รอยเตอร์ - พม่ากำลังดำเนินการปราบปรามกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรง ในจุดมุ่งหมายที่จะจัดการต่อความตึงเครียดทางศาสนา และชาติพันธุ์ในประเทศ หลังมัสยิด 2 แห่งถูกทำลาย และชาวมุสลิมจำนวนมากต้องหลบหนีออกจากหมู่บ้านเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
อองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพม่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน และทนายความจากการไม่ปราบปรามผู้ก่อเหตุโจมตีมุ่งเป้าชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม
ในการตอบสนองต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น รัฐบาลได้เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านองค์กรของพระสงฆ์ชาตินิยมหัวรุนแรง ที่รู้จักในชื่อ “มะบะธา” โดยขู่ที่จะดำเนินการตามกฎหมาย หากกลุ่มมะบะธายังคงเผยแพร่ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง และยั่วยุปลุกปั่นความรุนแรง
ในวันศุกร์ (15) รัฐบาลได้เริ่มโครงการปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อป้องกันการชุมนุมประท้วงรุนแรง ส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะยุติความรุนแรงทางศาสนา
ความตึงเครียดทางศาสนาคุกรุ่นอยู่ในพม่าเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร ก่อนจะปะทุขึ้นในปี 2555 ในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ ที่เป็นการปะทะกันระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญา และชาวพุทธยะไข่
ความรุนแรงระหว่างชาวมุสลิม และชาวพุทธก็ขยายตัวไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในปี 2556 และ 2557
ประธานาธิบดีถิ่น จอ ระบุในคำแถลงว่า หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจจะไม่เพียงแค่เคลื่อนไหวต่อผู้ชุมนุมประท้วงรุนแรงเท่านั้น แต่ยังสืบสวน และมีอำนาจควบคุมผู้ที่ยั่วยุปลุกปั่นความรุนแรง
“เราไม่ต้องการที่จะรบกวนการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ แต่เราไม่อนุญาตให้มีความรุนแรงในขณะชุมนุมประท้วง” ซอ เต โฆษกสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐ กล่าว
คณะกรรมการมหาเถรสมาคมพม่า คณะทำงานที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเพื่อควบคุมดูแลพระภิกษุของพม่า ได้ออกคำแถลงในสัปดาห์นี้ว่า คณะไม่เคยรับรองกลุ่มชาตินิยม และต่อต้านชาวมุสลิม มะบะธา
ในเดือน มิ.ย. กลุ่มชาวบ้านราว 200 คน ได้เข้าทำลายมุสยิด และทำให้ชายชาวมุสลิมได้รับบาดเจ็บ 1 คน ในภาคกลางของประเทศ หลังขัดแย้งเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงเรียนศาสนาอิสลาม และเมื่อต้นเดือน ก.ค. มีชาวพุทธเกือบ 500 คน เข้าเผาทำลายมัสยิดในภาคเหนือ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวมุสลิมในพื้นที่ต้องหลบหนีออกจากที่อยู่อาศัยด้วยวิตกว่าความรุนแรงจะขยายวงกว้างมากขึ้น.