เอเอฟพี - ผู้ลี้ภัยจากค่ายพักพิงของออสเตรเลียที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในกัมพูชาอีก 2 คน ตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม ตามรายงานของรัฐบาลออสเตรเลีย ที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์รอบใหม่เกี่ยวกับโครงการมูลค่า 55 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (40 ล้านดอลลาร์)
ภายใต้นโยบายแข็งกร้าวของออสเตรเลียที่จะยุติการอพยพทางเรือเพื่อขึ้นฝั่งประเทศของผู้อพยพหาที่พักพิง โดยผู้อพยพที่เดินทางมาถึงไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งรกรากใหม่ในออสเตรเลีย แม้จะพบว่า เป็นผู้ลี้ภัยที่แท้จริงก็ตาม และหากคนเหล่านั้นไม่เดินทางกลับประเทศต้นทาง ก็จะถูกส่งไปยังเกาะนาอูรู หรือเกาะมานัส ในปาปัวนิวกีนี
รัฐบาลออสเตรเลียได้ทำข้อตกลงกับกัมพูชาในเดือน ก.ย.2557 ที่จะรับผู้ลี้ภัยเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ความเคลื่อนไหวที่ถูกประณาม และตั้งคำถามจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน และสหประชาชาติ
ในเบื้องต้น ผู้ลี้ภัยชุดแรก 4 คน ที่ถูกควบคุมตัวอยู่บนเกาะนาอูรู ประกอบด้วย ชาวอิหร่าน 3 คน และชาวโรฮิงญา จากพม่า 1 คน อาสาที่จะย้ายมายังกัมพูชา และมีชาวโรฮิงญาอีก 1 คน เดินทางมาสมบทในภายหลังเป็นคนที่ 5
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 1 ใน 2 คนนั้น ตัดสินใจที่จะเดินทางกลับบ้านเมื่อเดือน ต.ค. โดยอ้างว่าคิดถึงบ้าน และเวลานี้มีชาวอิหร่านอีก 2 คน เดินทางกลับประเทศเช่นกัน
“ผู้ลี้ภัยสามารถเลือกที่จะเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ตลอดเวลา และนั่นเป็นสิ่งที่ชาวอิหร่านทั้ง 2 คน ในกัมพูชา ได้ตัดสินใจไปเมื่อไม่นานนี้” ปีเตอร์ ดัทตัน โฆษกกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลีย กล่าว
โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกัมพูชา ระบุว่า ชาวอิหร่านคู่นี้ค่อนข้างมีความสุขต่อการใช้ชีวิตอยู่ในกัมพูชา แต่พวกเขาตัดสินใจเดินทางกลับอิหร่านเพราะคิดถึงบ้านหลังห่างไกลมานาน
แม้จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่เจ้าหน้าที่กัมพูชากล่าวว่า ไม่มีแผนที่จะระงับโครงการนี้
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ที่ช่วยเหลือกัมพูชาในการตั้งถิ่นฐานใหม่ ยืนยันว่า ออสเตรเลียยังคงให้ทุนต่อโครงการนี้ แม้งบประมาณที่ถูกจัดสรรไว้ไม่ได้นำมาใช้ทั้งหมด
ด้านพรรคแรงงานที่เป็นพรรคฝ่ายค้านของออสเตรเลีย ซึ่งสนับสนุนการควบคุมตัวผู้แสวงหาที่พักพิงยังค่ายพักที่ตั้งขึ้นในแปซิฟิก กล่าวว่า แม้จะมีทางเลือกไม่มากสำหรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่โครงการกัมพูชาเป็นโครงการที่ไม่ได้ผล
“ไม่เพียงแค่รัฐบาลที่สูญเงินภาษีไป 55 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย กับข้อตกลงที่ไร้ผลนี้ แต่พวกเขายังทิ้งให้ผู้คนกว่า 2,000 คน บนเกาะมานัส และนาอูรู อยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคงเกือบ 3 ปี” ริชาร์ด มาร์ล โฆษกของพรรคฝ่ายค้านด้านกองตรวจคนเข้าเมือง กล่าว
แต่ ดัทตัน ได้กล่าวป้องนโยบายของรัฐบาล และข้อตกลงกับพนมเปญ
“รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาในการดำเนินข้อตกลงตั้งถิ่นฐานในกัมพูชา และสนับสนุนผู้ลี้ภัยชั่วคราวในนาอูรูสำรวจตัวเลือกการตั้งถิ่นฐานนี้” ดัทตัน กล่าว.