xs
xsm
sm
md
lg

สำมะโนประชากรพม่าพบชาวมุสลิมมีจำนวนน้อยกว่าที่กลุ่มหัวรุนแรงกล่าวอ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>แฟ้มภาพเอพีเดือนมี.ค. 2557 เผยให้เห็นผู้เก็บข้อมูลสำมะโนประชากรกำลังรวบรวมข้อมูลคำตอบลงในกระดาษคำถามที่ยาวและซับซ้อนจากครอบครัวชาวมุสลิมในนครย่างกุ้ง ผลสำรวจที่ทางการพม่าเผยแพร่พบว่า ประชากรชาวมุสลิมมีจำนวนน้อยกว่าที่กลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงอ้างไว้ว่าศาสนาอิสลามกำลังเป็นภัยคุกคามศาสนาพุทธในประเทศ. -- Associated Press/Gemunu Amarasinghe.</font></b>

เอเอฟพี - ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของรัฐบาลที่เปิดเผยวานนี้ (21) พบว่า มีชาวมุสลิมเพียงแค่ร้อยละ 2 ของประชากรชาวพม่าทั้งหมด นับเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าที่กลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงได้อ้างไว้ว่า ศาสนาอิสลามเป็นภัยคุกคามต่อความเชื่อของพวกเขา

รายละเอียดฉบับสมบูรณ์จากการสำรวจในปี 2557 นับเป็นการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกของประเทศในรอบหลายสิบปี และต้องชะลอการดำเนินการออกไปเกือบปี เพื่อเลี่ยงความตึงเครียดในชาติก่อนการเลือกตั้ง ที่ส่งให้พรรคของนางอองซานซูจีเข้าครองอำนาจ

ความหวาดกลัวศาสนาอิสลามเกิดขึ้นไปทั่วประเทศพม่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ด้วยกลุ่มชาตินิยมชาวพุทธส่งข้อความเตือนเกี่ยวกับการขยายตัวของประชากรชาวมุสลิม

แต่ข้อมูลใหม่ได้ยืนยันว่า ชาวพุทธยังคงมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมด 51.48 ล้านคน รองลงมาคือ ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ (ร้อยละ 6.3) และศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 2.3 หรือกว่า 1.1 ล้านคน)

อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาไร้สัญชาติกว่า 1 ล้านคน ที่ถูกห้ามระบุตัวตนลงในการทำสำรวจสำมะโนประชากรของประเทศ

“บางคนกังวลว่าอาจมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในจำนวนของแต่ละศาสนา” เต็ง ส่วย รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในกรุงเนปีดอ ขณะเผยแพร่ข้อมูล

“แต่ไม่แตกต่างมากนักเมื่อเทียบกับข้อมูลสำมะโนประชากรในปี 2526”

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ที่สนับสนุนรัฐบาลพม่าจัดทำการสำรวจสำมะโนประชากร ระบุว่า จากข้อมูลดังกล่าวควรที่จะยุติการใช้ถ้อยคำยั่วยุปลุกปั่นสร้างความไม่สงบ

“มันเป็นเวลาที่จะแทนที่การคาดเดาด้วยข้อเท็จจริง” เจเน็ต อี แจ็คสัน จาก UNFPA กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง

แต่ UNFPA ชี้ว่า การไม่รวมชาวโรฮิงญาในข้อมูลสำมะโนประชากรเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงของการสำรวจสำมะโนประชากร และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

ชาวโรฮิงญามากกว่า 100,000 คน ต้องไร้ที่อยู่จากเหตุปะทะรุนแรงกับชาวพุทธในปี 2555 และในเวลานี้ต้องอาศัยอยู่ในค่ายพักชั่วคราวในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของประเทศ คนเหล่านี้ถูกปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมือง และเผชิญต่อข้อจำกัดมากมายต่อความเคลื่อนไหว และการเข้าถึงบริการพื้นฐาน

เพียงไม่กี่วันก่อนการเริ่มสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2557 กลุ่มชาตินิยมชาวพุทธกล่าวหาว่าประชาคมโลกลำเอียงไปทางชาวมุสลิม และได้โจมตีสำนักงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ ส่งผลให้คนงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ต้องหลบหนีออกจากพื้นที่

อองซานซูจี ก็เผชิญต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการไม่แสดงจุดยืนหนักแน่นต่อชาวโรฮิงญา หรือประณามเหตุโจมตีมัสยิด 2 แห่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ แต่รัฐบาลของซูจีออกมาเคลื่อนไหวในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่จะควบคุมกลุ่มมะบะธา ขบวนการเคลื่อนไหวนำโดยพระสงฆ์ที่เป็นแกนนำในการชุมนุมต่อต้านชาวมุสลิมในช่วงไม่กี่ปีมานี้

อุดมการณ์หลักของกลุ่มมะบะธา คือ ความเชื่อที่ว่าชาวพุทธพม่าตกอยู่ภายใต้การโจมตีจากชาวมุสลิม และชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ

ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่ทหารให้การสนับสนุนชุดก่อน กลุ่มชาตินิยมประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวการผ่านชุดกฎหมายเกี่ยวกับศาสนาและเชื้อชาติ ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา

เมื่อต้นเดือน ก.ค. รัฐมนตรีกระทรวงศาสนาได้กล่าวเตือนกลุ่มมะบะธา ว่า อาจถูกยุบหากกลุ่มยังคงใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น