เอเอฟพี - ตำรวจพม่า ระบุว่า ได้เริ่มดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ชุมนุมประท้วง 5 คน จากการชุมนุมในช่วงสุดสัปดาห์ที่มีเป้าหมายจะส่งเสริมการยอมรับความต่างทางศาสนา
ความเคลื่อนไหวมีขึ้นเมื่อกลุ่มสิทธิมนุษยชนแสดงความวิตกเกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลใหม่ที่จะแก้ไขกฎหมายการชุมนุม
นักเคลื่อนไหว และนักศึกษาหลายสิบคนเดินขบวนในนครย่างกุ้ง เมื่อวันเสาร์ (14) ในท่าทีที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นของการแสดงความเป็นปึกแผ่นทางศาสนาในประเทศที่มีความหลากหลาย ที่กระแสชาตินิยมชาวพุทธซึ่งกำลังขยายตัวได้ก่อให้เกิดความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิม และเกิดเหตุนองเลือดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ตำรวจระบุว่า พวกเขาตัดสินใจที่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อแกนนำการชุมนุม 5 คน ที่มาจากหลายความเชื่อทางศาสนา เพราะนักรณรงค์เหล่านี้ได้เปลี่ยนเส้นทางการชุมนุมจากที่ได้ตกลงไว้
แกนนำทั้ง 5 ถูกตั้งข้อหาที่อาจต้องโทษจำคุกนานสูงสุด 6 เดือน ภายใต้กฎหมายที่เป็นที่ถกเถียง ซึ่งอยู่ในระหว่างการทบทวนโดยรัฐบาลใหม่
“เราได้เริ่มดำเนินการทางกฎหมายต่อแกนนำการประท้วง 5 คน ภายใต้มาตราที่ 19 ของกฎหมายการชุมนุมอย่างสันติ” ตำรวจนายหนึ่ง กล่าว
พรรคของซูจี เต็มไปด้วยอดีตผู้เห็นต่างต่อรัฐที่เคยติดคุกจากการคัดค้านรัฐบาลทหารในช่วงการปกครองที่กดขี่นานหลายทศวรรษ ในเวลานี้ พวกเขาทำหน้าที่ในรัฐบาลหลังได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเดือน พ.ย.
นับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศ รัฐบาลใหม่ได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวนมาก และส่งสัญญาณความมุ่งมั่นที่จะยกเลิกกฎหมายที่ปกครองอย่างกดขี่
แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้แสดงความวิตกต่อบทบัญญัติจำนวนหนึ่งในร่างแก้ไขกฎหมายการชุมนุมอย่างสันติ พวกเขากลัวว่า กฎหมายเหล่านี้จะยังคงบทลงโทษต่อการชุมนุมประท้วงที่ไร้ความรุนแรง แม้จะเป็นโทษจำคุกระยะสั้นก็ตาม
เดวิด แมทธีสัน จากฮิวแมน ไรท์ วอช กล่าวว่า กฎหมายฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่จะยังคงให้อำนาจเต็มแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในการดำเนินคดีต่อนักเคลื่อนไหว และเรียกร้องให้ทบทวนใหม่
ร่างกฎหมายที่เสนอพิจารณาแก้ไข ระบุ ให้ผู้ชุมนุมประท้วงต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ล่วงหน้า 48 ชั่วโมง ถึงสถานที่ และเวลาของการชุมนุม รวมทั้งรายละเอียดของสุนทรพจน์ และคำประท้วง ส่วนผู้ที่ชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าอาจถูกจำคุกเป็นเวลา 3 เดือน หากกระทำผิดซ้ำอาจถูกจำคุกนาน 1 ปี
รัฐสภามีกำหนดอภิปรายกฎหมายในอีกไม่กี่วันนี้
ตำรวจนครย่างกุ้ง ได้เริ่มดำเนินการตามกฎหมายต่อแกนนำการชุมนุมประท้วงที่ไม่ได้้รับอนุญาตของกลุ่มชาตินิยมชาวพุทธด้านนอกสถานทูตสหรัฐฯ เมื่อเดือนก่อน ที่ชุมนุมต่อต้านสหรัฐฯ จากการใช้คำว่า “โรฮิงญา” เรียกชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ ซึ่งชาวพุทธหัวรุนแรงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า เป็นชาวเบงกาลี และมองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ.