xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นตีความกม.ประชามติ กกต.ยันออกเสียง7ส.ค.ไม่สะดุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1มิ.ย.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่ามาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามที่ นายจอน อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน(ไอลอว์) ขอให้วินิจฉัย โดยจะมีการเสนอเรื่อง พร้อมความเห็นไปยังศาลรธน. ให้วินิจฉัยภายในสัปดาห์นี้
ในความเห็นของผู้ตรวจนั้น มองว่าการที่ มาตรา 61 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเลกทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะ รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นั้น แม้จะมีพจนานุกรม ระบุความหมายของคำว่า ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย แต่ในทางปฏิบัติ ก็จะมีความ ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ประชาชนอาจจะสับสน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขัดต่อเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ และอาจจมีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ตีความหมายของถ้อยคำดังกล่าว จนอาจนำไปสู่การดำเนินการ กับประชาชน
"ถึงแม้สุดท้ายแล้ว ศาลจะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย แต่ระหว่างที่ถูกดำเนินการก็ต้องถือว่าประชาชนได้รับผลกระทบไปแล้ว ซึ่งโทษตามกฎหมายดังกล่าว เป็นโทษทางอาญา การดำเนินการทางคดีอาญา ผู้ตรวจก็เห็นว่าจะต้องมีความชัดเจน หากไม่ชัดเจนก็จะขัดต่อหลักการพิจารณาคดีทางอาญา และที่สุดการออกเสียงประชามติครั้งนี้ อาจจะเกิดความวุ่นวายมากกว่าความสงบเรียบร้อย"
เมื่อถามว่า หากศาลรธน. เห็นว่าบทบัญญัติขัดรธน.แล้ว จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการปลุกระดม หรือใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นเกินขอบเขตหรือไม่ นายรักษเกชา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะดูแล ซึ่งในการออกเสียงประชามติปี 50 กฎหมายประชามติขณะนั้น ก็ไม่มีบทบัญญัติในลักษณะนี้ แต่ก็สามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้
ส่วนวรรคสาม และวรรคสี่ ของพ.ร.บ ประชามติ ที่ทางไอลอว์ได้เสนอให้วินิจฉัยด้วยนั้น ผู้ตรวจเห็นว่า เป็นดุลยพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นบทลงโทษที่อยู่ในดุลยพินิจของศาลยุติธรรม ผู้ตรวจจึงไม่ก้าวล่วง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการวินิจฉัยครั้งนี้ ของผู้ตรวจฯได้มีการรวบรวมข้อมูล ข้อกฎหมายต่างๆ รวมถึงขั้นตอนในการพิจารณาออกกฎหมายแล้วอย่างครบถ้วน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกเลือกตั้ง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าขั้นตอนต่อไป อยู่ที่ศาลฯจะรับคำร้องของไว้พิจารณาหรือไม่ และจะพิจารณาว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติ จะขัดกับรธน.หรือไม่ ซึ่งคงต้องใช้เวลา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังถือว่า พ.ร.บ.ประชามติ ยังมีผลบังคับใช้ ซึ่งประธานกกต.ในฐานะผู้รักษาการกฎหมายดังกล่าว ก็ต้องยึดถือตามกฎหมายต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ หากท้ายที่สุดศาลรธน. มีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติขัดรัฐธรรมนูญ การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเลกทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ในลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ก็จะไม่ถูกตีความว่าเป็นการกระทำที่ก่อความวุ่นวาย จนเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ แต่ทั้งนี้ ก็ยังอาจเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นได้ เช่น หากเผยแพร่ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ข่มขู่ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือถ้าเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ โดยโทษก็อาจจะแตกต่างไปจากพ.ร.บ.ประชามติ
"การกระทำทุกเรื่องมีกฎหมายอื่นรองรับ เพียงแค่ไม่ถือว่าเป็นการก่อความวุ่นวายเท่านั้น และหากศาลจะวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าไม่ได้ส่งผลต่อตัวพ.ร.บ.ประชามติทั้งหมด การออกเสียงประชามติ ก็จะยังเดินหน้าต่อไปได้ และวันที่ 7 ส.ค. ก็ยังจะเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรธน. เช่นเดิม"
นอกจากนี้ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อ ระเบียบ หรือประกาศของ กกต.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ อาจมีบ้างบางส่วนที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น ประกาศกกต. ที่เกี่ยวกับอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ในการออกเสียงประชามติ แต่โครงสร้างของกฎหมายประชามติฉบับเต็มยังคงอยู่ ยังสามารถบังคับใช้ได้อยู่
ส่วนกรณีการทำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการออกเสียงประชามติ ของสถาบันการศึกษา เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ หากดำเนินตามกฎหมาย ก็ไม่ถือว่าเป็นการชี้นำ เพราะอยู่บนหลักวิชาการ ซึ่งสถาบันการศึกษาที่จะจัดทำผลสำรวจนั้น ต้องรับผิดชอบต่อชื่อเสียงเอง อย่างไรก็ตาม สื่อยังสามารถนำเสนอผลสำรวจดังกล่าวได้เช่นกัน หากแต่ห้ามเผยแพร่ในช่วง 7 วัน ก่อนวันออกเสียงประชามติเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น