เอเอฟพี - องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยจำนวนประชากรที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นฐานทั่วโลกพุ่งสูงเป็นสถิติใหม่ 65.3 ล้านคนในช่วงปลายปี 2015
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แถลงว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้พลัดถิ่นฐานทั่วโลกขยับสูงเกินกว่าระดับ 60 ล้านคน”
ข้อมูลใหม่ซึ่งถูกเผยแพร่เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day) ได้ชี้ให้เห็นถึงแรงกดดัน 2 ด้านที่กระตุ้นให้โลกต้องเผชิญกับวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งเลวร้ายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า เมื่อคนจำนวนมากอพยพย้ายถิ่นเพื่อหนีสงครามหรือการไล่ทำร้ายและสังหาร ก็มักจะเกิดกระแสต่อต้านขึ้นในประเทศปลายทาง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการที่จะรับผู้อพยพเหล่านี้เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่
“ความเต็มใจของแต่ละประเทศที่จะร่วมมือกันไม่ใช่เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติโดยรวม คือสิ่งที่กำลังถูกทดสอบในวันนี้” กรันดีระบุ
ข้อมูลสถิติจากยูเอ็นระบุว่า จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 5.8 ล้านคนในปี 2015
ทั้งนี้ หากเทียบกับจำนวนประชากรโลก 7,349 ล้านคน เท่ากับว่าจะมีประชากร 1 คนจากทุกๆ 113 คนที่กลายเป็นคนพลัดถิ่นฐานในประเทศ หรือไม่ก็เป็นผู้ลี้ภัย
UNHCR ชี้ว่า ตัวเลขนี้ถือเป็นระดับความเสี่ยงที่ทางองค์กร “ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน” พร้อมย้ำว่า ตัวเลขผู้พลัดถิ่นทั่วโลกสูงกว่าประชากรของอังกฤษหรือฝรั่งเศสทั้งประเทศเสียอีก