xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” เชื่อหลังประชามติ 7 ส.ค.บ้านเมืองยังเดินหน้า ยก “เบร็กซิต” เปลี่ยนการเมืองใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาให้ช่องดาวเทียมบลูสกาย ระบุ ผลประชามติ 7 ส.ค. ไม่ใช่ตัวชี้ขาดบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลง ยังเดินหน้าได้ หากเกิดความวุ่นวาย คสช. เอาอยู่ ระบุ นายกฯ ย้ำเสมอว่าอยู่ตามโรดแมป แนะ 3 แนวทางเปลี่ยนประเทศ หยิบผล “เบร็กซิต” ชี้ตัวเลขเศรษฐกิจไม่มีความหมายกับคนธรรมดา ถูกขู่เงินปอนด์ - เศรษฐกิจพัง ก็ไม่สน ต้องเปลี่ยนชุดนโยบายและเครื่องมือเศรษฐกิจใหม่ เพราะประชาชนไม่เอาการเมืองแบบเดิม

วันนี้ (10 ก.ค.) ที่ห้องออดิทอเรียม อาคารบางกอกทาวเวอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อเวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประชามติเปลี่ยนไทย เปลี่ยนโลก” ซึ่งจัดโดย สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมฟ้าวันใหม่ (บลูสกาย แชนแนล เดิม) บริษัท บลูสกาย แชนแนล จำกัด เนื่องในโอกาสเปิดตัวผังรายการใหม่ของสถานี โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า การออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. มีการถกเถียงกันมากว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และมีการวิเคราะห์ว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน หรือ ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แต่คำถามพ่วงผ่าน หรือไม่ผ่านทั้งคู่ จะเกิดอะไรขึ้น

ทั้งนี้ ตนบอกมาตลอดว่า ไม่เคยเชื่อว่า อนาคตมีการกำหนดล่วงหน้า เพราะอยู่ที่ประชาชนทุกคนที่จะกำหนดว่าหลังประชามติแล้วประเทศไทย หรือโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผลในวันที่ 7 ส.ค. อาจไม่ใช่ตัวชี้ขาดที่แท้จริง เพราะไม่มีหลักประกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากความวุ่นวายในบ้านเมืองไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากคนที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และไม่สามารถจัดการได้ จนเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ นำไปสู่การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้น ตนไม่เชื่อว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญจะแก้ปัญหาได้ โดยสุดท้ายจะเป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องเป็นผู้แก้ไข เช่นเดียวกับถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านที่บอกว่าจะเกิดความวุ่นวายนั้นก็เชื่อว่า คสช. ก็จะเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนได้พบคนจำนวนมากที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่พูด จึงเชื่อว่าแม้รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน บ้านเมืองก็ยังคงเดินหน้าได้ ซึ่งต่อจากนี้คือ ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านของประเทศที่ คสช. เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และหลังประชามติคิดว่าจะค่อย ๆ คลายกฎกติกาในปัจจุบัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอว่า ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ ก็จะเดินหน้าตามโรดแมป เว้นแต่ว่าเกิดความวุ่นวายมากจริง ๆ ดังนั้น จึงต้องตั้งมั่นว่า ไม่ว่าผลเป็นอย่างไร จะไม่ให้เกิดความวุ่นวาย บ้านเมืองก็จะเดินไปข้างหน้า ถ้าไม่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ต้องบอกว่าจะทำอย่างไร จึงควรมองข้ามวันที่ 7 ส.ค. ไป ว่า หลังจากนั้น จะช่วยกันสร้างการเมืองที่ดีขึ้นได้อย่างไร โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

อดีตนายกรัฐมนตรี ยังเสนอสามแนวทางในการเปลี่ยนประเทศไทย คือ 1. การเมืองที่แก้ปัญหาประเทศให้ได้ ตอบโจทย์คนไทยทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง และการเมืองที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่า หลังเลือกตั้งเศรษฐกิจจะดีขึ้น พรรคการเมืองจะตอบสนองความต้องการประชาชน โลกจะเข้ามาเกี่ยวพันกับรัฐบาลไทยมากขึ้น หลังจากที่มีการแขวนการเจรจาเอาไว้จนกว่าการเมืองจะเดินไปอย่างมีระบบ 2. คนที่เข้ามาแก้ปัญหาต้องซื่อสัตย์สุจริต และ 3. การเมืองที่ไม่มีการยุยงให้เกิดความขัดแย้ง

