เอเอฟพี - ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในสหภาพยุโรป (อียู) ควรถูกกักกันเอาไว้บนเกาะต่างๆ มากกว่าปล่อยให้เข้ามายังทวีปยุโรปโดยตรง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรียกล่าว
เซบาสเตียน เคิร์ซ แนะนำในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Die Presse ฉบับวันอาทิตย์ (5) ให้อียูเอาอย่างออสเตรเลีย ที่ทำให้ผู้อพยพหมดกำลังใจที่จะเริ่มต้นการเดินทาง ซึ่งส่วนมากมักอันตรายมายังยุโรป
ภายใต้นโยบายตรวจคนเข้าเมืองอันเคร่งครัด และถูกวิจารณ์อย่างหนักของแดนจิงโจ้ ผู้ลี้ภัยที่พยายามจะเข้าถึงออสเตรเลียโดยทางเรือจะถูกส่งกลับหรือส่งไปยังค่ายในนาอูรู และปาปัวนิวกินี ซึ่งพวกเขาจะถูกกักกันไว้อย่างไม่มีกำหนดในระหว่างที่คำขอลี้ภัยของพวกเขาถูกดำเนินการ
พวกเขาถูกขัดขวางไม่ให้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในออสเตรีย แม้ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยก็ตาม
“แนวทางปฏิบัติของออสเตรเลียไม่อาจจะนำมาลอกเลียนแบบได้ทั้งหมด แต่แนวทางของพวกเขาสามารถนำมาปรับใช้ได้ในยุโรป” รัฐมนตรีรายนี้กล่าว และเสริมว่า เขาสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบของข้อตกลงกับตุรกีเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนผู้อพยพที่จะเดินทางมายังทวีปยุโรป
แนวทางลักษณะดังกล่าวเคยถูกใช้ในสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 โดยผู้อพยพจะถูกกักกันไว้บนเกาะเอลลิส ในขณะที่พวกเขากำลังเดินทางไปนิวยอร์ก เขากล่าว
เคิร์ซกล่าวเสริมว่า อียูควรรับรองมติที่จะทำให้ผู้ที่พยายามเข้ามายังยุโรปอย่างผิดกฎหมายสูญเสียสิทธิในการขอลี้ภัย
องค์การด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุในสัปดาห์นี้ว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมมีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้ามายังยุโรปแล้วราว 204,000 คน
ในปีนี้มีผู้เสียชีวิตขณะพยายามอพยพข้ามทะเลแห่งนี้กว่า 2,500 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตในการข้ามจากลิเบียไปยังอิตาลี ในขณะที่ยุโรปกำลังต่อสู้กับวิกฤตผู้อพยพครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
ผู้อพยพจำนวนมากที่ถูกช่วยชีวิตจากทะเลแห่งนี้ถูกส่งไปยังเกาะต่างๆ ของกรีซ หรือเกาะแลมเปดูซา ของอิตาลี
ออสเตรียซึ่งบริหารงานโดยรัฐบาลผสมจากพรรคอนุรักษนิยม และสังคมนิยมประชาธิปไตย รับผู้ลี้ภัยราว 90,000 คนเมื่อปีที่แล้ว แต่ต่อมาเวียนนาได้เพิ่มเงื่อนไขในการรับผู้ลี้ภัย และพยายามที่จะปิดเส้นทางอพยพจากกรีซสู่ตอนเหนือของยุโรปผ่านคาบสมุทรบอลข่าน