เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผย ที่ประชุมพิจารณาคำร้องตีความ ม.61 วรรค 2 ประชามติ ขัด รธน. หรือไม่ รับอยู่ในอำนาจ แต่รอข้อมูลจาก กกต. ก่อน นัดวินิจฉัยชงศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ 1 มิ.ย. ไม่เลื่อนแน่ ชี้ หากศาลฟันธงขัดกฏหมายก็แค่ทำให้มาตรานั้นใช้ไม่ได้ ไม่ทำประชามติล้ม พร้อมไม่อุทธรณ์ศาลปกครองหลังรับคำร้องคดี ปตท.แค่ 3 หน่วยงาน ไม่รวมรายบุคคล
วันนี้ (24 พ.ค.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาคำร้องของนายจอน อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 61 วรรคสอง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าหลังรับคำร้องได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. โดยคณะทำงานได้มีการขอข้อมูลเพิ่มเติมไปยังผู้ร้อง สำนักเลขาธิการวุฒิสภา และ กกต. ซึ่งได้รับคำชี้แจงมาแล้ว
นายรักษเกชา กล่าวว่า โดยที่ประชุมผู้ตรวจฯ ก็เห็นว่า คำร้องดังกล่าวอยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจฯ จะรับพิจารณาดำเนินการได้ เพราะเป็นการขอให้พิจารณาว่าพระบัญญัติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ข้อมูลที่ได้รับยังขาดของ กกต. ที่ประชุมจึงเห็นว่า จำเป็นต้องที่จะรอข้อมูลจาก กกต. ในฐานะที่เป็นผู้ยกร่างกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับ จึงจะมีการพิจารณาคำร้องดังกล่าวอีกครั้ง และมีคำวินิจฉัยในการประชุมวันที่ 1 มิ.ย. ซึ่งก็จะชัดเจนว่าจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ แต่หากถึงวันดังกล่าว กกต. ยังไม่ส่งคำชี้แจงมา ผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะวินิจฉัยบนฐานข้อมูล โดยจะไม่มีการเลื่อนการพิจารณาออกไป
“ที่ประชุมผู้ตรวจฯในวันนี้ได้มีการนำกฎหมายประชามติทั้งปี 50 ปี 52 และปี 59 มาเปรียบเทียบกัน ซึ่งกฎหมายเดิมจะไม่มีเนื้อหาเช่นมาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ของ พ.ร.บ. ประชามติ ปี 59 รวมทั้งดูคำว่า ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ ตามพจนานุกรมนั้นมีความหมายว่าอย่างไร เนื่องจากกฎหมายเดิมก็ไม่เคยมีถ้อยคำเหล่านี้ โดยข้อมูลที่มีอยู่สามารถทำให้ผู้ตรวจมีความเห็นที่ตกผลึกไปในแนวทางเดียวกันแล้วว่าจะมีคำวินิจฉัยไปในทางใด แต่เมื่อได้ขอข้อมูลไปยัง กกต. แล้ว ก็เห็นว่าจำเป็นต้องรอเพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ หากผู้ตรวจมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลฯ วินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีผลให้กฎหมายประชามติทั้งฉบับเสียไป แต่จะทำให้มาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ นำมาใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งจะไม่มีผลทำให้กระบวนการออกเสียงประชามติที่ทำมาทั้งหมดเสียไป” นายรักษเกชา กล่าว
ทั้งนี้ นายรักษเกชา ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบกรณีที่ศาลปกครองรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้วินิจฉัยกรณีการแบ่งทรัพย์สินของปตท. ใหม่ โดยที่ประชุมเห็นว่าแม้ศาลจะไม่รับฟ้องตัวบุคคลที่ผู้ตรวจยื่นฟ้อง แต่รับเฉพาะ 3 หน่วยงานคือกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และ บริษัท ปตท. ก็ถือว่า ครอบคลุมแล้ว คงจะไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่ที่ผู้ตรวจฟ้องตัวบุคคลให้ร่วมผิดชอบด้วย ก็เพราะเห็นว่า เป็นตัวละครที่มีส่วนนเกี่ยวข้อง