลานั้น

บางกรณี เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มอำนาจทุนขนาดใหญ่รังแกผู้ประกอบการรายย่อยโดยกระทำขัดกับหลักศีลธรรม กลไกของสื่อสังคมออนไลน์ก็แสดงพลังออกมากดดันและสั่งสอนทุนขนาดใหญ่จนต้องอธิบายแก้ตัวต่อสังคมเป็นพัลวัน และกลายเป็นบทเรียนสำคัญว่า การข่มแหงรังแกมิอาจทำได้อย่างง่ายดายดังในอดีตแล้ว ในแง่นี้จึงทำให้พวกเขาต้องประกอบธุรกิจโดยตระหนักถึงกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมมากขึ้น

การใช้ “ความรู้สึก” เป็นพลังขับเคลื่อนเรื่องราวเป็นอีกประเด็นที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในสังคมออนไลน์ เพราะว่า “ความรู้สึก” มีพลังในการดึงดูดผู้คนให้เข้าร่วมในการปฏิสัมพันธ์และการแสดงออกยิ่งกว่าเหตุผล ความรู้สึกกระตุ้นให้ผู้คนเดินเข้าไปสู่ภาวะความเร่งด่วนของการตัดสินใจและการกระทำ เราจึงพบได้บ่อยครั้งว่า เรื่องใดที่ใช้ “ความรู้สึก” ขับเคลื่อน มักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและมีขอบเขตการเปลี่ยนแปลงกว้างขวางกว่าการใช้ “เหตุผล” ขับเคลื่อน

ดังการลงประชามติตัดสินใจว่า ประเทศอังกฤษควรจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ผู้สนับสนุนให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปรณรงค์โดยใช้ “อารมณ์กลัว” เป็นตัวหลักในขับเคลื่อน เช่น ความกลัวผู้อพยพจากประเทศยุโรปตะวันออก และประเทศแถบตะวันออกกลางทะลักเข้าสู่อังกฤษ กลัวถูกแย่งงาน กลัวถูกแย่งใช้สวัสดิการสังคม ผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้อารมณ์กลัวนำทางจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจลงมติออกจากสหภาพยุโรป

พลังอำนาจของสื่อสังคมออนไลน์จะยิ่งมีมากขึ้น หากผู้ผลิตเนื้อหามีเครือข่ายความสัมพันธ์ในสังคมออนไลน์กว้างขวาง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยิ่งมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้เรื่องราวที่ถูกสื่อสารออกไปถูกรับรู้อย่างกว้างขวาง ยิ่งปริมาณผู้รับรู้และเห็นด้วยกับเรื่องราวนั้นมากขึ้น พลังกดดันที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะมากตามไปด้วย

ในโลกยุคปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นโลกที่ประชาชนพลเมืองของประเทศต่าง ๆ มีพลังอำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมมากขึ้นผ่านการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ และนั่นหมายถึง ความพยายามของผู้มีอำนาจรัฐแบบดั้งเดิมในการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อกดทับและปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน จะกลายเป็นความพยายามที่ดูเหมือนจะสิ้นหวัง และยากจะเหนี่ยวรั้งการกระจายตัวของอำนาจในสังคมที่มีการพัฒนาไปอย่างกว้างขวางได้


กำลังโหลดความคิดเห็น