รอยเตอร์ - ในขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติของอองซานซูจีส่งยิ้มให้แก่กล้องในการประชุมครั้งแรกของรัฐสภาชุดใหม่ การประชุมสุดยอดของบรรดานายพลที่กองบัญชาการกองทัพทหารก็เกิดขึ้น ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่ประชุมรัฐสภาไปไกล ซึ่งในความคิดของทุกคนตอนนี้มีเพียงคำถามเดียวคือ ใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
เหตุการณ์คู่ขนานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการถ่ายโอนอำนาจอันซับซ้อนของพม่า ระหว่างการเลือกประธานรัฐสภาที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ที่ทำให้อดีตศัตรูจากพรรคซูจี และทหารจับมือกัน แต่ขณะเดียวกัน หลังประตูที่ปิดสนิท บรรดานายทหารระดับสูงของประเทศได้พบหารือกันเพื่อตัดสินใจถึงวิธีที่พวกเขาจะบริหารประเทศ
ช่วงเวลาหลังการชนะการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของซูจี ในเดือน พ.ย. การเจรจาหารือได้เข้าสู่ขั้นตอนสำคัญนับตั้งแต่การพบปะระหว่างพล.อ.มิน ออง หล่าย และซูจี ในวันที่ 26 ม.ค. สมาชิกรัฐสภาและนักการทูตที่ใกล้ชิดต่อกระบวนการ กล่าว
จากผลการเลือกตั้ง ทำให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี สามารถเลือกประธานาธิบดีคนถัดไปได้ แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นโดยกองทัพก่อนสละอำนาจในปี 2554 ซูจี ไม่สามารถทำหน้าที่สูงสุดของประเทศได้ และพรรค NLD ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้
“สิ่งสำคัญลำดับแรกๆ ของเรา รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง และไม่สอดคล้อต่อบสถานการณ์ปัจจุบัน” ตุน ตุน เฮง สมาชิกคณะกรรมการกำกับดูแลของพรรค NLD กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร
กองทัพยังคงยืนยันจนถึงตอนนี้ว่าไม่ต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และจะไม่ยอมรับการเป็นประธานาธิบดีของซูจี
แต่นักการทูตในนครย่างกุ้งบางส่วนระบุว่า พล.อ. มิน ออง หล่าย อาจยอมที่จะประนีประนอมแลกเปลี่ยนกับคำมั่นจากซูจีว่าเธอจะไม่ล่วงล้ำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของกองทัพ และไม่พยายามที่จะแก้แค้นต่อการปฏิบัติไม่ดีในสมัยการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร
“หากคุณปล่อยให้เธอไร้ตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เธอจะว่างวางแนวทางยุทธศาสตร์โดยไม่มีภาระหน้าที่บริหารประเทศในแต่ละวัน” นักการทูตตะวันตกรายหนึ่ง กล่าว
นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานเมื่อวันศุกร์ (5) อ้างสมาชิกอาวุโส 2 คนของพรรค NLD ว่า ในการหารือกับทหารได้รวมถึงข้อตกลงที่เป็นไปได้ว่าอาจจะอนุญาตซูจี เป็นประธานาธิบดีแลกเปลี่ยนกับตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล
ไม่มีใครทราบถึงสิ่งที่หารือกันในการประชุมที่กองบัญชาการกองทัพ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับหมู่อาคารรัฐสภาในกรุงเนปีดอ
การรวมตัวของทหารเกิดขึ้นพร้อมกับการเปิดประชุมรัฐสภาที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ซึ่งแหล่งข่าว 2 คนที่คุ้นเคยต่อเรื่องเหล่านี้ระบุว่า ผู้บัญชาการอาวุโสจากทั่วประเทศรวมตัวกันไม่กี่ครั้งต่อปีเพื่อหารือถึงเรื่องการทหาร
แต่การเมืองก็มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นวาระหนึ่งในการหารือ เนื่องด้วยกองทัพยังคงมีบทบาท ด้วยที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภาถูกสงวนไว้ให้แก่นายทหาร พร้อมกับการควบคุมกองกำลังรักษาความปลอดภัย และข้าราชการพลเรือน ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนที่นั่งในรัฐสภาของทหารยังทำให้ทหารมีสิทธิยับยั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ในรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต้องได้เสียงรับรองมากกว่า 75%
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ซูจีสามารถนั่งประธานาธิบดีได้ แม้สองฝ่ายเห็นชอบ แต่การแก้ไขก็ยังคงต้องลงประชามติทั่วประเทศ
เพื่อเลี่ยงกระบวนการที่ยาวนาน มาตราที่ 59(f) ที่ห้ามบุคคลใดก็ตามที่มีคู่สมรสหรือทายาทเป็นชาวต่างชาติเป็นประธานาธิบดี สามารถถูกระงับได้ ตามที่อ่อง โก อดีตนายพล และพันธมิตรของซูจี และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของ NLD ระบุ
“โดยส่วนตัวผมต้องการให้ดอว์อองซานซูจี เป็นประธานาธิบดี แต่ผมก็ไม่คิดว่ารัฐธรรมนูญควรถูกระงับ มันไม่ใช่ประเพณีที่ดีที่จะส่งต่อให้แก่รัฐสภาในอนาคต” บา ชิน สมาชิกรัฐสภาจากพรรคแห่งชาติอาระกัน ที่เป็นพรรคชาติพันธุ์ใหญ่จากรัฐยะไข่ กล่าว
NLD มีเวลาจนถึงปลายเดือน มี.ค. ที่จะจัดการลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีในรัฐสภา แต่แกนนำระดับสูงของพรรคระบุว่า พวกเขาอาจดำเนินการในสัปดาห์หน้า หรือปลายเดือน ก.พ.
“พวกเขาพยายามที่จะหาทางแก้ปัญหาที่จะไม่ไปล้ำเส้นใคร มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ที่ตรงไปตรงมานั้นดีกว่า ดีกว่าที่ซูจีจะปกครองประเทศแต่ไม่มีตำแหน่ง” เคลลี คูร์รี่ จากสถาบัน Project2049 ในกรุงวอชิงตัน กล่าว.