ทั้งนี้ เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันมีผู้ที่มีความสามารถและตั้งใจดี แต่การแก้ปัญหายังไม่ตรงจุด เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินถึงแค่ผู้นำชุมชนกับผู้รับเหมา ไม่ถึงประชาชน เพราะไม่มีส่วนร่วม จึงเป็นบทเรียนว่า ไม่เพียงพอที่จะเอาแค่คนเก่งและตั้งใจดีเท่านั้น แต่ต้องเอาคนที่เข้าถึงประชาชนมาร่วมแก้ปัญหา ซึ่งจะต้องอธิบายถึงแนวคิดที่จะทำว่ามีผลกระทบอย่างไรกับประชาชนได้ด้วย โดยเก็บเกี่ยวบทเรียนความล้มเหลวในอดีต ไม่ว่าจะเป็นโครงการจำนำข้าว แท็บเล็ต หรือ รถยนต์คันแรก สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้คนไทยหลุดพ้นเพื่อไม่ให้กลายเป็นฉากบังหน้าของคนบางกลุ่มเข้าสู่ผลประโยชน์เพื่อนายใหญ่หรือใครก็ตาม ดังนั้น หากต้องการเปลี่ยนประเทศต้องทำให้สังคมไทยร่วมกันผลักดันว่า คนที่เข้ามาบริหารประเทศ แม้จะมีคนเห็นต่าง ต้องไม่มีการสร้างความเกลียดชัง หรือใช้ความรุนแรง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ใครที่บอกว่าพรรคการเมืองอยู่เฉย ๆ ให้รอการเลือกตั้งเป็นการตอกย้ำความล้มเหลวการเมืองไทยในอดีต ที่บอกว่าพรรคการเมืองสนใจแต่แย่งอำนาจตอนเลือกตั้ง แต่นักการเมืองต้องคิดนโยบายเปลี่ยนประเทศรับมือแก้ปัญหาของประเทศ เป็นสิ่งที่พวกเราพยายามทำอยู่ตอนนี้ โดยตั้งใจว่า จะออกชุดนโยบายที่จะคิดออกมาต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งต้องจับมือท้องถิ่น สื่อมวลชน ภาคประชาชน รวมถึงนักการเมืองข้ามพรรคเพื่อแก้ปัญหาประชาชนจึงจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ พร้อมกับยกตัวอย่างสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำสำเร็จโดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 คือ การศึกษาฟรี 15 ปี เบี้ยยังชีพคนชรา กองทุนเงินออมแห่งชาติ และจะมีภารกิจพิชิตจนให้คนไทยหลุดพ้นความยากจนและภาวะหนี้สิน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศหลังการออกเสียงประชามติ

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการออกเสียงประชามติของสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการออกจากสหภาพยุโรป หรือ อียู ว่า พื้นที่ที่ลงคะแนนให้อยู่ในอียู คือ เมืองใหญ่ เช่น ลอนดอน แมนเชสเตอร์ แต่พื้นที่ชนบทให้ออกจากอียู เมื่อแบ่งตามอายุพบว่า 40 ปีขึ้นไปไม่ขออยู่ในอียู แต่ 40 ปีลงไปอยากให้อยู่ เป็นการเตือนคนโลกทั้งโลก ว่า มีคนในสังคมจำนวนมากปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และอย่าคิดว่าความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับอังกฤษ แต่เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากคนจำนวนหนึ่งตามไม่ทัน และไม่อยากถูกลากไป ดังนั้น ต้องดึงคนเหล่านี้มาด้วย นอกจากนี้ การหาเสียงในการลงประชามติที่อังกฤษนั้น ฝ่ายที่ต้องการให้อยู่ขู่ว่าเงินปอนด์จะตก เศรษฐกิจจะพัง แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่กลัว เพราะโลกมาถึงจุดที่ตัวเลขเศรษฐกิจไม่มีความหมายกับคนธรรมดา แม้เงินไหลออกแสนล้าน ชีวิตก็ยังเหมือนเดิม เป็นแค่เรื่องคนจำนวนหนึ่งที่เล่นกับกองกระดาษเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อคิดถึงการเปลี่ยนประเทศต้องเปลี่ยนชุดข้อมูลในการทำงาน แต่ผู้บริหารยังพูดถึงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเดิม ในขณะที่ชาวบ้านไม่ได้อะไร เพราะเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือน จึงเป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนชุดนโยบายและเครื่องมือทางเศรษฐกิจใหม่

“การเมืองกำลังเปลี่ยน สิ่งที่เป็นวาทกรรมการตอบโต้ทางการเมืองกำลังเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงสำหรับประชาชน ที่อังกฤษหลังประชามติมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคการเมืองสามพรรค เป็นตัวบอกว่าประชาชนไม่เอาการเมืองแบบเดิม ส่วนประเทศไทยนั้นหลังประชามติ ต้องตั้งหลักให้ถูกต้อง ซึ่งจะต้องมาทำด้วยกัน ในการเปลี่ยนไทย เปลี่ยนโลก หลังการทำประชามติ ดังนั้น วันที่ 7 ส.ค. ถือเป็นวันสำคัญที่ต้องไปใช้สิทธิ์ว่ารับหรือไม่รับ ขอให้ใช้ดุลพินิจศึกษาให้ดี” นายอภิสิทธิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น