“สมชัย” เผย กกต. เห็นตรงกัน 2 มาตรา ปัญหา พ.ร.บ. ประชามติ ไม่ขัด รธน. แนะสอบถาม สนช. ดูด้วย ลั่นไม่คาดการณ์ใด ๆ แย้มกลางเดือนหน้าเชิญผู้บริหารสื่อคุยขอความร่วมมือ รับหน่วยงานต่าง ๆ เสนอร่วมจัดเวทีฟังความเห็น กำลังพิจารณา ย้ำการทำงานไม่ได้มุ่งไปที่ฝ่ายใด ดูแลทุกฝ่าย เตือนหน่วยงานรัฐแจกเอกสารต้องระวัง
วันนี้ (27 พ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังการประชุม กกต. ว่า ที่ประชุมได้รับทราบกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหนังสือสอบถามความเห็นของ กกต. ต่อมาตรา 61 วรรคสอง และ วรรคสี่ พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติ ว่า เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดย กกต. ทั้งหมดเห็นไปในทางเดียวกันว่า สองมาตราดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมอบให้สำนักกฎหมายและคดีของสำนักงานไปดำเนินการยกร่างหนังสือตอบกลับไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยประธาน กกต. จะเป็นผู้ลงนาม ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งกลับไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทันตามกำหนดเวลาที่ผู้ตรวจฯจะมีการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวในวันที่ 1 มิ.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องของ กกต. ฝ่ายเดียว ควรจะมีการสอบถามความเห็นไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ออกกฎหมายด้วย เพราะ กกต. เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น
เมื่อถามว่า เกรงว่า จะมีการล้มประชามติเหมือนกับในอดีตที่ผู้ตรวจการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ไม่คาดการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร หากจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ก็ไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลาเท่าใดจึงจะแล้วเสร็จ
นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลต้องการให้ กกต. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติในต่างจังหวัด ว่า ขณะนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ เสนอโครงการความร่วมมือมา กกต. กำลังพิจารณาอยู่ ถ้าหากเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนรู้เกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนการออกเสียงประชามติมากขึ้น ก็พร้อมจะดำเนินการ แต่ในส่วนการจัดเวทีตามต่างจังหวัด กกต. ยังไม่ได้รับการทาบทาม อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. กกต. อาจจะมีการเชิญผู้บริหารสื่อมาพูดคุย เพื่อตอบข้อข้องใจต่าง ๆ ของสื่อ และขอความร่วมมือสื่อในการช่วยผลักดันให้การออกเสียงประชามติเป็นที่เรียบร้อย และได้รับการยอมรับ
“กกต. ยังคิดว่าประกาศ หรือระเบียบ กกต. ที่ใช้บังคับสามารถดูแลความเรียบร้อยการออกเสียงประชามติได้ สถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ กกต. นิ่งเฉย ไม่สนใจ แต่ได้มีการรวบรวมข้อมูลต่างเพราะการจะดำเนินการอะไรก็ต้องมีข้อมูลพอสมควร อย่างก่อนหน้านี้ที่มีกระแสข่าวว่า ที่ จ.นครสวรรค์ มีทหารแจกเอกสารเชิญชวนประชาชนไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้ให้ กกต. จังหวัด ไปตรวจสอบ และพบว่า มีการแจกจริง เหตุเกิดในวันที่ 18 เม.ย. ที่มีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งก่อนที่ พ.ร.บ. ประชามติ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 มิ.ย. ทำให้การกระทำดังกล่าวไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายประชามติ แต่ก็ได้มีการตักเตือนไปว่า เป็นหน่วยงานของรัฐการแจกจ่ายเอกสารใด ควรต้องระมัดระวัง วางตัวเป็นกลาง ซึ่งยืนยันว่า การทำงานของ กกต. ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ดูแลทุกฝ่ายให้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเข้มงวด