เอเอฟพี - ทางการพม่าออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่พม่ากล่าวถึงชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาว่า "คนที่เชื่อในศาสนาอิสลาม" ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเตรียมที่จะเดินทางเยือน
กลุ่มชาตินิยมชาวพุทธในพม่าคัดค้านการใช้คำจำกัดความว่า "โรฮิงญา" ในการอ้างถึงชนกลุ่มน้อยเกือบล้านคน ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของประเทศ โดยกลุ่มหัวรุนแรง ตราคนเหล่านี้ว่าเป็นชาวเบงกาลี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อพยพผิดกฎหมายมาจากบังกลาเทศ ขณะที่รัฐบาลก็ปฏิเสธที่จะให้สิทธิความเป็นพลเมืองแก่คนกลุ่มนี้
ชาวโรฮิงญาจำนวนมากเสียชีวิตในเหตุความรุนแรงระหว่างศาสนาในปี 2555 และหลายหมื่นคนต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศนับแต่นั้น
คำสั่งจากกระทรวงข้อมูลข่าวสารพม่า พยายามที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญา และสกัดกั้นเหตุไม่สงบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเยือนของ ยาง ฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
"คำว่า โรฮิงญา หรือ เบงกาลี จะไม่ถูกนำมาใช้ในระหว่างการเยือนของลี แต่จะแทนที่ด้วยคำว่า คนที่เชื่อในศาสนาอิสลามในรัฐยะไข่" หนังสือของกระทรวงลงวันที่ 16 มิ.ย. และประทับตราลับ ระบุ และยังมีคำสั่งว่า ชาวยะไข่ควรถูกเรียกด้วยคำว่า คนที่เชื่อในศาสนาพุทธในรัฐยะไข่
ยาง ฮี ลี ผู้แทนสหประชาชาติคาดว่าจะเยือนรัฐยะไข่ในช่วงปลายสัปดาห์นี้
ในการเดินทางเยือนพม่าเมื่อปีก่อน ลีถูกพระสงฆ์หัวรุนแรงเรียกว่า โสเภณี จากการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา
เมื่อวันจันทร์ (20) สหประชาชาติเตือนว่าการละเมิดอย่างต่อเนื่องกับชาวโรฮิงญาอาจเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และหวังว่ารัฐบาลใหม่ของพม่าที่กำกับโดยนางอองซานซูจีและพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย จะจัดการกับความเกลียดชังที่ฝังลึกในรัฐยะไข่
แต่ซูจีกลับสร้างความผิดหวังให้กับกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชน จากการเลี่ยงที่จะกล่าวถึงประเด็นปัญหานี้โดยตรง และร้องขอพื้นที่ในการจัดการปัญหาในรัฐ
ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนถูกกักบริเวณอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศในรัฐยะไข่ และถูกจำกัดการเดินทาง การเข้าถึงการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานหรือการศึกษา
รายงานของสหประชาชาติระบุว่า ชาวโรฮิงญาถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐล่วงละเมิด ทั้งการกดขี่ข่มเหง การสังหาร การจับกุมตามอำเภอใจ กักขังทรมาน และบังคับใช้แรงงาน.