xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ขู่ใช้ ม.44 คุมออกเสียงประชามติ หาก ม.61 วรรค 2 ขัด รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เตือนพวกหวังให้ ม.61 วรรค 2 ขัด รธน. หวังเคลื่อนไหวแรง ให้ระวังหนีเสือปะจระเข้ เจอใช้ ม.44 ดูแลการออกเสียงประชามติ ขณะที่เวทีแจงร่าง รธน. เวทีโคราช บรรยากาศเรียบร้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากหอประชุม เปรม ติณสูลานนท์ จ.นครราชสีมา ว่า เมื่อเวลา 9.00 น. วันนี้ (25 มิ.ย.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดประชุมชี้แจงเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญประชามติ และประชาชน” เป็นครั้งที่ 4 มีผู้แทนจาก 4 ฝ่ายเข้าร่วมชี้แจง ประกอบด้วย ผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี คือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง ผู้แทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายสมชาย แสวงการ และผู้แทน กกต. นายศุภชัย สมเจริญ นายบุญส่ง น้อยโสภณ

โดยมีนักการเมือง อดีต ส.ส.และอดีต ส.ว. อาทิ นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีต ส.ว.นครราชสีมา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกพรรคภูมิใจไทย นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายอิสสระ สมชัย อดีต ส.ส.อุบลราชธานีพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. นายธีระชัย แสนแก้ว อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ. พร้อมด้วย ผู้นำท้องถิ่น ภาคประชาชนจากกลุ่มจังหวัดภาคอีสานเข้าร่วม 512 คน เข้ารับฟังการชี้แจง

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับข้อมูลข่าวสาร รับการชี้แจงจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เนื่องจากระยะเวลาจำกัด ไม่สามารถจัดเวทีได้ทุกจังหวัด จึงจัดเป็นรายภาค ให้มารับฟังและสอบถามจากผู้แทนฝ่ายต่าง ๆ ได้โดยตรง เมื่อได้รับข้อมูลแล้วเหลือเวลาอีก 43 วัน ในการไปหาข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม แม้จะเผชิญแรงกดดันในการจัดออกเสียงประชามติ กกต. และพนักงานยังยืนหยัดทำหน้าที่สุจริต เที่ยงธรรม เป็นกลางทางการเมือง

ด้าน นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต. กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นของประชาชนไม่ต่างจากการแสดงความคิดเห็นในปี 2550 รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 4 และ พ.ร.บ. ประชามติในมาตรา 7 ได้รับรองการแสดงความคิดเห็นของประชาชน บทกำหนดโทษก็ลอกมาจาก พ .ร.บ. ประชามติ ปี 2550 มีเพียงมาตรา 61 วรรคสอง ที่มีการเพิ่มเติมมาใหม่ เนื่องจากเกรงว่าสถานการณ์ปัจจุบันเสี่ยงว่าจะมีความขัดแย้งสูง เป็นการเขียนเพื่อป้องปราม แต่เสรีภาพของประชาชนยังเหมือนเดิม ถ้าทำโดยสุจริตจะได้รับการคุ้มครอง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกเวทีที่ผ่านมา มีบรรยากาศที่ดี เพราะการพูดจา มาพบกันทำให้พูดจากันรู้เรื่อง จาก 3 เวที มีคำถามเหมือน ๆ กัน เรื่องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ ประชาชน ขอโอกาสตอบก่อนที่จะถาม จะได้เปลี่ยนไปถามเรื่องอื่น ส่วนที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ คำถามยอดฮิต คือ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านจะทำอย่างไรต่อ ที่สำคัญ ไม่ผ่านจะทำอย่างไร ถ้า 7 ส.ค. ผ่านประชามติ ต้องดูต่อไปว่าด้วยเหตุที่มีคำถามพ่วง ไม่เหมือนอังกฤษ ถามข้อเดียวอยู่หรือไป แต่ 7 ส.ค. จะมีสองท่อน มีคำถามสองข้อ

