ประธาน กกต.แจงทูต 35 ชาติ เตรียมความพร้อมประชามติ ย้ำเคารพเสรีภาพแสดงความเห็น ยื่นศาลตีความ ม.61 ไม่กระทบ กดดันแต่เดินหน้าต่อ “สมชัย” เผยไม่ปิดกั้นเข้าสังเกตการณ์ แต่ต้องเคารพ กม. ประสาน กกต.ได้ ตปท.สนร่วมก็ไม่มีปัญหา ชี้ประชามติบรรยากาศต่างจากเลือกตั้งที่มีแข่งขัน รับวางตัวยากถูกคอยจับผิด แจง กม.กันไม่ให้ใช้เสรีภาพในทางที่ผิด
วันนี้ (21 มิ.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำโดยนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ได้ชี้แจงการเตรียมความพร้อมการออกเสียงประชามติให้กับคณะผู้แทนทางการทูต 35 ประเทศกับองค์กรระหว่างประเทศ 5 องค์กร โดยนายศุภชัยกล่าวว่า จัดงานครั้งนี้เพื่ออธิบายให้ทราบถึงอำนาจหน้าที่ในการจัดออกเสียงประชามติครั้งนี้ รวมทั้งภารกิจที่ กกต.จะดำเนินการต่อไปจนสิ้นสุดในวันลงประชามติ 7 ส.ค. โดย กกต.ตระหนักดีว่าการออกเสียงเป็นกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยซึ่ง กกต.เคารพและตระหนักถึงเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น ส่วนที่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ ว่าขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีความสำคัญต่อกระบวนการออกเสียงประชามติแต่อย่างใด การออกเสียงประชามติยังดำเนินการต่อไป และยืนยันว่าแม้จะต้องเผชิญแรงกดดันต่างๆ กกต.และพนักงานยังคงยืนหยัดการทำงาน สุจริตและเที่ยงธรรม ยึดหลักกฎหมายความเป็นกลางทางการเมือง และ กกต.ไม่มีข้อห่วงใยในการจัดการออกเสียงครั้งนี้
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ซักถามซึ่งก็มีการซักถามว่า มีการเปิดโอกาสให้องค์กรนานาชาติเข้าสังเกตการณ์ออกเสียงหรือไม่ โดยนายสมชัยชี้แจงว่า แม้ พ.ร.บ.ประชามติจะไม่ได้เปิดช่องให้มีการส่งอาสาสมัครเข้าสังเกตการออกเสียงในหน่วยออกเสียงเหมือนกฎหมายเลือกตั้ง แต่ กกต.ไม่ได้ปิดกั้น โดยในประเทศประชาชนสามารถรวมตัวกันตรวจสอบการออกเสียงได้ ที่ปรากฏเป็นข่าวไม่ใช่มีเฉพาะ นปช.เท่านั้น แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ก็มีการรวมตัวกันเพียงแต่ไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์ในหน่วยออกเสียงได้ ซึ่งการสังเกตการณ์ต้องเคารพกฎหมาย ไม่ก่อความวุ่นวาย หรือไปข่มขู่ให้ประช่าชนออกเสียงทางใดทางหนึ่ง นปช.ก็สามารถมาประสาน กกต.ให้ทำงานร่วมกันได้ ส่วนต่างประเทศ กกต.ไม่มีการเชิญ แต่หากประสงค์จะเข้าม่าก็พร้อมอำนวยความสะดวกให้ในด้านต่างๆ เวลานี้ก็มีการแจ้งความจำนงมาบางแล้วเช่น เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรืออันเฟรล ประเทศภูฏาน เป็นต้น ยืนยัน กกต.ไม่มีปิดกั้นประเทศใด หรือองค์กรใด
ทั้งนี้ นายสมชัยยังให้ข้อสังเกตว่า การออกเสียงประชามติแตกต่างจากการเลือกตั้งที่จะมีการแข่งขัน มีกระบวนการต่อสู้เพื่อผลแพ้ชนะ มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นบรรยากาศจะแตกต่างกัน ขณะเดียวกัน ประชามติครั้งนี้ให้ประชาชนออกเสียงทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ทำให้ประชาชนยังอาจไม่เข้าใจในข้อมูลเพียงพอที่จะเป็นฐานในการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น การออกเสียงจึงอาจจะเป็นลักษณะตามๆ กันไป และการจัดออกเสียงครั้งนี้ยังอยู่ภายใต้บรรยากาศที่มีความคุกรุ่น ความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมานาน คนสองฝ่ายเห็นต่างแสดงออกรุนแรง แม้วันนี้ทุกอย่างดูสงบแต่ในจิตใจของคนสองฝ่ายยังมีความต่างอยู่ ทำให้ กกต.จึงวางตัวยากมาก การตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้จะกระทบต่อคนกลุ่มหนึ่ง บรรยากาศการจับผิดมีสูงมาก เช่น เพลงที่ กกต.นำมาเผยแพร่รณรงค์ กกต.ไม่ได้มีเจตนาสร้างความแตกแยก แต่ยังถูกนำมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวทำให้เสียหายแก่ กกต. ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว กกต.ทำงานด้วยความยากลำบาก
นอกจากนี้ มีวาทกรรมที่พูดในสังคมปัจจุบันว่าไม่มีเสรีภาพในการสื่อสารและการถกเถียง ยืนยันว่าไม่จริง ถ้าดูกฎหมายประชามติ มาตรา 61 ตั้งแต่ (1)-(7) เป็นกฎหมายเดิม ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือในวรรคสอง ห้ามเป็นเท็จ หยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง ปลุกระดม ที่เป็นปัญหาและศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณา ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว สนช.บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้คนใช้เสรีภาพในทางที่ผิด ยืนยันว่าไม่ได้ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน แต่การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่ใช่การนำข้อความเท็จมาปลุกระดมกัน การออกเสียงครั้งนี้ กกต.ควบคุมดูแลภายใต้กฎหมายประชามติ แต่สังคมไทยยังมีกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับที่ กกต.จะเอื้อมมือไปไม่ถึง เช่น ใส่เสื้อ โพสต์ข้อความ กกต.ก็บอกว่าไม่ผิด แต่ฝ่ายความมั่นคงอาจบอกผิด เพราะเขามีข้อมูลเชิงลึกกว่า กกต. ว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเจตนามุ่งก่อความวุ่นวาย ดังนั้น ยืนยันว่าภายใต้กฎหมายประชามติ กกต.พยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น