เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ม.61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 59 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พร้อมชงความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสัปดาห์นี้ ชี้คำ “ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” ในทางปฏิบัติมีความไม่ชัดเจน ทำชาวบ้านสับสน ขัดต่อเจตนารมณ์ และอาจถูกตีความในการดำเนินคดีได้ หวั่นเกิดความวุ่นวายมากกว่า บอกสมัยปี 50 ไม่มีบทบัญญัตินี้ก็สงบเรียบร้อยดี ส่วนวรรค 3 และ 4 เป็นดุลพินิจศาลไม่ขอก้าวล่วง
วันนี้ (1 มิ.ย.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่ามาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ขอให้วินิจฉัย โดยจะมีการเสนอเรื่อง พร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยภายในสัปดาห์นี้
ในความเห็นของผู้ตรวจนั้น มองว่าการที่มาตรา 61 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้น กระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น แม้จะมีพจนานุกรมระบุความหมายของคำว่า ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย แต่ในทางปฏิบัติก็จะมีความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ประชาชนอาจจะสับสน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขัดต่อเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ และอาจจะมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความหมายของถ้อยคำดังกล่าวจนอาจนำไปสู่การดำเนินการกับประชาชน
“ถึงแม้สุดท้ายแล้วศาลจะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย แต่ระหว่างที่ถูกดำเนินการ ก็ต้องถือว่าประชาชนได้รับผลกระทบไปแล้ว ซึ่งโทษตามกฎหมายดังกล่าวเป็นโทษทางอาญา การดำเนินการทางคดีอาญาผู้ตรวจก็เห็นว่าจะต้องมีความชัดเจน หากไม่ชัดเจนก็จะขัดต่อหลักการพิจารณาคดีทางอาญา และที่สุดการออกเสียงประชามติครั้งนี้อาจจะเกิดความวุ่นวายมากกว่าความสงบเรียบร้อย” เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าว
เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบทบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการปลุกระดม หรือใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นเกินขอบเขตหรือไม่ นายรักษเกชากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะดูแล ซึ่งในการออกเสียงประชามติปี 50 กฎหมายประชามติขณะนั้นก็ไม่มีบทบัญญัติในลักษณะนี้แต่ก็สามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้
เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินยังกล่าวอีกว่า ส่วนวรรคสามและวรรคสี่ของ พ.ร.บ.ประชามติที่ทางไอลอว์ได้เสนอให้วินิจฉัยด้วยนั้น ผู้ตรวจเห็นว่าเป็นดุลพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นบทลงโทษที่อยู่ในดุลยพินิจของศาลยุติธรรม ผู้ตรวจจึงไม่ก้าวล่วง อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการวินิจฉัยครั้งนี้ของผู้ตรวจฯ ได้มีการรวบรวมข้อมูล ข้อกฎหมายต่างๆ รวมถึงขั้นตอนในการพิจารณาออกกฎหมายแล้วอย่างครบถ้วน