xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพยุโรปยินดีเลี่ยงใช้คำโรฮิงญา-ให้พื้นที่พม่าจัดการปัญหารัฐยะไข่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ซูจีย้ำจุดยืนถึงการเลี่ยงการใช้คำว่าโรฮิงญาในการกล่าวถึงชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ เพื่อไม่ให้สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ด้านสหภาพยุโรปออกคำแถลงระบุว่าจะเคารพต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว และให้พื้นที่พม่าในการจัดการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน. -- Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>

รอยเตอร์ - สหภาพยุโรประบุว่า พม่าต้องการ "พื้นที่" ในการจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และจะเคารพข้อเรียกร้องของอองซานซูจี ในการหลีกเลี่ยงการใช้คำ "โรฮิงญา" ในการอ้างถึงชาวมุสลิมในพื้นที่ดังกล่าว

คำแถลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในแนวทางปฏิบัติของตะวันตกต่อประเด็นปัญหาอ่อนไหว ด้วยท่าทีที่ตรงข้ามกับสหรัฐฯ ที่ระบุว่าจะยังคงใช้คำจำกัดความดังกล่าว ซึ่งอ้างว่าเคารพสิทธิของชุมชนต่างๆ ในการเลือกสิ่งที่พวกเขาควรถูกเรียก

สมาชิกของกลุ่มคนราว 1.1 ล้านคน ที่ระบุตัวเองด้วยว่า "โรฮิงญา" ถูกชาวพุทธพม่าจำนวนมากมองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

ความตึงเครียดที่อยู่โดยรอบชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกำลังเพิ่มสูงขึ้น และในสัปดาห์นี้ ซูจีได้กล่าวกับผู้สืบสวนสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่กำลังเยือนพม่าว่า รัฐบาลจะไม่ใช้คำจำกัดความดังกล่าวเพราะเป็นคำที่ยั่วยุให้เกิดความไม่พอใจ

ชาวโรฮิงญาราว 120,000 คน ยังคงอาศัยในค่ายผู้พลัดถิ่นนับตั้งแต่การต่อสู้ปะทุขึ้นในรัฐยะไข่ระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในปี 2555 และหลายพันคนเลือกที่จะหลบหนีการกดขี่ข่มเหงและความยากจน ซึ่งสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันจันทร์ (20) ว่าการละเมิดสิทธิ ที่รวมทั้งการสังหารและการทรมาน อาจเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

"เราเข้าใจว่า คำว่า "โรฮิงญา" เป็นคำที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกในพม่า และเราได้รับทราบถึงคำร้องของรัฐบาลในการหลีกเลี่ยงการก่อความตึงเครียดด้วยการใช้คำที่แบ่งฝ่าย ดังนั้นเราจึงควรที่จะให้พื้นที่ทางการเมืองในการริเริ่มหาหนทางแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อ" โรแลนด์ โคเบีย ทูตสหภาพยุโรปประจำพม่า กล่าว

เมื่อสัปดาห์ก่อน ฝ่ายบริหารของซูจีเสนอคำจำกัดความใหม่สำหรับชาวโรฮิงญาว่า ชุมชนชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ แต่คำอธิบายนี้กลับถูกคัดค้านอย่างรวดเร็ว

พรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) ที่ตั้งขึ้นโดยชาวพุทธยะไข่หัวรุนแรง ระบุว่ารัฐบาลมีอคติ และปฏิเสธคำจำกัดความใหม่นี้

"เราพิจารณาว่าการใช้คำใหม่นั้น มีความหมายเหมือนกับว่าพวกเขาเป็นคนพื้นเมืองของยะไข่ ด้วยการไม่อ้างถึงสถานที่เดิมของชาวเบงกาลีเหล่านี้" พรรคระบุในคำแถลง

รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้กล่าวถึงกลุ่มชาวมุสลิมดังกล่าวว่า เบงกาลี ที่หมายถึงผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

วาย วาย นู นักเคลื่อนไหวชาวโรฮิงญาจากเครือข่ายสันติภาพสตรีอาระกัน กล่าวว่า รัฐบาลควรปกป้อง รับฟัง และปรึกษากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

"รัฐบาลควรจัดการกับการกดขี่ข่มเหงและการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย และรับรองการคุ้มครองสิทธิของพวกเขาด้วยการเคารพต่อเชื้อชาติ เอกลักษณ์ และชื่อของพวกเขา" วาย วาย นู กล่าว

ยาง ฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนประจำพม่าของสหประชาชาติ กำลังเดินทางอยู่ในพม่า ในการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่ซูจีเข้าสู่อำนาจ

พระวิระธู ผู้นำกลุ่มพระสงฆ์ชาตินิยมหัวรุนแรงได้กล่าวข่มขู่จะทำร้ายยาง ฮี ลี ด้วยรองเท้าแตะไม้ ด้วยว่า ลี นั้นทำหน้าที่เป็นเหมือนกับนายหน้าทางการเมือง เป็นอีกส่วนหนึ่งของผู้ก่อปัญหา และขายประเทศให้กับผู้อื่น เมื่อปีก่อน พระวิระธูยังเรียกยาง ฮี ลี ว่าโสเภณี หลังลีวิจารณ์กฎหมายที่มองว่าเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มิใช่ชาวพุทธและสตรี.
กำลังโหลดความคิดเห็น