xs
xsm
sm
md
lg

"ซูจี" ย้ำจุดยืนไม่ใช้คำว่า "โรฮิงญา" เรียกชนกลุ่มน้อยมุสลิมในพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศพม่า ขณะแถลงข่าวร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส (ไม่ปรากฎในภาพ) ในกรุงเนปีดอ วันที่ 17 มิ.ย. ซูจียังคงย้ำถึงจุดยืนในการเลี่ยงการใช้คำว่า โรฮิงญา เพื่ออ้างถึงชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ โดยให้เหตุผลว่าการใช้คำดังกล่าวจะยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้น. -- Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>

รอยเตอร์ - อองซานซูจีกล่าวกับผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนประจำพม่าของสหประชาชาติว่า รัฐบาลจะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "โรฮิงญา" เพื่อกล่าวถึงชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

กลุ่มชาวมุสลิม 1.1 ล้านคน ที่ระบุตนเองว่าเป็นชาวโรฮิงญาและมีชีวิตอยู่สภาพที่เหมือนถูกแบ่งแยก ถูกชาวพุทธพม่าจำนวนมากมองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

ยาง ฮี ลี ผู้สอบสวนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้พบหารือกับนางอองซานซูจี ที่กรุงเนปีดอ ในการเยือนพม่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ซูจีเข้าสู่อำนาจในเดือนเม.ย.

แม้จะได้รับความชื่นชมยินดีจากชาติตะวันตกสำหรับบทบาทของซูจีในฐานะผู้ชนะเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า แต่ซูจีกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญ

"ในที่ประชุมเช้าวันนี้ (20) อองซานซูจี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเรา อธิบายถึงจุดยืนของเราต่อประเด็นนี้ว่าคำดังกล่าวควรถูกหลีกเลี่ยง" อ่อง ลิน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

ซูจี แม้จะถูกห้ามจากการนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้น เพราะมีทายาทเป็นชาวต่างชาติ แต่ซูจีก็ครองตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นผู้นำที่แท้จริงของฝ่ายบริหาร

ซูจีกล่าวในระหว่างการเยือนพม่าของจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อเดือนก่อนว่า พม่าต้องการพื้นที่ในการจัดการกับประเด็นปัญหาโรฮิงญาและเตือนว่าการใช้คำแสดงอารมณ์จะยิ่งเป็นการทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้น

รัฐบาลชุดก่อนหน้าของเต็งเส่งกล่าวถึงกลุ่มชาวมุสลิมว่าเป็น ชาวเบงกาลี ที่หมายถึงผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้หลายคนจะใช้ชีวิตอยู่ในพม่ามาหลายรุ่นแล้วก็ตาม

เมื่อวันศุกร์ (17) เต๊ต ตินซา ทุน ผู้แทนพม่าประจำคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วิจารณ์การใช้ "ศัพท์บางคำ" โดยผู้แทนสหประชาชาติว่าเป็นการเติมเชื้อไฟและมีแต่จะทำให้เหตุการณ์เลวร้าย

"เพื่อประโยชน์ของความสามัคคีและความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างสองชุมชน เป็นการเหมาะสมสำหรับทุกคนที่จะใช้คำว่า 'ชุมชนชาวมุสลิมในรัฐยะไข่' " เต๊ต ตินซา ทุน กล่าว

ซะอีด รออัด อัลฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องพม่าให้ยุติการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อย ในรายงานที่ระบุถึงการละเมิดต่างๆ และมุ่งเน้นโดยเฉพาะชะตากรรมของชาวโรฮิงญา

ลี ถูกชาวพุทธชาตินิยมหัวรุนแรงในพม่าด่าทอว่า โสเภณี หลังเรียกร้องรัฐบาลชุดก่อนหน้าให้ยุติการละเมิดชาวโรฮิงญาและวิจารณ์กฎหมายที่ถูกมองว่าเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มิใช่ชาวพุทธและสตรี

ชาวโรฮิงญา 125,000 คน ยังคงไร้ที่อยู่และเผชิญกับข้อจำกัดในการเดินทางอย่างร้ายแรงในค่ายพักแรมชั่วคราวนับตั้งแต่การต่อสู้ปะทุขึ้นในรัฐยะไข่ ระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในปี 2555

ซูจีได้ตั้งคณะกรรมการที่จะนำความสงบสุขและการพัฒนามาสู่รัฐยะไข่ แต่แผนการของคณะกรรมการชุดนี้ยังคงไม่ชัดเจน

ลีจะพบหารือกับสมาชิกในคณะรัฐบาลอีกจำนวนหนึ่งและเดินทางไปยังพื้นที่ที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่อสู้กับกองทัพทหาร และบางครั้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธด้วยกันเอง รวมทั้งรัฐชาน รัฐกะฉิ่น และรัฐยะไข่.
กำลังโหลดความคิดเห็น