xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีพม่าเตือนกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งยุติการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>อ่อง โก รัฐมนตรีกระทรวงศาสนาของพม่า กล่าวกับผู้สื่อข่าวนอกรอบการประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคมพม่า ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 14 ก.ค. -- Agence France-Presse/Romeo Gacad.</font></b>

เอเอฟพี - รัฐมนตรีกระทรวงศาสนาของพม่า กล่าวเตือนพระสงฆ์ชาตินิยมสุดโต่งให้หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง นับเป็นการกล่าวตำหนิที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักของรัฐบาลต่อกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงที่อยู่เบื้องหลังการใช้ถ้อยคำต่อต้านชาวมุสลิมในประเทศ

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นหลังพระสงฆ์จากกลุ่มมะบะธา กล่าววิจารณ์อย่างรุนแรงต่ออองซานซูจี ว่าเป็น “เผด็จการ” ที่ตั้งใจจะล้มกลุ่มชาวพุทธกลุ่มนี้

คำพูดต่อต้านชาวมุสลิมของกลุ่มที่นำโดยพระสงฆ์ ถูกกล่าวโทษว่าก่อให้เกิดความเกลียดชังทางศาสนาทั่วประเทศ ที่ทำให้ได้เห็นความรุนแรงทางศาสนาเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง

อำนาจของกลุ่มขยายตัวขึ้นในช่วงการปกครองของอดีตรัฐบาลที่กองทัพให้การสนับสนุน มีการจัดชุมนุมใหญ่ และกล่าวให้ร้ายชาวมุสลิมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แต่ความโดดเด่นของกลุ่มได้จางหายไปในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

และจากการที่มหาเถรสมาคมของพม่าได้แสดงท่าทีออกห่างจากกลุ่มมะบะธาเป็นครั้งแรก ยิ่งเพิ่มการคาดการณ์ว่า เครือข่ายของกลุ่มมะบะธาอาจถูกยุบ

อ่อง โก รัฐมนตรีกระทรวงศาสนาคนใหม่ของพม่า ได้ออกมากล่าวเตือนถึงผู้ที่เผยแพร่ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง

“อนาคตของกลุ่มมะบะธาอาจไม่แน่นอนหากพวกเขายังคงเผยแพร่ถ้อยคำที่สร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนา...และในหมู่ชาติพันธุ์ รัฐบาลกำลังพยายามที่จะสร้างเสถียรภาพ” อ่อง โก กล่าว

นับเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีระดับสูงจากฝ่ายบริหารของอองซานซูจี จัดการต่อกลุ่มมะบะธา ที่อิทธิพลของกลุ่มทำให้อองซานซูจี ตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครที่เป็นชาวมุสลิมลงรับเลือกตั้งในเดือน พ.ย.

ซูจี ยังสร้างความผิดหวังให้แก่กลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในช่วงไม่กี่เดือนแรกที่ซูจีครองอำนาจ เนื่องจากล้มเหลวที่จะประณามการไม่ยอมรับความต่างทางศาสนา รวมถึงเหตุการณ์์การทำลายมัสยิด 2 แห่งของกลุ่มม็อบชาวพุทธเมื่อไม่นานนี้

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มมะบะธา ได้ฟื้นการรณรงค์ต่อต้านชาวโรฮิงญาขึ้นมาอีกครั้ง ที่พวกเขายืนยันว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

แม้ซูจี จะพยายามผ่อนคลายความไม่พอใจของชาวพุทธหัวรุนแรงด้วยการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐเลี่ยงการใช้คำว่า โรฮิงญา และแทนที่ด้วยคำว่า ชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ แต่กลุ่มมะบะธา ปฏิเสธถ้อยความดังกล่าว และจัดชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้เรียกว่า เบงกาลี เท่านั้น

พม่า มีกำหนดที่จะเผยแพร่ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรในสัปดาห์หน้า ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างวิตกว่า ชาวพุทธหัวรุนแรงอาจไม่พอใจหากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศนั้นมีขนาดใหญ่กว่าที่คาดไว้.
กำลังโหลดความคิดเห็น