เอพี - ข้อตกลงมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่จะตั้งถิ่นฐานใหม่ให้แก่ผู้ลี้ภัยจากค่ายกักกันที่ออสเตรเลียดูแลในประเทศนาอูรู เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มายังกัมพูชา ได้รับความเสียหายอย่างที่ไม่สามารถจะแก้ไขได้จากการตัดสินใจของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ต้องการเดินทางกลับบ้านเกิดในพม่า ฝ่ายค้าน และผู้ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียเผยวันนี้ (8)
มีเพียงผู้ลี้ภัย 4 คน เป็นชายชาวอิหร่าน 2 คน หญิงชาวอิหร่าน 1 คน และชายชาวโรฮิงญา 1 คน ที่รับข้อเสนอเงินสด ประกันสุขภาพฟรี และที่พักในการตั้งถิ่นฐานใหม่จากนาอูรูยังชุมชนในกรุงพนมเปญ ของกัมพูชา เมื่อต้นเดือน มิ.ย.
เจ้าหน้าที่กัมพูชาเผยในสัปดาห์นี้ว่า ชายชาวโรฮิงญาอายุ 24 ปี จากพม่า ต้องการยกเลิกสถานะผู้ลี้ภัยของตัวเอง และเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด
ริชาร์ด มาร์ล โฆษกของพรรคฝ่ายค้านด้านกองตรวจคนเข้าเมืองกล่าวว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโทนี แอบบอตต์ ได้ตกลงที่จะจ่ายเงิน 55 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 38 ล้านดอลลาร์) สำหรับข้อตกลงกับกัมพูชาที่ได้ไม่แก้ไขปัญหาสถานที่สำหรับส่งผู้แสวงหาที่พักพิงที่ต้องการอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย
“ในฐานะตัวเลือก กัมพูชาเปรียบเสมือนเรื่องตลกราคาแพง รัฐบาลของแอบบ็อตต์ไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมสำหรับผู้แสวงหาที่พักพิงบนเกาะนาอูรู” ริชาร์ด มาร์ล กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง
ปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลีย กำลังอยู่ในยุโรป และไม่ได้แสดงความเห็น แต่ได้กล่าวไว้เมื่อเดือน พ.ค. ว่า เขาคาดว่าผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกที่ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในกัมพูชาจะเป็นเรื่องราวที่ประสบความสำเร็จที่จะกระตุ้นให้ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ บนเกาะนาอูรู ดำเนินรอยตาม และกัมพูชาจะรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาด้วยความสมัครใจเท่านั้น
พอล พาวเวอร์ ผู้บริหารสูงสุดของคณะกรรมการผู้ลี้ภัยแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ประสบการณ์ที่เกิดในกัมพูชาจะทำให้ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ เสียกำลังใจ
“ความจริงที่ว่าบางคนที่หลบหนีสถานการณ์ที่น่ากลัวในพม่าต้องการกลับไปอยู่ที่พม่ามากกว่าที่ที่พวกเขาอยู่ตอนนี้ มันเป็นการทำลายสิ่งที่รัฐบาลออสเตรเลียได้สร้างขึ้นที่นั่น” พาวเวอร์ กล่าว
เอียน รินทูล ผู้อำนวยการองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย Refugee Action Coalition ในซิดนีย์ กล่าวว่า เขาได้พูดคุยกับผู้ลี้ภัยทั้ง 4 คนก่อนเดินทางออกจากนาอูรู ไม่มีใครตั้งใจที่จะอยู่ในกัมพูชา พวกเขาหวังที่จะเก็บเงินก้อนราว 10,000 ดอลลาร์ ที่ยังไม่มีให้เห็น
“พวกเขาคิดว่าพวกเขากำลังจะได้เงินมากพอที่จะเดินทางไปที่อื่น” รินทูล กล่าว
ด้านองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ที่ช่วยตั้งถิ่นฐานให้แก่ผู้ลี้ภัยในกรุงพนมเปญ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์ของชาวโรฮิงญา.