xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯสวนกกต.ต้องรับผิดชอบ ปล่อยให้ใส่เสื้อรณรงค์ประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวถึงการทำหนังสือชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีจะมีการประชุมวินิจฉัยว่า มาตรา 61 พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ในวันนี้(1 มิ.ย.) ว่า สำนักกฎหมายของ กกต. ทำคำชี้แจงดังกล่าวเสร็จแล้ว เหลือแค่การปรับแก้ถ้อยคำให้เกิดความชัดเจน คาดว่ากกต.จะสามารถส่งคำชี้แจงไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาต่อไปได้
ส่วนเนื้อหาหลักๆ ของคำชี้แจง กกต.ได้อธิบายว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรธน. โดยเฉพาะ มาตรา 61 วรรคสอง ตามคำร้องนั้น ไม่ขัดต่อรธน. อย่างไร รวมทั้งยังได้อธิบายว่าใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมี มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นมาตราที่ให้หลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรธน.
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคำชี้แจงที่กกต. จะส่งไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น จะชี้แจงถึงรายละเอียดของตัวกฎหมายในมาตราดังกล่าว ที่ไม่ใช่กระทำความผิดตามวรรคสอง ที่ระบุว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ตามสื่อต่างๆที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ แล้วจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ซึ่งการร้องเช่นนี้ เหมือนกับเป็นการร้องเอาบทบัญญัติกฎหมายมาแค่ครึ่งเดียว เพราะแค่ก้าวร้าว หรือหยาบคาย คงไม่ได้รับโทษถึง 10 ปี อยู่แล้ว หากแต่ มาตรา 61 นี้ยังมีองค์ประกอบฐานความผิดอื่น ตั้งแต่ ( 1)-(6) ดังนั้น การจะพิจารณาความผิดที่อาจได้รับโทษสูงสุด ต้องนำข้อห้ามทั้งมาตรามาพิจารณา จึงยืนยันว่า มาตรา 61 นี้ ไม่ได้ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพ

รายงานข่าวจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้งว่า เวลา 09.00 น. วันนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการประชุมหารือพิจารณาคำร้องของนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน กรณีขอให้ผู้ตรวจการฯ ส่งเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรธน. มาตรา 61 วรรคสอง ขัดรธน.(ฉบับชั่วคราว) 2557 หรือไม่ ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะพิจารณา และมีมติเลยว่าจะส่งให้ศาลรธน.วินิจฉัยหรือไม่ เนื่องจากการประชุมในครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ผู้ตรวจการฯ ได้พิจารณาคำชี้แจงของกลุ่มผู้ร้อง และคำชี้แจงจากรัฐสภาแล้ว เพียงรอฟังคำชี้แจงจาก กกต.เท่านั้น ซึ่งจากที่ประชุมครั้งที่ผ่านมา มีผู้ตรวจการฯ บางคน เห็นว่า ม.61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามตินี้ ขัดกับรธนง เนื่องจากมองว่าการจะได้รับโทษทางอาญา กฎหมายต้องเขียนให้ชัดเจนถึงพฤติกรรมที่ต้องโทษ ไม่ใช่เขียนแบบกว้างๆอย่างนี้ เช่น คำว่า หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ พฤติกรรมควรเป็นเช่นไร ถึงเข้าข่ายความผิด จึงเห็นควรส่งให้ศาลรธน.ตีความ แต่ที่ประชุมเห็นว่า สำนักงานผู้ตรวจการฯ ยังไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจาก กกต. ที่ประชุมจึงลงความเห็นว่า ควรรอหนังสือชี้แจงจากกกต.เสียก่อน และนัดประชุมเพื่อลงมติอีกครั้งในวันนี้
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพผ่านเฟซบุ๊ก กรณีนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวมเสื้อ "รับและไม่รับเป็นสิทธิ์ไม่ผิดกฎหมาย" โดยระบุว่า ใส่เสื้อไม่ผิดครับ (ความเห็นส่วนตัว) เนื่องจากใส่เสื้ออะไรเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แม้จะ เอาคำว่า "รับ" ออกก็ตาม แต่อาจผิด หาก 1. ใส่จัดรายการทุกวัน ในลักษณะเชิญชวนปลุกระดม (ยกเว้นพิสูจน์ว่า ยากจน มีเสื้อใส่แค่ตัวเดียว ) 2. ช่วงจัดรายการมีการพูด เท็จ ปลุกระดมหยาบคาย (สองท่านคงไม่หลุด) 3. มีการแจกเสื้อแก่ผู้ฟัง เรียกเรตติ้งรายการ (ผิด ม. 61 (2) แจกของเพื่อจูงใจลงคะแนน) และ 4. มีการขายเสื้อ และคนใส่มากๆ แล้วไปเดินขบวนก่อความวุ่นวาย
"แต่ผิด หรือไม่ผิด เป็นเรื่องของศาลตัดสิน ผมเพียงแค่แนะนำท่าน อ.ทั้งสองท่าน ด้วยความเคารพครับ" นายสมชัย ระบุ
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายพิชญ์ และนายสุรนันทน์ สวมเสื้อรณรงค์ประชามติ โดยกกต. บอกไม่ผิด ว่า เมื่อ กกต.บอกว่าไม่ผิด กกต.ต้องรับผิดชอบด้วย หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น หากมีการทะเลาะเบาะแว้ง
ส่วนที่ กลุ่ม นปช. เปิดศูนย์ต้านโกงประชามติ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ก็เปิดไปซิ ก็ไปจับมา จับตัวเองด้วยก็แล้วกัน ที่ผ่านมาไม่เห็นจับ ไปจับมา ผมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว ผมไม่อยากให้โกงอยู่แล้ว จะโกงอะไร โกงคะแนนเสียงหรือ"
กำลังโหลดความคิดเห็น