เอเอฟพี - ชาวพุทธในรัฐยะไข่ ของพม่า จำนวนหลายพันคน รวมทั้งพระสงฆ์ รวมตัวชุมนุมประท้วงใหญ่เพื่อแสดงการคัดค้านต่อคำประกาศของรัฐบาลในการเรียกชุมชนชาวมุสลิม
การใช้ถ้อยคำต่อต้านมุสลิมขยายตัวขึ้นทั่วพม่า เมื่อมัสยิด 2 หลังถูกเผาทำลายโดยกลุ่มม็อบชาวพุทธในช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ในประเทศที่ความรุนแรงทางศาสนาทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่ปี 2555
รัฐยะไข่ ที่เป็นบ้านของชาวมุสลิมโรฮิงญาไร้สัญชาติประมาณ 1 ล้านคน ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากความรุนแรงทางศาสนา ที่ทำให้ชนกลุ่มน้อยหลายหมื่นคนต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่น
ชาวพุทธยะไข่ปฏิเสธจะยอมรับสิทธิร่วมกันใดๆ ก็ตามในรัฐกับชาวมุสลิมโรฮิงญา และเรียกคนเหล่านี้ว่า “เบงกาลี” ที่หมายถึงผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
รัฐบาลใหม่ของอองซานซูจี พยายามที่จะลดความตึงเครียดในเหตุขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้คำเรียกชาวโรฮิงญา โดยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ชุมชนชาวมุสลิมในรัฐยะไข่” แทน แต่ผู้ชุมนุมที่ออกมาประท้วงกันในวันนี้ (3) กล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถยอมรับชาวมุสลิมในรัฐของชาวพุทธ
“เราขอปฏิเสธคำว่าชุมชนชาวมุสลิมในรัฐยะไข่” กอ เส่ง ผู้จัดการการชุมนุมในเมืองสิตตเว กล่าว
ผู้คนมากกว่า 1,000 คน รวมทั้งพระสงฆ์ ได้เข้าร่วมการชุมนุมในเมืองเอกของรัฐแห่งนี้ ขณะที่ในเมืองตานด่วย ก็มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมในจำนวนใกล้เคียงกัน และร้องตะโกนคำประท้วงต่างๆ รวมทั้งคำว่า “คุ้มครองรัฐยะไข่”
“เบงกาลีควรถูกเรียกว่าเบงกาลี” โพ ตา เล แกนนำกลุ่มเยาวชนยะไข่ กล่าว และว่า 17 เมืองทั่วรัฐยะไข่ ต่างก็ร่วมกันชุมนุมประท้วงในบ่ายวันนี้ (3)
ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ถูกตัดขาดจากชุมชนชาวพุทธโดยอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หรือชุมชนที่ตั้งอยู่ห่างไกล นับตั้งแต่เกิดเหตุจลาจลทางศาสนาในปี 2555
หลังการเยือนรัฐยะไข่ และพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ ในพม่าเป็นเวลา 12 วัน ผู้สืบสวนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเตือนว่า ความตึงเครียดทางศาสนายังคงกระจายทั่วสังคมพม่า และเมื่อวันศุกร์ (1) ยางฮี ลี ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพลเรือนของพม่า ให้การยุติการเลือกปฏิบัติต่อชุมชนชาวมุสลิมในรัฐยะไข่เป็นงานสำคัญเร่งด่วน.