คำถามข้อที่ 1 เป็นคำถามหลักเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ คำถามรองคือคำถามพ่วง สิ่งที่ผู้เข้าประชุมทุกเวทีถาม ถ้าประชามติผ่านจะทำอย่างไร ถ้าคำถามพ่วงไม่ผ่าน เรื่องนี้ง่าย ก็ใช้เวลาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเขียน พิมพ์ นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย ก็เตรียมหาเสียงเลือกตั้งได้เลย และถ้าผ่านทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ใช้เวลาไม่กี่วันสำหรับแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ไปด้วยกันกับคำถามพ่วง เมื่อแก้เรียบร้อยก็นำขึ้นทูลเกล้าฯเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่ก่อนเลือกตั้งก็ต้องมีกฎหมาย

สถานการณ์ที่ 3 ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องสนใจคำถามพ่วงผ่านไม่ผ่านแล้ว คำตอบจากนายกฯ คือ ต้องทำใหม่ เพียงแต่จะใช้เวลาให้รวดเร็ว ไม่มีเหตุผลที่จะเอาฉบับที่ยังไม่เกิดมาวางเทียบ เพราะจะทำให้มีอคติในการลงประชามติ ต้องทำให้เร็วเพื่อให้จัดเลือกตั้งปี 2560 อยู่ดี นี่คือคำตอบ

นายวิษณุ กล่าวว่า คำถามยอดฮิตที่ 2 มาตรา 61 วรรคสอง เป็นปัญหาของเสี้ยวหนึ่งของวรรคหนึ่งของมาตรานี้เท่านั้น เกิดโต้เถียงกัน มีคนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คนวิตกจริตว่าถ้าขัดรัฐธรรมนูญ จะไม่มีประชามติ ยืนยันว่า ทุกอย่างเหมือนเดิม วันที่ 7 ส.ค. ยังมีอยู่ ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค แต่มีคนบอกว่าถ้าไม่มีมาตรานี้จะแสดงความคิดเห็นก้าวร้าว รุนแรง หยาบคายได้ อยากขอให้ระมัดระวัง ตนห่วงคนเหล่านี้จะกลายเป็นการกรีธาทัพออกมา ต้องระวังให้มาก เพราะจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้

“มีกฎหมายที่ใช้ควบคุมอีกเป็นกุรุส โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. ถ้าไม่เพียงพอก็ยังมี มาตรา 44 ที่ออกใหม่ได้ทุกวัน ยังมีเครื่องมืออยู่ ดังนั้น การจะทำอะไรควรให้อยู่บนพื้นฐานความสุจริต จะเป็นเกราะกำบัง เราไปห่วงกันมากเกินกับคำว่าก้าวร้าวรุนแรง แต่ลืมมาตรา 11 ที่ให้ กกต. ดูแลการแสดงความเห็นอย่างสุจริต ถ้าไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงก็ไม่มีใครมาตอแย ทำอะไรก็ได้ที่ไม่เท็จ บิดเบือน คำว่ารับ ไม่รับไม่ผิด ถ้าไม่เท็จไม่บิดเบือนไม่มีปัญหา”

นายวิษณุ กล่าวว่า คำถามยอดฮิตที่เกี่ยวกับประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ทำให้กินอิ่มนอนหลับอย่างไร ตนจึงบอกท่านว่า อย่ามาหาประโยชน์จากรัฐธรรมนูญที่จะเป็นประโยชน์ส่วนตน รัฐธรรมนูญมีไว้แก้ปัญหาประเทศ ปัญหาของประเทศ คือ ทุกข์ ต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ ต้นตอปัญหามาจากไหน จะดับทุกข์คือแก้ปัญหาอย่างไร และใช้วิธีอะไร ยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นการเดาทุกข์ล่วงหน้าและเตรียมแนวทางแก้ไขไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น