เอพี - พระสงฆ์ชาตินิยม และผู้สนับสนุนหลายร้อยคนชุมนุมประท้วงกันในเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศเมื่อวันอาทิตย์ (28) เพื่อสนับสนุนการคงไว้ซึ่งมาตราในรัฐธรรมนูญที่ห้ามซูจีจากการเป็นผู้นำประเทศ
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี มีกำหนดที่จะเข้าบริหารประเทศในรัฐบาลชุดใหม่ในเดือน มี.ค.นี้ หลังชนะการเลือกตั้งเดือน พ.ย.อย่างถล่มทลาย แต่ซูจีไม่สามารถนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีได้ เนื่องจากมาตราในรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้นห้ามบุคคลใดก็ตามที่สมาชิกในครอบครัวเป็นชาวต่างชาติครองตำแหน่งสูงสุดของประเทศ ซึ่งลูกชาย 2 คน ของซูจี เป็นชาวอังกฤษ
พรรค NLD เริ่มรณรงค์แนวความคิดที่จะยกเลิกมาตราดังกล่าว แต่ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากฝ่ายกองทัพคัดค้าน และดูเหมือนว่าซูจีจะเดินหน้าต่อด้วยแผนที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ คือ การมีตัวแทนทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่ซูจีเป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด
ในการชุมนุมประท้วงวันอาทิตย์ (28) ในนครย่างกุ้ง ซึ่งเชื่อว่าถูกจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มมะบะธา กลุ่มชาวพุทธชาตินิยมนำโดยพระสงฆ์ ที่เคยก่อกระแสความไม่พอใจต่อต้านชาวมุสลิมจนนำไปสู่เหตุความรุนแรงนองเลือด
กลุ่มมะบะธา ให้การสนับสนุนต่อพรรครัฐบาลที่ทหารให้การสนับสนุน มากกว่าพรรค NLD ของซูจี ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีก่อน แต่ไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงมากนัก
การชุมนุมในวันอาทิตย์ (28) มีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 350 คน หลายคนสวมเสื้อที่มีข้อความเขียนว่า “มาตรา 59(f) ของรัฐธรรมนูญไม่ควรถูกแตะต้อง ต้องได้รับความคุ้มครองในแง่ของความมั่นคงของชาติ”
ผู้ชุมนุมประท้วงกล่าวปกป้องว่า การรักษามาตราดังกล่าวไว้เป็นไปในวัตถุประสงค์ของความเป็นชาตินิยม โดยอ้างว่าสถานะของพวกเขาไม่เกี่ยวข้องต่อความพยายามของซูจีที่จะเป็นประธานาธิบดี
“เราสนับสนุนงานนี้ เพราะเราไม่ต้องการคนนอก ชาวต่างชาติเข้ามาครอบงำประเทศ ไม่เพียงแค่ซูจี ไม่ว่าใครก็ตามที่เกี่ยวข้องต่อคนนอกเราไม่สามารถยอมรับได้” ธัน เมียว อู ผู้จัดการชุมนุม กล่าว
พม่าเริ่มเปลี่ยนไปสู่การปกครองโดยพลเรือนในปี 2554 เมื่อรัฐบาลกึ่งพลเรือนเข้าบริหารประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง แต่การเปลี่ยนแปลงของประเทศกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และเหตุจลาจลรุนแรงระหว่างชาวพุทธส่วนใหญ่ และชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อย
ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์-ศาสนา ทำให้ความรู้สึกชาตินิยมขยายตัวยิ่งขึ้น และนำไปสู่ความพยายามที่จะปกป้องเชื้อชาติ และศาสนา และการร่างกฎหมายที่ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
ผู้จัดงานชุมนุมปฏิเสธว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของกลุ่มมะบะธา
วิน โก โก ลัต ผู้จัดงาน และโฆษกการชุมนุม กล่าวว่า มะบะธาเป็นองค์กรศาสนา ไม่ใช่องค์กรชาตินิยม และความตั้งใจของเขาคือ การปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์ 135 กลุ่มที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการของประเทศ
“อะไรก็ตามที่เป็นตัวแทนของชาตินิยมเราพร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่” วิน โก โก ลัต กล่าว.
.
.