ผลการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่น ชี้ว่า ญี่ปุ่นสัดส่วนคนชรามากที่สุดในโลก โดยมีผู้สูงอายุมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่จำนวนเด็กลดลง 8 ปี ต่อเนื่อง
ผลการสำรวจสำมะโนประชากรของญี่ปุ่น พบว่า ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นประมาณ 33,400,000 คน มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26.7 ของประชากรญี่ปุ่น โดยเพิ่มขึ้น 3.7 จุด จากผลสำรวจครั้งก่อนที่จัดทำเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และเป็นครั้งแรกที่กลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 25 นับแต่ที่เริ่มทำการสำรวจเมื่อปี 2463
ขณะเดียวกัน จำนวนเด็กที่อายุน้อยกว่า 14 ปี ก็ทำสถิติต่ำที่สุด โดยญี่ปุ่นมีประชากรเด็กเพียงแค่ร้อยละ 12.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 8
ผลสำรวจสำมะโนประชากร พบว่า ทั้งประเทศญี่ปุ่นมีประชากร 127.11 ล้านคน โดยมีผู้สูงอายุมากถึง 33.42 ล้านคน แต่มีเด็กเพียงแค่ 15.86 ล้านคน และยังเป็นครั้งแรกที่ประชากรวัยชรามีจำนวนมากกว่าเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ในทั้ง 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น
จังหวัดอะกิตะเป็นพื้นที่ที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุด ตามมาด้วยจังหวัดโคจิ และ ชิมาเนะ ขณะที่จังหวัดโอกินาวะ มีสัดส่วนผู้สูงอายุน้อย เช่นเดียวกับกรุงโตเกียว เมืองหลวง และจังหวัดไอจิ ก็มีสัดส่วนคนหนุ่มสาวค่อนข้างมาก
ผลการสำรวจล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุอย่างหนักหน่วง โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก สภาพสังคมเช่นนี้ ทำให้คนหนุ่มสาวของญี่ปุ่นแทบจะไม่มีเป้าหมายในการทำงาน และชีวิต ขณะที่รัฐบาลต้องแบกรับภาระหนักในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ จนต้องหาช่องทางเก็บภาษีต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
ถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะส่งเสริมให้หนุ่มสาวแต่งงานและมีบุตรหลานสืบสกุล รวมทั้งผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ชาวต่างชาติมาพำนัก และทำงานที่ญี่ปุ่นได้มากขึ้น หากแต่ก็ไม่สามารถทดแทนการลดลงของประชากรได้เลย.